ใช้สิทธิ FTA ยังต่ำ จี้รัฐสอบเบื้องลึก

06 มี.ค. 2560 | 08:43 น.
เอกชนยังไม่พอใจยอดใช้สิทธิส่งออกไทยภายใต้สิทธิเอฟทีเอทุกกรอบของไทยปี 59 ภาพรวมยังแค่ 54% ของมูลค่าสินค้าที่ได้รับสิทธิ ชี้เหตุจากหลายปัจจัย เล็งเป้าผลสำเร็จต้อง 80-90% จี้ คต.ศึกษาเบื้องลึกไทย-ต่างชาติใครได้ประโยชน์

จากที่กรมการค้าต่างประเทศได้เผยถึงยอดการไทยส่งออกภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) ทุกกรอบความตกลงในปี 2559 มีมูลค่ารวม 5.24 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน (ที่มีการใช้สิทธิคิดมีมูลค่า 5.05 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยอัตราการใช้สิทธิคิดเป็นสัดส่วน 56.4% จากยอดการส่งออกสินค้าที่ได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีที่มีการส่งออกรวม 9.29 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯนั้น

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาหอการค้าไทย ให้ความเห็นกับ "ฐานเศรษฐกิจ"โดยระบุว่าการใช้สิทธิส่งออกภายใต้เอฟทีเอสัดส่วน 56.4% ของยอดส่งออกสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ในปีที่ผ่านมาถือว่ายังไม่เป็นที่น่าพอใจนัก ซึ่งสัดส่วนการใช้สิทธิที่น่าพอใจควรจะอยู่ที่ระดับ 80-90% ในทุกกรอบเอฟทีเอรวมกัน ขณะที่อัตราการขยายตัวของยอดการสิทธิที่เพิ่มขึ้น 3.8% เมื่อเทียบกับปีก่อนถือว่าเพิ่มขึ้นน้อยมาก

"การใช้สิทธิส่งออกภายใต้เอฟทีเอที่ยังเพิ่มขึ้นไม่มาก อาจเป็นเพราะภาษีนำเข้าประเทศปลายทางต่ำอยู่แล้วอาจไม่จูงใจให้ใช้สิทธิ บางรายอาจไม่ใส่ใจหรือไม่รู้เรื่อง และบางรายอาจเห็นว่าขั้นตอนการขอใช้สิทธิมีความยุ่งยากจึงไม่ยื่นเรื่องเพื่อใช้สิทธิ เรื่องนี้อยากให้ทางกระทรวงพาณิชย์ศึกษาเชิงลึกว่าสาเหตุยังใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออกไม่มากเป็นเพราะเหตุใด และที่ใช้สิทธิในปัจจุบันเป็นสินค้าใดที่ใช้สิทธิมากสุด เป็นบริษัทไทย หรือบริษัทต่างชาติที่ใช้สิทธิมากกว่ากัน เพราะในข้อเท็จจริงแล้วการใช้สิทธิเอฟทีเอส่งออกช่วยลดต้นทุนได้มาก"

อนึ่ง การส่งออกของไทยภายใต้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีของเอฟทีเอที่มีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกในปี 2559 ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน(อาฟต้า) เอฟทีเออาเซียน-จีน และเอฟทีเอไทย-ออสเตรเลีย ตามลำดับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,241 วันที่ 5 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2560