กระทรวงแรงงานหนุนรัฐบาลเล็งช่วยผู้สูงอายุมีอาชีพมีงานทำ

28 ต.ค. 2559 | 10:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

วันนี้ (28 ตุลาคม 2559) เวลา 13.30 น. หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน วัน ศ.นิคม จันทรวิทุร ประจำปี ๒๕๕๙ และปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การบริหารแรงงานในสังคมผู้สูงอายุ : สถานการณ์และข้อเสนอเพื่อการเตรียมความพร้อมของสังคมไทย” ณ ห้องประชุมจอมพล ป.พิบูลสงคราม ชั้น 5 อาคารกระทรวงแรงงาน โดยมีผู้เข้าร่วมเป็นผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถานประกอบการ นายจ้าง ผู้นำแรงงานและบุคคลที่สนใจประมาณ 150 คน

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวในการปาฐกถาว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งมีจำนวนกว่า 10 ล้านคนจากประชากรกว่า 60 ล้านคน ซึ่งเป็นอับดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียนรองจากประเทศสิงคโปร์ ซึ่งบทบาทภารกิจของกระทรวงแรงงานคือ การส่งเสริมการประกอบอาชีพและการทำงานให้กับผู้สูงอายุซึ่งมีการจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านการทำงานในระยะที่ 1 (พ.ศ.2559-2564) มีด้วยกัน 5 กลยุทธ์ คือ 1) กระจายงานสู่บ้านหรือชุมชน คือการส่งเสริมให้ภาคเอกชนกระจายงานให้ผู้สูงอายุได้ทำงานที่บ้าน  2) ขยายอายุเกษียณราชการคือ ขยายอายุเกษียณสายงานภาครัฐที่ขาดแคลนที่ไม่ใช่ตำแหน่งบริหารและปรับปรุงระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการให้สอดคล้องกับการขยายเกษียณอายุ  3) ด้านการส่งเสริมการจ้างงานต่อเนื่องภาคเอกชน คือสร้างแรงจูงใจเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายให้ภาคเอกชนต่ออายุการทำงานหรือขยายเวลาการทำงาน 4) ส่งเสริมการจ้างงานให้กับผู้สูงอายุในอาชีพที่เหมาะสมกับวัย ประสบการณ์การทำงานและสมรรถนะทางร่างกาย และ 5) การสร้างฐานข้อมูลด้านตลาดแรงงานด้านผู้สูงอายุ คือสร้างตลาดแรงงานผู้สูงอายุทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้มีการสร้างและพัฒนาฐานข้อมูลด้านแรงงานผู้สูงอายุ

ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า กระทรวงแรงงานมีการดำเนินงานภายใต้แผนกลยุทธ์ฯ ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ในส่วนของการส่งเสริมการประกอบอาชีพและการทำงานให้กับผู้สูงอายุ โดยมีการนำร่องในเรื่องการจัดตั้งศูนย์บริการจัดหางานผู้สูงอายุและการขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ มีการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อต่อการทำงานของผู้สูงอายุ โดยมีพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในส่วนของการกำหนดอัตราค่าจ้างผู้สูงอายุและการแก้ไขให้การเกษียณอายุเป็นการเลิกจ้างและขยายอายุในการมีสิทธิรับบำนาญชราภาพ นอกจากการจ้างงานยังมีการส่งเสริมการมีงานทำกับผู้สูงอายุ โดยทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะสนับสนุนเพื่อสร้างความตระหนักในคุณค่าของแรงงานสูงอายุ ตลอดจนช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่แรงงานไทยด้วย