ปิดฉากรร.ปาร์คนายเลิศ ทายาทรุ่น 4‘สมบัติศิริ’ขายทิ้ง

04 ต.ค. 2559 | 02:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

การปิดดีลซื้อกิจการของ "โรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ" เมื่อวันที่ 28 กันยายน2559 มูลค่ากว่า 1.08 หมื่นล้านบาท อย่างเงียบกริ๊บ ก่อนจะตกเป็นข่าวครึกโครม ของเครือโรงพยาบาลกรุงเทพภายใต้บริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด ซึ่งมีน.พ.ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เป็นหัวเรือใหญ่ เพื่อพัฒนาเป็นศูนย์สุขภาพแบบครบวงจร ทำเอา"ช็อก"วงการโรงแรมไทย แต่ก็ถือว่า วิน วิน ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายแม้ว่าโรงแรมแห่งนี้เสมือนเป็นสมบัติค้ำค่าของตระกูล"สมบัติศิริ"มายาวนานและคงไม่มีใครคาดคิดว่าจะมาถึงวันที่ประกาศปิดกิจการอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มกราคม 2560 หลังจากยืนหยัดรับนักท่องเที่ยวมาร่วม 33 ปี

[caption id="attachment_103106" align="aligncenter" width="700"] ผลประกอบการบริษัทโรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด ผลประกอบการบริษัทโรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด[/caption]

จากอู่รถเมล์ขาวสู่ธุรกิจโรงแรมหรู

เนื่องจากโรงแรมแห่งนี้ จัดว่าเป็นหนึ่งในที่พัก ซึ่งมีมาตรฐานสากล เกิดขึ้นในยุคบุกเบิกด้านการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งก่อตั้งโดย "ท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ สมบัติศิริ" ที่มีดีกรีเป็นถึง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมหญิงคนแรกของไทย และยังเป็นบุตรสาวของนายเลิศ เศรษฐบุตร หรือ พระยาภักดีนรเศรษฐคหบดีผู้มั่งคั่งและมีคุณูปการต่อสังคมไทยผู้สร้างตำนานรถโดยสารประจำทางสายแรกของไทย หรือที่เรียกกันว่ารถเมล์ขาวนายเลิศเมื่อปี 2428 หรือราว 131 ปีก่อน
รถเมล์สายดังกล่าวได้รับสัมปทานเดินรถถึง 36 สาย มีจำนวนรถ 700 คัน และมีพนักงานถึง 3,500 คน ก่อนจะยกเลิกในปี 2520 หลังจากรัฐบาลมีนโยบายรวมกิจการรถเมล์ทุกสายของบริษัท มหานครขนส่ง จำกัด ซึ่งเดินรถในกรุงเทพฯ เข้ามาอยู่ในความดูแลขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และที่สำคัญคืออู่รถเมล์ขาวนายเลิศเดิม ได้แปลงมาเป็นโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์คนายเลิศ ที่เห็นในปัจจุบันนั่นเอง

โดยท่านผู้หญิงเลอศักดิ์ ได้กันพื้นที่ราว 15 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 33 ไร่ ที่เดิมเคยเป็นบ้านที่พักอาศัยส่วนตัวของตระกูล เพื่อมาสร้างโรงแรมจำนวน 338 ห้อง เปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2526 โดยใช้เชนโรงแรมเข้ามาบริหาร เริ่มตั้งแต่โรงแรมฮิลตัน อินเตอร์เนชั่นแนล ณ ปาร์คนายเลิศ ซึ่งเป็นเชนเบอร์ 2 ของโลกในขณะนั้น จึงทำให้ชื่อเสียงของโรงแรมเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะญี่ปุ่น

ต่อมามีการปรับโฉมและและดึง แรฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล เข้ามาบริหาร ภายใต้ชื่อโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศ และอยู่เคียงคู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมาช้านาน ซึ่งกิจกรรมที่ถือเป็นไฮไลต์ คืองานดอกไม้ประจำปี สุดอลังการของโรงแรมที่จัดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2529 และจะจัดในวันที่ 6-9 ตุลาคมนี้ เป็นครั้งสุดท้าย

 การแข่งขันสูงถอดใจปิดกิจการ

อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดดีลนี้ขึ้นมา สะท้อนได้ชัดเจนจากคำตอบของ "ณพาภรณ์ โพธิรัตนังกูร"กรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด ทายาทรุ่น 4 ลูกสาวของนางพิไลพรรณ สมบัติศิริ ที่ได้ปิดประกาศแจ้งให้พนักงานของโรงแรมทราบถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นว่า

"สถานการณ์ธุรกิจโรงแรมมีการแข่งขันสูงมาก โรงแรมใหม่ๆ เปิดตัวทั่วทุกมุมถนน คณะผู้บริหารทุกท่านต่างอดทนและทำงานหนัก เพื่อประคับประคองสถานการณ์ เพื่อความอยู่รอดของโรงแรมมาโดยตลอด แต่สุดท้ายทุกอย่างย่อมต้องมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่"

จากการเปิดใจในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกถอดใจในการดำเนินธุรกิจที่เกิดขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ไม่ได้ราบรื่น ซึ่งจากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์พบว่าปัญหาของโรงแรมไม่ได้เกิดจากในแง่ของรายได้ เพราะรายได้ของโรงแรมมีการเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี อย่างในปี 2557 มีรายได้อยู่ที่ 342 ล้านบาท ปี 2558 มีรายได้อยู่ที่ 441 ล้านบาท แต่ปัญหาของบริษัทคือมีการขาดทุนต่อเนื่อง (ตารางประกอบ)รวมถึงภาระหนี้สินที่มีอยู่

โดยจากงบการเงินของบริษัท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 พบว่า บริษัทฯมีหนี้สินหมุนเวียนสูงกว่าสินทรัพย์หมุนเวียนเป็นจำนวน 704 ล้านบาท และมีขาดทุนเกินทุนเป็นจำนวน 139 ล้านบาท และในปี2558 บริษัทฯไม่สามารถจ่ายชำระหนี้สินได้ตามกำหนดและไม่สามารถดำรงอัตราส่วนทางการเงินตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินระยะยาวได้ ซึ่งบริษัทฯมีภาระหนี้อยู่กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ราว 388.9 ล้านบาท ที่ต้องชำระคืนทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม2559 และเงินกู้ยืมจากแรฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด ซึ่ง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2558 มียอดคงค้างจำนวน 2.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือกว่า 80 ล้านบาทซึ่งเงินกู้ยืมนี้ค้ำประกันโดยการจดจำนองที่ดินและอาคารของบริษัท

 ตร.ว.ละ1.8 ล้านขายไปแค่ 1 ใน 3

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทโรงแรมปาร์คนายเลิศ จำกัด กล่าวว่าจากการแข่งขันในธุรกิจโรงแรมที่เพิ่มสูงขึ้นและมีโรงแรมใหม่เปิดขึ้นมากมาย ย่อมเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการโรงแรมที่มีอายุร่วม 33 ปี ที่ทำได้เพียงปรับปรุงตามช่วงเวลาที่ต้องลงทุนเท่านั้น ประกอบกับในวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ทางบริษัทฯจะหมดสัญญากับบริษัทแรฟเฟิลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล ในสัญญาการให้แรฟเฟิลส์เข้ามาบริหารโรงแรมระยะเวลา 15 ปี นับจากเดือนมิถุนายน 2546 ดังนั้นหากจะเดินหน้าทำธุรกิจโรงแรมต่อจะต้องใช้งบในการลงทุนปรับปรุงครั้งใหญ่อีกมากพอสมควร จึงเป็นความท้าทายของเจ้าของเช่นกัน

ดังนั้นการที่เจ้าของตัดสินใจขายที่ดินในส่วนของโรงแรม ,อาคารPromenade รวม 15 ไร่ ที่คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดที่มีอยู่ หลักหักการใช้หนี้ และค่าใช้จ่ายอื่นๆทั้งหมดแล้ว ก็ยังมีกำไรเหลือเฟือ เพราะเมื่อ 127 ปีก่อน ที่ดินผืนนี้ซื้อกันในราคาตารางวาละ 5 สตางค์ แต่วันนี้ราคาที่ดินตารางวาละ 1.8 ล้านบาท แบ่งขาย 15 ไร่ได้กำไร 1 หมื่นล้านบาท ทางเจ้าของก็ยังที่เหลืออีกร่วม 18 ไร่ในมือที่เป็นสมบัติของตระกูลที่ไม่ได้ขายออกไป ซึ่งก็เป็นพื้นที่ในส่วน "บ้านปาร์คนายเลิศ" เรือนไม้ไทยโบราณอายุ 100 กว่าปีหลังงาม ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และของโบราณหายาก ไม่ว่าจะเป็นรถเมล์ขาวรุ่นแรกๆ เรืออายุเกือบ 100 ปีรถเฟียตล็อตแรกจากอิตาลีที่นำมาในไทย ที่ในระยะหลังได้ปรับมาเป็นพิพิธภัณฑ์ให้คนรุ่นหลังได้เช้าไปชม ในส่วนนี้ก็ยังเปิดให้บริการอยู่ต่อไปในวันพฤหัสบดีและวันศุกร์ รวมถึงร้านอาหารบริการ

 แอคคอร์รับพนักงาน 320 คน

สำหรับในส่วนของพนักงานโรงแรมนั้น ทางบริษัทจะรับผิดชอบค่าชดเชยตามอัตราที่กฎหมายกำหนด พร้อมโบนัสอีก 1 เดือน สำหรับพนักงานที่มีสิทธิได้รับโบนัสตามกฎของบริษัท และสินน้ำใจจากครอบครัวอีกจำนวนหนึ่งให้กับพนักงานรวมทั้งยังได้มีการประสานงานไปยังแอคคอร์ โฮเทล ที่ปัจจุบันเป็นเจ้าของเชนSwissotel หรือ FRHI โดนทางแอคคอร์จะรับพิจารณาพนักงานที่สนใจเข้าสมัครงาน ณ โรงแรมในเครือแอคคอร์ฯต่อไป

ต่อเรื่องนี้นาย แพทริค บาสเซ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ประจำแอคคอร์โฮเทล ภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า แอคคอร์โฮเทลได้รับทราบเรื่องโรงแรมสวิสโฮเต็ล ปาร์ค นายเลิศแล้วและกำลังดำเนินการเรื่องอัตราจ้างงานของโรงแรมที่มีทั้งสิ้นจำนวน 320 ตำแหน่งอยู่ อย่างไรก็ตามด้วยจำนวนโรงแรมในเครือข่ายในประเทศไทยทั้งสิ้น 68 แห่ง 16,877 ห้องและโรงแรมที่คาดว่าจะเปิดอีก 17 แห่ง 4,099 ห้องในประเทศไทยในอีก 3 ปี ข้างหน้า ทำให้สามารถเปิดรับสมัครพนักงานใหม่เฉลี่ย 2,000 ตำแหน่งต่อปีเฉพาะในประเทศไทย ยิ่งขณะนี้แอคคอร์มีโรงแรมในเครือข่ายเพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการพนักงานเพิ่มขึ้นด้วย

สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับทุกฝ่าย และนับจากก้าวสู้ศักราช 2560 โรงแรมแห่งนี้ก็จะเหลือเพียงตำนาน แปลงโฉมกลายเป็นศูนย์สุขภาพครบวงจรอวดสายตาชาวโลกอีกครั้งในไม่นานนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,197 วันที่ 2 - 5 ตุลาคม พ.ศ. 2559