มติ ครม.วันที่ 21 มีนาคม 2560

21 มี.ค. 2560 | 10:38 น.
ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 21 มีนาคม 2560) เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การกำหนดอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประกอบเกษตรกรรม ให้เสียภาษีในอัตราเกษตรกรรมเท่าที่ใช้จริงในการประกอบเกษตรกรรม, การกำหนดอัตราภาษีที่อยู่อาศัยให้กำหนดอัตราภาษีแตกต่างไปตามมูลค่าของตัวบ้าน, เพิ่มการจัดเก็บภาษีที่ดินรกร้าง โดยมีอัตราเพดานภาษีไม่เกิน 2% ของฐานภาษี แต่จะปรับเพิ่มขึ้น 0.5% ทุกๆ 3 ปี แต่อัตราภาษีสูงสุดไม่เกิน 5%

ขณะเดียวกันยังมีการออก พ.ร.ฎ.ลดภาระภาษีได้ถึง 90% เช่น กรณีที่ได้รับมรดกเป็นบ้านพร้อมที่ดินในย่านทองหล่อ ต่อมาราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นแต่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวย เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับเจ้าของ

นายณัฐพร กล่าวว่า กรณีคืนภาษีให้จ่ายดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือนคืนแก่ผู้ที่ได้รับภาษีคืนในกรณีเจ้าหน้าที่ประเมินภาษีผิดพลาด ส่วนกรณีที่มีภาษีค้างชำระ ห้ามเจ้าของโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์ครอบครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ยกเว้นเป็นการขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ภาษี

ทั้งนี้ให้กรมที่ดินจัดส่งข้อมูลให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งหลังจากนี้จะเสนอให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน หลังจากนั้นจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา และให้เวลาเตรียมการ 1 ปี โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคมปีภาษีถัดไป

เห็นความความร่วมมือท่องเที่ยวไทย-ฟิลิปปินส์

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 21 มีนาคม 2560  มีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เสนอ ดังนี้  1. เห็นชอบต่อร่างการดำเนินงานโครงการความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ปี 2017 – 2022 ระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ และ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการได้โดยมิต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างการดำเนินโครงการความร่วมมือฯ (โดยระบุตำแหน่ง)

วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศมีสาระสำคัญครอบคลุม 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว 2) การแลกเปลี่ยนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ 3) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการฝึกอบรม 4) การส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาดร่วมกัน และ 5) คณะทำงานร่วม

โดยจะมีการลงนามในร่างการดำเนินงานโครงการความร่วมมือฯ ในโอกาสการเดินทางเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการของ นายโรดรีโก โรอา ดูแตร์เต ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฟิลิปปินส์

เห็นชอบเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโครงการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก โมโต จีพี

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 21 มีนาคม 2560  มีมติเห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโครงการจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี ประจำปี พ.ศ. 2561–2563 เป็นเวลา 3 ปี ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง กก. รายงานว่า 1. ปัจจุบันการแข่งขันรถจักรยานยนต์ชิงแชมป์โลก รายการ โมโต จีพี (World Series) ได้รับความนิยมอย่างมาก มีการแข่งขันเพื่อชิงแชมป์โลก 18 สนามต่อปี โดยในปี พ.ศ. 2560 ดอร์น่า สปอร์ต กรุ๊ป เจ้าของลิขสิทธิ์การจัดการแข่งขันฯ ได้ประกาศรายชื่อสนามที่จะดำเนินการจัดการแข่งขันฯ และในปี พ.ศ. 2561 มีแผนเพิ่มเติมจำนวนสนามที่จะจัดการแข่งขันไม่เกิน 21 สนามต่อปี ซึ่งในขณะนี้ประเทศฟินแลนด์ได้ลงนามในสัญญาเพื่อจัดการแข่งขันเป็นที่เรียบร้อยแล้วจึงเหลือเพียง 2 สนาม ที่กำลังดำเนินการสรรหาประเทศเจ้าภาพที่มีความเหมาะสมและความพร้อมในองค์ประกอบอื่น ๆ และได้มีประเทศต่าง ๆ ที่เสนอตัวเพื่อขอรับการเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันฯ จำนวน 4 ประเทศ ประกอบด้วย คาซัคสถาน อินโดนีเซีย ฮังการี และประเทศไทย (อย่างไม่เป็นทางการ) ซึ่งการเสนอตัวจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2560

2. การจัดการแข่งขันฯ จะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยสู่สายตาประชาคมโลกจากการถ่ายทอดสดมากกว่า 200 ประเทศ ผ่านสายตาผู้ชมกว่า 600 ล้านคน จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงศักยภาพความพร้อมของประเทศไทยในหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านกีฬา ด้านการท่องเที่ยว ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อประเทศไทยให้กับนักท่องเที่ยว และนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศอีกทางหนึ่ง เกิดการกระจายรายได้ลงสู่พื้นที่โดยเฉพาะในจังหวัดบุรีรัมย์ และจังหวัดใกล้เคียง เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จากการที่ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ อันดับที่ 1 ของอาเซียน

เห็นชอบโครงการสินเชื่อช่วยเหลือ SME วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันที่ 21 มีนาคม 2560   เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ผ่านโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ผ่านธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี  อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปีในช่วง 3 ปีแรก ส่วนปีที่ 4-7  อัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามที่ ธพว. กำหนด

อนึ่ง รัฐบาลจะชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่ ธพว. 2% ต่อปีใน 3 ปีแรก (ปัจจุบัน MLR ของธพว.อยู่ที่ 6.875%) หรือ ภายในวงเงิน 2,250 ล้านบาท

วัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการ และกระตุ้นการเจริยเติบโตของเศรษฐกิจไทย

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นนิติบุคคลทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและมีปัญหาด้านสภาพคล่อง, ผู้ประกอบการใหม่ (New Start-up) ที่มีนวัตกรรม และ ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีศักยภาพหรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และ SMEs 4.0 เช่น SMEs กลุ่มธุรกิจ S-Curve และ SMEs ที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ เป็นต้น

ขณะที่จะต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่โอนหนี้มาจากสถาบันการเงินอื่น และ เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) ณ วันยื่นขอสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท