พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ 'อะไรทำได้ทำทันที ไม่ต้องไปรอ'

14 ต.ค. 2559 | 01:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อมามีการปรับคณะรัฐมนตรีได้ถูกปรับให้ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2558 บุคคลที่ถูกเอ่ยถึงนี้เป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก "พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ" หรือ "บิ๊กฉัตร" หรือ "บิ๊กนมชง"ที่สื่อมวลชนเรียกขาน

ต่อภาระในเบื้องหน้าที่หนักอึ้ง ทั้งการกำกับดูแลบริหารจัดการน้ำ ทั้งน้ำท่วม น้ำหลาก น้ำแล้งผ่านกรมชลประทานหน่วยงานในสังกัด,การลุยยึดคืนพื้นที่ ส.ป.ก.ทั่วประเทศ เพื่อนำมาพัฒนาและจัดสรรให้กับเกษตรกรที่ไม่ที่ดินทำกิน,การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ "ร่วมซื้อ ร่วมผลิต ร่วมขาย" นำสู่การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตเป้หมาย 1 พันแปลงทั่วประเทศ, การปรับเปลี่ยนการทำการเกษตรที่ไม่เหมาะสม โดยใช้แผนที่เกษตร(Agri-Map) เพื่อปรับเปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าว 5.7 แสนไร่ ให้ไปทำปศุสัตว์ และปลูกพืชชนิดอื่น ๆ

นอกจากนี้ยังต้องเร่งแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ IUU Fishing ที่ประเทศไทยถูกสหภาพยุโรป หรืออียูให้ใบเหลืองมาตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2558 หรือถึง ณ เวลานี้เวลาได้ผ่านพ้นมานานกว่า 1 ปี 5 เดือนแล้ว การกำกับดูแลการยางแห่งประเทศไทย(กยท.)เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และเรื่องใหม่ล่าสุดคือการส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญาที่เป็นธรรม หรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ที่ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธะสัญญาที่เป็นธรรม พ.ศ....เพิ่งผ่านความเห็นของชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 รวมถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับเกษตรกรคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ไม่สามารถหยิบยกขึ้นมากล่าวได้ทั้งหมดในที่นี้

"หลักการบริหารของผมยึดถือตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรีที่ได้มอบนโยบายว่า "อะไรทำได้ให้ทำทันทีไม่ต้องไปรอ ซึ่งสิ่งที่ตั้งใจได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของเกษตรกรเป็นที่ตั้ง จุดมุ่งหมายในทุกเรื่องมุ่งไปสู่เกษตรกรในทุก ๆ เรื่อง นี่เป็นหลักที่ผมคิดเสมอ" พล.อ.ฉัตรชัย กล่าว และขยายความอีกว่า

กระทรวงเกษตรฯมีรายละเอียดของเรื่องราวต่างๆ ตลอดจนแนวทางปฏิบัติค่อนข้างมาก ตั้งแต่เรื่องเกษตรกร ประมง ปศุสัตว์ อีกทั้งกลุ่มเกษตรกรของไทยก็มีจำนวนมาก มีเครือข่ายที่ใหญ่ รวมทั้งหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรฯก็มีกรม กองต่างๆ ข้าราชการและบุคลากรก็มีจำนวนมาก ดังนั้นการบริหารจัดการย่อมมีความยุ่งยากเป็นธรรมดา

"วิธีการที่ผมทำคือการพูดคุยในระดับผู้บริหารของหน่วยงานในสังกัดอย่างสม่ำเสมอ อธิบดีทุกกรม หัวหน้าหน่วยงานทุกหน่อยต้องมาพูดคุยกับผมทุกสัปดาห์ ซึ่งทำให้สามารถปรับงานได้ ณ วันนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำงานของกระทรวงฯ คือการบูรณาการการทำงาน ต่างจากของเดิมในอดีตคือการบริหารแบบกรมใคร กรมมัน จะไม่ค่อยบูรณาการ ก็ประสานงาน และทำงานร่วมกันอย่างได้ผลเป็นรูปธรรมมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเกษตรแปลงใหญ่ทำได้แล้ว 598 แปลง ซึ่งในปี 2560 อยากจะเห็นซัก 1,000 แปลง การเร่งรัดออกกฎหมายลูก พ.ร.ก.ประมงไปแล้ว 90 กว่าฉบับ การปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวที่ไม่เหมะสมไปทำปศุสัตว์แล้วกว่า 1.5 แสนไร่ เป็นต้น"

สำหรับในปีนี้จะเห็นชัดว่ามีการบูรณาการแบบซิงเกิลคอมมานด์(ขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯแบบเบ็ดเสร็จในทุกจังหวัด)และในปี 2560 ผมจะใช้แนวทางนี้บูรณาการการทำงานให้มากขึ้นไปอีก เพราะหากพิจารณาศักยภาพทุกหน่วยงานรวมกัน ในพื้นที่เดียวกัน ลงไปในเรื่องเดียวกันย่อมที่จะทำให้งานออกมาได้ดีกว่าแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,200 วันที่ 13 - 15 ตุลาคม พ.ศ. 2559