เมืองบนยอดเขา “ตองจี”

26 มี.ค. 2566 | 22:00 น.

เมืองบนยอดเขา “ตองจี” คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อจบการเขียนเรื่องรัฐฉานตอนใต้แล้ว ผมคิดเอาเองว่า คงต้องจบสมบูรณ์ทุกเรื่องราวที่อยากจะเล่าเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐฉานไปแล้ว แต่ก็มีน้องท่านหนึ่ง ที่เป็นแฟนคลับประจำคอลัมน์ ได้ส่งข้อความมาให้ว่า “ยังอยากให้เล่าเรื่องเกี่ยวกับ “เมืองตองจี” ต่ออีกนิด เพราะในอดีตตอนที่ฟาร์มไก่ที่บ้านของน้องทำอยู่ ก็มีคนงานที่มาจากเมืองตองจีหลายคน จึงอยากจะรู้เรื่องราวของเมืองนี้อีกนิด เผื่ออนาคตจะมีโอกาสเข้าไปเที่ยวที่นั่นบ้าง” ผมเองก็ลืมถามน้องไปว่า คนงานที่พูดถึงนั้น เป็นชนชาติอะไร? เพราะที่เมืองตองจี มีชนชาติพันธุ์ค่อนข้างจะเยอะมาก
         
เมืองตองจีเป็นเมืองที่มีภูมิประเทศที่ต่างจากเมืองอื่นๆ มาก เพราะอยู่บนยอดภูเขา พอขึ้นไปถึงบนปลายยอดภูเขา ก็จะเป็นที่ราบใหญ่มาก ที่เป็นเมืองตองจีครับ ความสวยงามบนนั้น ผมได้เคยเขียนบรรยายมาเยอะหลายตอนแล้ว แต่ถ้าหากจะให้พูดถึงชนชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเมืองตองจี ที่เห็นเยอะมากก็มีอยู่สามกลุ่มด้วยกัน 

คือชาวจีนฮ่อหรือจีนยูนนาน ชาวไตหรือไทยใหญ่ และชาวปะโอ่ ชาวจีนฮ่อหรือชาวจีนยูนนานกับชาวไต มักจะไม่ค่อยมีความแตกต่างกันมากนัก เพราะจะมีการแต่งงานขยายเผ่าพันธุ์ซึ่งกันและกัน เป็นอย่างนี้มาช้านานตลอดมา ดังนั้นเขาเหล่านั้นจะสามารถใช้ภาษาสื่อสารกันได้ดี และจะเข้าใจวัฒนธรรมของกันและกันเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรมทางด้านสังคมศาสตร์ ซึ่งหมายรวมถึงการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ประจำวัน อาหารการกิน หรือการรวมกลุ่มรวมญาติต่างๆ เป็นต้น 

ล้วนแล้วแต่คล้ายคลึงกันทั้งสองฝั่ง แต่จะมีความแตกต่างจากชาวจีนยูนนานที่อยู่ในแผ่นดินใหญ่เล็กน้อย เหตุผลเพราะการโยกย้ายถิ่นฐานมาจากจีน เข้าสู่ผืนแผ่นดินใหม่ในประเทศเมียนมา เลยผสมปนเปวัฒนธรรมกันไปหมด ก็คล้ายๆ กับชาวจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยนั่นแหละครับ
        
ผมเป็นคนที่โชคดีมาก ที่เมื่อหกสิบปีก่อน ได้มีโอกาสขึ้นไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนจีนบนดอยแม่สะลอง เพราะที่นั่นจะมีเพื่อนๆหลายคน เป็นคนจีนฮ่อที่มาจากหลายๆ เมืองของรัฐฉาน จึงทำให้รู้ซึ้งถึงวัฒนธรรม รวมทั้งภาษาต่างๆ ได้ดี เพื่อนที่มาจากเมืองตองจีหรือเมืองอื่นๆ ก็จะเล่าเรื่องราวต่างๆ ของแต่ละเมืองให้ฟังเสมอ นี่ถือว่าโชคดีมากๆ 

อีกทั้งต่อมาเมื่อสามสิบกว่าปีก่อน ผมได้เดินทางเข้าไปค้าขายที่ประเทศเมียนมา ช่วงแรกเลยคือเริ่มต้นจากการขายสินค้าเข้าไปทางด่านชายแดนอำเภอแม่สาย ที่มีเพื่อนซึ่งเป็นญาติห่างๆ ท่านหนึ่ง คือ คุณณรงค์จากร้านวัลณี ที่เป็นคู่หูร่วมกันทำการค้าที่นั่น จากนั้นเมื่อเริ่มบุกเข้าไปค้าขายในกรุงย่างกุ้งใหม่ๆ ก็เริ่มลุยตลาดอย่างจริงจัง ด้วยการเดินทางเข้าไปรัฐฉานเพื่อทำการตลาดนี่แหละครับ แม้จะพูดภาษาพม่าไม่ได้ แต่ก็ใช้ภาษาจีนฮ่อหรือจีนยูนนาน และภาษาไทยใหญ่หรือคำไตในการสื่อสาร จึงได้รับรู้ถึงวัฒนธรรมต่างๆ ได้อย่างไม่ติดขัดครับ
        
การที่ชาวจีนยูนนานได้อพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เข้าสู่รัฐฉานนั้น เชื่อกันว่าเป็นมาอย่างยาวนานแล้วละครับ เพราะชายแดนของทั้งสองประเทศ ติอต่อกันยาวถึง 2,227 กิโลเมตร ดังนั้นการหลั่งไหลโยกย้ายถิ่นฐาน ย่อมเป็นเรื่องธรรมชาติมาก แต่ที่ย้ายเข้ามาจำนวนมากเป็นพิเศษ ก็ช่วงสงครามเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจีน ที่เริ่มมีความไม่สงบจากการสู้รบกันเอง ระหว่างพรรคจีนคอมมิวนิสต์กับพรรคก๊กหมินตั๋ง ที่พรรคจีนคอมมิวนิสต์ชนะ และเข้ามาปกครองประเทศจีน 

กลุ่มทหารหนุ่มๆ ของพรรคก๊กหมินตั๋งที่พ่ายสงคราม จึงได้ถอยทัพเข้ามาทางฝั่งตะวันตก แน่นอนว่าเป็นทหารที่อยู่ในมณฑลยูนนานเป็นส่วนใหญ่ ที่ใช้วิธีเดินเท้าเข้ามา กลุ่มทหารเหล่านี้เป็นทหารหนุ่มที่ไม่ได้นำเอาลูกเมียติดตามมาด้วย พอเข้ามาสู่รัฐฉาน พบเจอกับสาวไทยใหญ่หรือสาวไตเข้า นิยายรักจึงเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ได้มีทายาทที่เป็นลูกครึ่งจีน-ไตเกิดขึ้นที่นี่นั่นเองครับ
       
กลุ่มชาวจีนยูนนานที่เข้ามาสู่ประเทศเมียนมา ที่อาศัยในรัฐฉาน โชคดีกว่าชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในกรุงย่างกุ้งเยอะ เพราะมีอยู่ช่วงหนึ่ง ที่รัฐบาลเมียนมาเขาไม่อนุญาตให้เรียนภาษาจีน แต่ในรัฐฉานที่ห่างไกลต่อการควบคุมของรัฐบาลกลาง ยังสามารถได้รับการศึกษาภาษาจีนได้อย่างลับๆ จึงทำให้ลูกหลานชาวจีน ยังคงมีความเป็นจีน รวมทั้งยังได้รับวัฒนธรรมขงจื๊อ-ม่งจื๊ออย่างลึกซึ้ง บางคนที่ไม่ได้เรียนหนังสือจีนที่รัฐฉาน ก็จะเข้ามาเรียนที่บนดอยแม่สะลองกันเยอะ ผมจึงได้มีเพื่อนที่เป็นชาวจีน-เมียนมาอยู่เยอะเช่นกันครับ
       
ส่วนชาวปะโอ่ที่อาศัยอยู่ในเมืองตองจี สามารถพูดได้ว่าเป็นกลุ่มชาวปะโอ่ที่ใหญ่มากกลุ่มหนึ่ง เพราะชาวปะโอ่เอง มีถิ่นฐานค่อนข้างจะกระจัดกระจายกันเยอะหลายเมือง เช่นที่เมืองตองจี ตะโถ่ง เมืองยองเสว่ เมืองย่องห่วย เมืองอ่องบาน  เมืองจิต เมืองหนอง เมืองน่ำโคก เมืองไล้ค่า เมืองหนองบ๋อน เมืองเกิ๋ง ฯลฯ 

ส่วนใหญ่จะแบ่งออกเป็นปะโอ่หลอยที่อาศัยอยู่บนดอย และปะโอ่เมิง ที่อาศัยอยู่บนพื้นที่ราบหรือเขตในเมือง ชาวไทยใหญ่หรือคนไต มักจะชอบเรียกชาวปะโอ่ว่า “คุนโตงซุ่” หรือคนตองสู่ แต่ชาวปะโอ่เอง เขาจะไม่ชอบให้คนอื่นเรียกเขาเช่นนั้น เพราะถือว่าเป็นคำที่เหยียดหยามเขา ชาวปะโอ่มักจะอาศัยการทำอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ 

ถ้าเราเข้าไปในตลาดสดเมืองตองจี เราจะเห็นคนที่มีหน้าตากระเดียดไปทางชาวเขานิดๆ มีผ้าโพกศีรษะที่มีสีสันหน่อย ก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นชาวปะโอ่ครับ ชาวปะโอ่โดยพื้นฐานจะเป็นคนหนักเอาเบาสู้ เพราะกลุ่มนี้เชื่อว่ามีเชื้อสายพื้นฐานมาจากชาวจีน-ทิเบต ดังนั้นภาษาปะโอ่ จึงจัดอยู่ในตระกูลภาษาจีน-ทิเบตบวกกับตระกูลภาษาย่อยทิเบต-พม่า ซึ่งเขามีภาษาพูดและภาษาเขียนของเขาเองครับ ผมเองก็ฟังไม่รู้เรื่องหรอกครับ ได้แต่ฟังเขาเล่าว่าเท่านั้นเอง ส่วนท่านจะเชื่อหรือไม่ ก็ใช้วิจารณญาณเอาเองนะครับ