แด่...นักรบผู้อาภัพ 3

30 เม.ย. 2566 | 21:30 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

หลังจากได้เขียนบทความเรื่องของนักรบกองพล 93 ของกองทัพก๊กหมินตั๋ง ที่ยังคงตกค้างอยู่ในประเทศไทยเราทางด้านชายแดนภาคเหนือ ซึ่งมีอยู่หลายหมู่บ้าน ถ้าจะเขียนอ้างชื่อหมู่บ้านทั้งหมด ก็คงต้องใช้หนึ่งหน้ากระดาษเลยทีเดียว เพราะมีทั้งหมดสี่สิบกว่าหมู่บ้าน ดังนั้นหมู่บ้านอื่นๆ ที่ไม่ได้เขียนถึง ก็ขออภัยนะครับ ผมคงต้องขออนุญาตเขียนแบบรวมๆ นะครับ ก็มีแฟนคลับมากมายผลายท่าน ที่เป็นลูกหลานของกลุ่มกองพล 93 นี้ ส่งข้อความมาให้ บางท่านก็เขียนมาขอบคุณผม บางท่านก็จะเล่าสิ่งละอันพันละน้อยให้ฟัง คงจะเป็นเพราะน้อยคนนัก ที่จะมีประสบการณ์เยี่ยงผม ที่ได้มีโอกาสคลุกคลีตีโมงกับชนกลุ่มนี้ครับ ต้องขอขอบพระคุณทุกคำติชมที่ส่งมาให้ครับ

ตอนแรกเลยผมเพียงอยากจะเขียน แค่ขั้นจังหวะเวลาของการไว้อาลัย ให้กับเยาวชนของเมียนมา ที่สังเวยชีวิตในการถูกระเบิดจากการมาจากเครื่องบิน ในวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา ที่เสียชีวิตไปทั้งสามสิบกว่าชีวิต เด็กเหล่านี้เพียงแค่อยากกินข้าวหมูต้มเพียงมื้อเดียว ก็ต้องจากโลกนี้ไปด้วยวัยอันยังไม่สมควร แต่พอเขียนไปแล้ว ก็แทบจะหยุดไม่ลง เพราะมีแฟนคลับหลายท่านที่อยากจะรับทราบชีวิตของเด็กดอยแม่สลอง ซึ่งผมต้องขออนุญาตว่า สักวันหนึ่งถ้าทางสำนักพิมพ์มีพื้นที่ว่าง ผมจะขออนุญาตเขียนเรื่องการใช้ชีวิตของเด็กบนดอย ที่ทำไมเขาจึงมีทั้งโอกาสและทั้งขาดโอกาสในคราวเดียวกัน มาให้ทุกท่านได้อ่านนะครับ ช่วงนี้งานผมค่อนข้างเยอะมาก ดังนั้นคงต้องเป็นโอกาศหน้าครับ วันนี้เอาแค่หอมปากหอมคอก่อนนะครับ

ฉบับนี้เรามาต่อกันที่นักรบผู้กล้าหาญเหล่านี้กันดีกว่าครับ ที่บนดอยแม่สลอง ก็มีกลุ่มนักรบอยู่สองรุ่นด้วยกัน กลุ่มแรกคือกลุ่มนักรบที่ลี้ภัยมาจากประเทศจีน เมื่อครั้งเปลี่ยนแปลงการปกครอง อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มทหารรุ่นเยาว์ ที่ติดตามมาภายหลัง ซึ่งเรามักจะเรียกว่า “ทหารเด็ก” เพราะกลุ่มนี้ช่วงที่ผมเรียนอยู่ที่นั่น เขายังเด็กกว่าพวกนักเรียนด้วยซ้ำไป ทหารเด็กพวกนี้จะซนมาก ทั้งดื้อทั้งซน พวกเราไม่ค่อยอยากจะไปยุ่งกับกลุ่มทหารเด็กพวกนี้หรอก เพราะเขามีปืนอยู่ในมือ

ส่วนทหารกลุ่มแรกที่มาจากกองทัพจริงๆ จากเมืองจีนในยุคนั้น ปัจจุบันที่ยังหลงเหลืออยู่บนโลกใบนี้ ก็ยังคงหลงเหลืออยู่ไม่มากแล้วครับ ที่แม่สลองเองยังคงหลงเหลือมีชีวิตอยู่ประมาณหกสิบกว่าท่านเท่านั้น แต่ถ้าหากรวมทั้งหมดทุกๆ หมู่บ้าน ก็น่าจะเหลือไม่กี่พันท่านแล้วละครับ ปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่จะมีอายุประมาณ 80 กว่าปีกันทั้งหมดแล้วครับ ซึ่งช่วงเวลาที่ผมเรียนหนังสืออยู่บนดอย เขาเหล่านั้นยังคงเป็นนักรบวัยฉกรรจ์กันทั้งนั้นครับ ทุกวันตอนเช้าตรู่ จะเป็นช่วงเวลาที่พวกเราถูกปลุกให้ตื่นนอน ซึ่งจะมีคนอยู่สามกลุ่ม ที่ต้องออกมาฝึกสวนสนามกันทุกวัน

นั่นคือกลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มทหารฉกรรจ์เหล่านั้น กลุ่มที่สองคือกลุ่มทหารเด็ก และกลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มนักเรียน ที่พวกเราถือว่าเป็นกลุ่มที่อ้อนแอ่นมากที่สุด ก็เด็กกำลังจะโตนะครับ นอนเท่าไหร่ก็นอนไม่พอ แต่ต้องถูกปลุกตั้งแต่เช้ามืดฟ้ายังไม่สางทุกวัน แน่นอนว่าการที่พวกเรางัวเงียกัน ก็เป็นเรื่องธรรมดาแหละครับ

จำได้ว่า ในช่วงที่ทำกายบริหารหรือออกกำลังอยู่ หากวันใดมีทหารผู้ใหญ่เดินผ่านมาเพื่อตรวจดูว่า พวกเราทุกกลุ่มเข้มแข็งกันหรือไม่? สำหรับกลุ่มนักเรียน คนที่เป็นนักเรียนที่สูงวัยที่สุด ก็จะตะโกนเป็นภาษาจีนว่า “ทั้งหมดตรง วันทยาหัตถ์ เรียบวุธ” พวกเราต้องทำตามคำสั่งทุกครั้งไปครับ ทุกคนต้องอยู่ในวินัยอย่างเคร่งครัดครับ ส่วนนายทหารผู้ใหญ่ เกือบจะทุกท่านที่ผมได้พบเห็น ทุกท่านจะสวมใส่เสื้อผ้าที่รีดมาเรียบร้อยคมแทบบาดมือทุกท่าน แม้เสื้อผ้าเหล่านั้นจะเก่าสักเพียงใด ก็จะไม่มียับให้เห็นเลยครับ การเดินหรือการปฎิบัติตน ต้องใช้ภาษาวัยรุ่นว่า “เป๊ะมาก” พวกเราเด็กๆจะมองทุกท่านด้วยความชื่นชมจริงๆครับ

ในยุคนั้น กองกำลังเหล่านี้ก็ได้รับการช่วยเหลืออย่างลับๆ จากรัฐบาลก๊กหมินตั๋งของไต้หวันตลอด ไม่ว่าจะเป็นตำราเรียน เมล็ดพันธุ์ชา กาแฟ หรืออุปกรณ์เครื่องใช้อื่นๆ มักจะถูกขนส่งมาให้ทางอากาศ โดยมีการสื่อสารด้วยวิทยุสื่อสารกับทางกองพล 93 ถึงวันเวลาและพิกัดทางภาคพื้นดิน ว่าสิ่งของจะส่งถึงค่ำคืนวันไหน จากนั้นก็จะลำเลียงส่งลงมาด้วยการทิ้งร่มชูชีพลงมาให้ พวกเราเด็กๆ ก็จะถูกครูเกณฑ์ไปช่วยกันขนกลับมาที่แม่สลอง ต้องบอกว่าสำหรับพวกเราจะมีความรู้สึกสนุกสนานมาก ดังนั้นหนังสือบทเรียนที่พวกเราได้เล่าเรียนกัน จะมาจากไต้หวันทั้งหมดครับ 

ในยุคนั้นเป็นยุคที่การเคลื่อนไหวของพรรคคอมมิวนิสต์รุนแรงที่สุด ซึ่งจะสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองของเรา คืออยู่ในช่วง 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 โดยในช่วงแรกคือเหตุการณ์ 14 ตุลาคม ได้มีการประท้วงของนักศึกษาในกรุงเทพฯ ผมยังเรียนอยู่บนดอยอยู่ ก็จะทราบข่าวจากวิทยุทรานซิสเตอร์อยู่เป็นประจำทุกวัน แต่ช่วงที่สองคือ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม ผมไม่ได้อยู่บนดอยแล้ว เพราะได้ไปเรียนต่อที่ไต้หวันในปี 2517 แล้วครับ ส่วนช่วงที่สองจะไม่ทราบข่าวคราวอะไรเลย เพราะตอนอยู่ไต้หวัน จะทราบแต่เพียงว่า มีนักศึกษาไทยเราเข้าป่ากันเยอะเท่านั้นเองครับ สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ จึงเป็นเพียงคำบอกเล่าจากปากของทหารเก่าที่อยู่บนดอยที่บอกต่อๆกันมาเท่านั้นครับ

ในช่วงนั้นที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีกองกำลังแม้วแดงเคลี่ยนไหวกันรุนแรงมาก ทางรัฐบาลไทยเราก็ได้ส่งทหารเข้าไปปราบปรามกันอย่างตึงเครียด ซึ่งอย่างที่เล่ามาแต่ต้นว่า กองพล 93 ถือว่าเป็นกองกำลังทหารที่กล้าหาญมาก อีกทั้งยังเป็นกันชนตามแนวชายแดนให้กับกองทัพไทยไปในตัว เพราะแน่นอนว่า ศัตรูที่สำคัญของกองพล 93 และพรรคก๊กหมินตั๋ง คือพรรคจีนคอมมิวนิสต์ ดังนั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้ฝ่ายตรงข้ามของรัฐบาลไทยในยุคนั้น จึงเป็นกลุ่มเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ ทุกครั้งที่เกิดสมรภูมิรบที่ชายแดนไทย ไม่ว่าจะแห่งหนใดก็ตาม มักจะมีกองกำลังของกองพล 93 เข้าไปสอดแทรกเสมอ ทางการไทยเราจึงมองเห็นความสำคัญของชนกลุ่มนี้นั่นเองครับ

ยังไปไม่ถึงสมรภูมิรบที่เขาค้อ กระดาษก็หมดเสียแล้ว คงต้องต่ออีกหนึ่งสัปดาห์นะครับ ขออนุญาตแฟนคลับเรื่องเมียงมอง เมียนมา อีกหนึ่งสัปดาห์ ผมจะพยายามให้จบบทความนี้แล้วครับ