แก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์

05 มี.ค. 2566 | 20:15 น.

แก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ คอลัมน์เมียงมอง เมียนมา โดย กริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

ปลายอาทิตย์ที่ผ่านมา ผมเหนื่อยมากกับกลุ่มมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์ ที่มาแอบอ้างใช้ชื่อบริษัทผมและชื่อผมไปหลอกลวงชาวบ้าน ทำให้ต้องวิ่งขึ้นโรงพักและกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ตำรวจไซเบอร์นั่นแหละครับ เพื่อไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ว่าบริษัทของผมและโดยส่วนตัวผมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการนี้เลย 

หลังจากที่ถูกคนกลุ่มนี้ฟาดงวงฟาดงาใส่ ผมก็เลยไปศึกษาดูว่าเขามีวิธีการในการหลอกลวงอย่างไร? เพื่อจะได้นำมาเล่าให้ท่านฟัง เพื่อจะได้เป็นบทเรียน จึงทำให้พอจะรู้ถึงวิธีการของคนกลุ่มนี้ การหลอกลวงชาวบ้านของคนกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เขาจะแบ่งกลุ่มเป้าหมาย (Target Group) ออกเป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ ด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็นกลุ่ม A, B, C ซึ่งแต่ละกลุ่มเป้าหมายในทุกระดับมีแตกต่างกันดังต่อไปนี้

กลุ่ม A จะเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และรายได้ต่ำที่สุด หรือกลุ่มที่หาเช้ากินค่ำนั่นแหละครับ โดยกลุ่มนี้มิจฉาชีพจะใช้วิธีการสร้างความน่าเชื่อถือ และจะใช้การปล่อยกู้ด้วยเม็ดเงินไม่มากนัก ประมาณไม่เกิน 100,000 (หนึ่งแสน) บาท โดยใช้ไลน์หรือ Facebook ในการกระจายข่าว

โดยแอบอ้างว่าเขาเป็นสถาบันการเงินนอกระบบบ้าง เป็นบริษัทปล่อยกู้เงินเร่งด่วนบ้าง เขาจะจัดทำแบนเนอร์ส่งไปทางไลน์หรือ Facebook อย่างที่บอก และโฆษณาว่า “ปล่อยกู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน” “เงินกู้เร่งด่วน” “ปล่อยกู้วงเงินไม่เกินหนึ่งแสนบาท โดยไม่ต้องมีคนค้ำประกัน” ฯลฯ  
 

จากนั้นก็ให้เหยื่อติดต่อเข้าไปหาเขา แล้วจะใช้วิธีการพูดคุยทางไลน์ หลอกล่อให้ส่งรูปถ่ายที่ถ่ายคู่กับบัตรประชาชน พร้อมทั้งหน้าสมุดบัญชีธนาคารไปให้เขา จากนั้นผ่านไปไม่กี่วัน ก็จะส่งข้อความไปบอกว่า ท่านได้ผ่านการอนุมัติจากบริษัทแล้ว ให้ผู้ขอกู้หรือเหยื่อโอนเงินค่าใช้จ่ายในการยื่นขอกู้ให้แก่นาย....บัญชีเลขที่....

หลังจากที่บางรายโอนเงินไปให้แล้ว ก็จะติดต่อเข้ามา และบอกว่าหมายเลขบัญชีไม่ถูกต้อง บัญชีธนาคารจึงถูกระงับการใช้หรือถูกล็อคไปเรียบร้อยแล้ว ให้เหยื่อโอนเงินเพื่อไปปลดล็อคบัญชี เป็นจำนวนเงินหนึ่งหมื่นบาท หรือเท่ากับจำนวนกี่เปอร์เซนต์ของวงเงิน ถ้าได้รับการปลดล็อคเรียบร้อยแล้ว เงินกู้ที่ขอกู้ไว้ และเงินค้ำประกันการปลดล็อคจึงจะได้รับการโอนคืนไปให้

เหยื่อบางคนตกใจก็จะโอนเงินไป ก็เรียบร้อยหายทั้งเงินทั้งการติดต่อ หรือเหยื่อบางคนที่ไม่มีเงินโอนไปให้เขา เขาก็จะข่มขู่ต่อว่าจะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายให้ถึงที่สุด เหยื่อก็จะตกใจขอยกเลิกสัญญาเงินกู้ หากคิดว่าไม่มีทางได้เงินเพราะเหยื่อไม่มีเงิน มันก็จะแกล้งให้ติดต่อที่บริษัทฯที่มันใช้แอบอ้าง แล้วให้เหยื่อติดต่อโดยตรงกับบริษัทฯด้วยการเดินทางไปยกเลิกที่บริษัทฯเลย

ซึ่งแน่นอนว่าเหยื่อส่วนใหญ่มักจะอยู่ต่างจังหวัดที่มีรายได้น้อยและกำลังเดือดร้อน การที่ให้เหยื่อเดินทางเข้ามาที่บริษัทฯที่กรุงเทพฯ เป็นการกลั่นแกล้งให้เสียเงินเสียทองโดยเปล่าประโยชน์ มันไม่คิดหรอกว่า เหยื่อเหล่านั้นเขาหาเงินมาด้วยความยากลำบากขนาดไหน? ซึ่งบางคนยอมเดินทางมา เพราะเกรงกลัวว่าจะถูกฟ้องร้องตามที่จดหมายที่เขาส่งมาแจ้งเตือน ในส่วนของจดหมายจะเป็นการแอบอ้างนั้น

หากผู้ที่มีการศึกษาดีพอ ก็จะดูออกว่าเป็นจดหมายเท็จ เพราะมันจะเอาหัวกระดาษของธนาคารแห่งประเทศไทยใส่รวมกับหัวกระดาษของบริษัทฯ และมีลายเซ็นต์ที่มั่วมาก แต่ด้วยความกลัวเกรงต่อคำข่มขู่ จึงต้องลำบากตรากตรำเดินทางมา ซึ่งแย่มากๆ คนพวกนี้ใจร้ายจริงๆครับ

ในส่วนของเหยื่อกลุ่มที่ B คือมักจะเป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ประจำในระดับคนทำงานทั่วๆ ไป จะถูกหลอกโดยการโฆษณาในเรื่องการลงทุนทางด้านธุรกิจฯ ที่มีผลตอบแทนที่คิดเป็นร้อยละแล้วจะมีจำนวนที่สูงมาก โดยบอกว่าลงทุนในจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ไม่จำกัดจำนวน และจ่ายเงินค่าตอบแทนเป็นรายวันและรายเดือนให้แก่เหยื่อผู้ลงทุน จะมีเหยื่อที่หลงเชื่อหรืออยากจะทดลองลงทุนดู ก็จะลงทุนเบื้องต้นด้วยจำนวนเงินน้อยๆ ก่อน บ้างก็หลักร้อยหลักพันบาท

จากนั้นในระยะแรกก็จะเริ่มมันก็จะโอนเงินคืนมาให้เป็นกำไรก่อน ทำเสมือนหนึ่งเป็นการลงทุนที่ได้รับผลตอบแทนที่ดีมาก จากนั้นมันก็จะให้เหยื่อชักชวนเหยื่อรายอื่นๆ ที่เป็นในลักษณะแชร์ลูกโซ่ พอเม็ดเงินเริ่มใหญ่โตมากขึ้น มันก็จะปิดบัญชีหนีหายไปเลย คราวนี้ก็เรียบร้อยโรงเรียนโจรละครับ

ในส่วนของเหยื่อกลุ่ม C คือกลุ่มที่มีการศึกษาดีมีรายได้สูง ก็จะหลอกลวงให้ลงทุนใน Crypto Currency บ้าง ลงทุนใน Bitcoin บ้างละ ลงทุนใน Forex บ้างละ ลงทุนในการ Trad ทองคำบ้างละ ลงทุนใน Commodity บ้างละ หรือลงทุนในหุ้นต่างประเทศ ฯลฯ จากนั้นก็หลอกลวงอย่างแยบยล ทำให้บางรายสูญเสียเงินทองเป็นหลักแสนหลักล้านบาทก็มี หรือบางรายถึงกับล้มละลายไปก็มีครับ 

วิธีการหลอกลวงชาวบ้านของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ มันมีวิธีการที่สร้างความน่าเชื่อถือให้ชาวบ้านหลงเชื่อ โดยเหยื่อทั้งสามกลุ่มนี้ล้วนแล้วแต่น่าเห็นใจอย่างที่สุด กลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้ มันจะมีวิธีการที่มุ่งเน้นให้ความเชื่อถือแก่เหยื่อที่แยบยลมาก ซึ่งผมคิดว่าคนที่จะตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่ น่าจะมีด้วยกันสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ

กลุ่มที่มีความโลภ อยากได้เงินคนอื่นเขา หรือคิดว่าเงินค่าตอบแทนที่เยอะ น่าลงทุน กลุ่มที่สองคือกลุ่มที่คิดว่า เป็นวิธีการหาเงินง่ายๆ ไม่ยากลำบากอะไร อีกทั้งยังมีความสามารถที่จะหาเพื่อนๆ มาร่วมลงทุนได้ไม่ยาก กลุ่มสุดท้ายคือกลุ่มที่มีความเดือดร้อนจากพิษเศรษฐกิจ หรือกำลังร้อนเงิน ทางไหนที่สามารถให้ทางรอดแก่เขา เขาก็จะรีบเกาะไว้ก่อน ดังนั้นจึงง่ายที่จะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้

วิธีที่จะไม่ตกเป็นเหยื่อ ก็สามารถทำได้ไม่ยาก ขอเพียงให้ท่องไว้ในใจเสมอว่า “ไม่มีเงินอะไรที่เป็นลาภลอยมา หรือไม่มีรายได้ใดที่สามารถหามาได้อย่างง่ายๆ หรอก” แล้วต้องไม่ไปต่อปากต่อคำกับกลุ่มมิจฉาชีพเด็ดขาด เพราะมันมีวิธีการโน้มน้าวให้เราหลงเชื่อมันได้อย่างไม่ยาก เมื่อเชื่อแล้วก็จะตกเป็นเหยื่อของมันเสมอครับ