‘แบงก์-เอสเอ็มอี’แห่อบรมโค้ช เพิ่มทักษะบริหารรับมือวิกฤติเศรษฐกิจ-เทคโนโลยีเปลี่ยน

03 ธ.ค. 2559 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

จิมมี่ เดอะโค้ช เดินแผนธุรกิจปี 2560 เพิ่มพัฒนาและเพิ่มหลักสูตรรับลูกค้าใหม่ 200 ราย ไม่หวั่นภาวะเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว เหตุองค์กรใช้เป็นช่วงเวลาพัฒนาบุคลากร หลังเจอความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและเทคโนโลยี กลุ่มแบงก์แห่ใช้บริการปีละกว่า 72 ครั้ง ขณะที่กลุ่มเอสเอ็มอีถึงยุคเปลี่ยนมือ หันมาพัฒนาทักษะส่งต่อทีมงาน

นางพจนารถ ซีบังเกิด ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัท จิมมี่ เดอะ โค้ช เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงทิศทางธุรกิจในปี 2560 ว่า สถาบัน ไทยแลนด์ โค้ชชิ่ง อคาเดมี่ มีแผนพัฒนาและเพิ่มหลักสูตร การพัฒนาหลักสูตรการฝึกฝนทักษะไลฟ์โค้ช ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน Accredited Coach Training Program (ACTP) จาก International Coach Federation (ICF) เพื่อยกระดับมาตรฐานระดับสากล และสร้างอาชีพโค้ชให้แพร่หลายในประเทศไทยมากขึ้น นอกจากนี้ยังพัฒนาหลักสูตรเสริม เพื่อต่อยอดการเป็นโค้ชมืออาชีพ ที่มีคุณภาพมากขึ้น อาทิ หลักสูตรที่สอนทักษะเพิ่มเติมในการเป็นโค้ช หลักสูตรที่สอนทักษะการโค้ชแบบกลุ่ม เป็นต้น

สำหรับเป้ามายในปีหน้าสถาบันได้วางแผนการขยายทักษะการโค้ชไปยังลูกค้าใหม่จำนวน 200 ราย โดยมุ่งผลิตโค้ชมืออาชีพที่เชี่ยวชาญการใช้ทักษะไลฟ์โค้ชสู่ตลาด เพื่อสามารถรองรับการเติบโตของธุรกิจการโค้ชในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้น จากปีแรกที่เริ่มเปิดสอนทักษะไลฟ์โค้ชจำนวนเพียง 75 คน ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยสถาบันได้ฝึกทักษะการโค้ชให้กลุ่มลูกค้ารายย่อยและกลุ่มลูกค้าองค์กรไปแล้วกว่า 600 คน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากคนไทยและกลุ่มลูกค้ามีการรับรู้และเข้าใจประโยชน์ของทักษะการโค้ชมากขึ้น

นางพจนารถ กล่าวอีกว่า แม้ว่าแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในปีหน้ายังไม่มีทิศทางการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่ถือว่าไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจโค้ชชิ่งของบริษัทแต่อย่างใด เนื่องจากในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจชะลอตัว หลายองค์กรจะหันมาเน้นการปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารงานภายในมากขึ้น โดยเฉพาะการพัฒนาบุคลากร ขณะเดียวกันจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและสังคม ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจด้วยเช่นกัน ทำให้องค์กรต้องหันมาปรับตัวและปรับระบบการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย จึงมีการพัฒนาบุคลากรของตนเองสำหรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

"ที่เห็นได้ชัดเจนคือ วงการธนาคาร ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงไปสู่เทคโนโลยี ซึ่งทำให้ต้องปรับตัว เพราะเกิดช่องว่างในด้านการสื่อสาร จึงเริ่มให้มีการเข้าไปเทรนด์ทักษะการเป็นโค้ชเพิ่มมากขึ้นเกือบทุกธนาคาร จากปีก่อนหน้าที่มีลูกค้ากลุ่มธนาคารเพียง 2 แห่งเท่านั้น โดยเฉพาะการฝึกทักษะให้ผู้บริหารเป็นโค้ช เพื่อนำไปใช้ในการบริหารงาน ซึ่งปีนี้ได้เข้าไปฝึกทักษะการเป็นโค้ชให้กับพนักงานธนาคารและผู้บริหารมากกว่า 72 ครั้งต่อปี"

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี ในหลากหลายธุรกิจที่สนใจการฝึกอบรมทักษะการเป็นโค้ช อาทิ กลุ่มเครื่องสำอาง สินค้าสุขภาพและความงาม เป็นต้น เนื่องจากธุรกิจเอสเอ็มอี เริ่มเป็นการเปลี่ยนจากผู้บริหารรุ่นเก่าสู่ผู้บริหารรุ่นใหม่ รวมถึงเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย ขณะที่กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจยา และสินค้าอุปโภคบริโภค ก็เริ่มให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งเทรนด์ของการฝึกอบรมได้เปลี่ยนจากการฝึกอบรมเพื่อให้ความรู้กับพนักงาน เป็นการฝึกอบรมที่สร้างทักษะของโค้ช เนื่องจากต้องการนำความรู้ไปใช้สอนพนักงานภายในองค์กรเองด้วย

ปัจจุบันลูกค้าของกลุ่มบริษัทจิมมี่ เดอะ โค้ชฯ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มลูกค้ารายย่อย ตามวิสัยทัศน์และภารกิจหลักของ สถาบันฝึกทักษะการโค้ช ไทยแลนด์ โค้ชชิ่ง อคาเดมี่ (Thailand Coaching Academy หรือ TCA) ที่มุ่งขยายทักษะการโค้ชให้เข้าถึงคนไทยทุกคน และกลุ่มลูกค้าองค์กร ที่มีความต้องการใช้ทักษะการโค้ช แบบไลฟ์โค้ช ในการพัฒนาบุคลากร ผ่านการให้บริการของบริษัท Jimi The Coach ตามวิสัยทัศน์และภารกิจในการสร้างผู้นำขององค์กรที่มีเป้าหมายแห่งความสำเร็จ ดำรงตนเอย่างแข็งแรงและนำพาทีมไปสู่ความสำเร็จนั้น โดยบรรลุเป้าหมายส่วนตัวและเป้าหมาย องค์กร อย่างสอดคล้อง และมีจริยธรรม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,215 วันที่ 4 - 7 ธันวาคม 2559