ศึกชิงเก้าอี้นายกฯ ใครจะเข้าวิน

02 เม.ย. 2566 | 02:00 น.

ศึกชิงเก้าอี้นายกฯ ใครจะเข้าวิน : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...ว.เชิงดอย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ระหว่างวันที่ 2-5 เม.ย.2566

***คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3875 ระหว่างวันที่ 2-5 เม.ย.2566 โดย “ว.เชิงดอย” ประจำการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร ที่มีสาระ เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะเช่นเคย

***เริ่มต้นไปอัพเดท สถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 สำหรับประเทศไทยกันดูหน่อย ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ได้รายงานยอดผู้ติดเชื้อในรอบสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 19 - 25 มีนาคม 2566 พบผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 150 ราย  เฉลี่ยติดเชื้อรายวัน จำนวน 21 รายต่อวัน ส่วนผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) พบจำนวน 6 ราย เฉลี่ย 1 รายต่อวัน โดยมีผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 4,713 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566) ผู้เสียชีวิต สะสม 266 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค.2566) …โควิด-19 ก็ยังไม่หายไปจากประเทศไทยเสียทีเดียว เพราะยังมีผู้ติด และเสียชีวิต เป็นรายวัน แม้ไม่มากก็ตาม แต่ก็ไม่อยากให้มีใครต้องมาตาย เพราะเจ้าโรคร้ายเป็นแบบนี้ตลอดไป เราก็ยังต้องระมัดวังกันต่อไป ใครที่ไปสถานที่ผู้คนแน่นหนาก็คงต้องป้องกันตัวเอง ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยไว้ต่อไป ก็จะเป็นการดี ...ที่สำคัญคือ รักษาสุขภาพ ทำให้ร่างกายแข้งแรงเข้าไว้ เผื่อติดเชื้อขึ้นมา ก็จะไม่ต้องมีอาการรุนแรง แค่กินยารักษาไม่กี่วันก็หายขาดแล้ว

*** จากเรื่อง “โควิด-19” ไปดูเรื่องทางการเมืองกันหน่อย ระหว่างวันที่ 3-7 เม.ย. 2566 นี้ เวลา 08.30-16.30 น. รวม 5 วัน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดให้เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และระหว่างวันที่ 4-6 เม.ย. 2566 เวลา 08.30 - 16.30 น. และในวันที่ 7 เม.ย. 2566 เวลา 08.30-16.00 น. รวม 4 วัน เป็นวันรับสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ และให้แจ้งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี  

*** สำหรับการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตนั้น ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้ง ให้ยื่นใบสมัครรับเลือกตั้งพร้อมเอกสารหลักฐาน ต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งกำหนด ...ส่วนการสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้หัวหน้าพรรคการเมือง หรือ กรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือผู้ได้รับมอบหมายเป็นหนังสือจากหัวหน้าพรรคการเมือง ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ พร้อมทั้งหลักฐานประกอบการสมัครของผู้สมัครแต่ละคน ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร และหากประสงค์จะแจ้งรายชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ที่พรรคการเมืองมีมติจะเสนอสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็นนายกฯ ให้แจ้งรายชื่อพร้อมหนังสือแสดงความยินยอมของผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกฯ ต่อ กกต. ไม่เกิน 3 รายชื่อ ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานครแขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกัน

*** สำหรับบุคคลที่แต่ละพรรคจะเสนอรายชื่อเป็น “แคนดิเดตนายกฯ” เพื่อให้มีสิทธิ์เสนอชื่อลงแข่งชิงนายกฯ ในที่ประชุมรัฐสภา (ส.ส.+ส.ว.) นั้น ขณะนี้แต่ละพรรคก็ได้เปิดตัวออกมาแล้ว โดย พรรคเพื่อไทย ขณะนี้มี 2 รายชื่อ คือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร กับ เศรษฐา ทวีสิน และจะมีอีก 1 รายชื่อ เพื่อส่งให้ครบทั้ง 3 คน ส่วน พรรคพลังประชารัฐ ได้มีมติชัดเจนแล้วว่า จะเสนอ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ส่วน พรรครวมไทยสร้างชาติ มีมติเสนอแคนดิเดตนายกฯ 2 คน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค พรรคภูมิใจไทย ส่ง เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล ชิงเก้าอี้นายกฯ แค่คนเดียว เช่นเดียวกับ พรรคประชาธิปัตย์ ที่มีมติส่ง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว พรรคก้าวไกล ก็เสนอ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ คนเดียว ส่วนพรรคไทยสร้างไทย ก็ส่ง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ชิงเก้าอี้นายกฯ ส่วนพรรคอื่น ๆ ก็คงทยอยเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ ออกมาเรื่อย ๆ 

                         ศึกชิงเก้าอี้นายกฯ ใครจะเข้าวิน

*** ส่วนพรรคที่จะเสนอรายชื่อบุคคลชิงเก้าอี้นายกฯ ในสภาฯ ได้นั้น ต้องมีส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่คือ 500 คน หรือ มีส.ส. 25 คนขึ้นไป จึงจะมีสิทธิเสนอชื่อจากบัญชีพรรคเป็นนายกฯ ได้ นอกจากนี้การเสนอชื่อนายกฯ ต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 หรือ ส.ส. อย่างน้อย 50 คน มติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบต้องมีมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร คือ 250 เสียง กรณีไม่อาจแต่งตั้งนายกฯ จากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ได้ ให้ที่ประชุมร่วมระหว่าง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ  โดย 2 สภา จะมีสมาชิกทั้งสิ้น 750 คน แบ่งเป็น ส.ส. 500 คน และส.ว. 250 คน โดยผู้ที่จะได้รับเลือกเป็นนายกฯ ต้องมีเสียงสนับ สนุนของสมาชิกรัฐสภามากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ นั่นคือ 376 เสียง

*** เบื้องต้น เท่าที่ดูพรรคที่น่าจะได้ ส.ส.เข้ามาเกิน 25 ที่นั่ง จะประกอบด้วย เพื่อไทย, พลังประชารัฐ, ภูมิใจไทย, ประชาธิปัตย์, ก้าวไกล ส่วนพรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคอื่นๆ ต้องลุ้นว่าจะได้ส.ส.ถึง 25 ที่นั่ง เพียงพอที่จะเสนอชื่อชิงนายกฯ ในสภาฯ ได้หรือไม่ สมมติ รวมไทยสร้างชาติ ได้ส.ส.เข้ามาเกิน 25 เสียง “บิ๊กตู่” ก็มีลุ้นที่จะได้กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งหรือไม่ แต่ถ้าได้ไม่ถึงก็คงจบภาระหน้าที่ในฐานะผู้บริหารประเทศแต่เพียงแค่นี้ แล้วต้องไปลุ้นว่า “นายกฯ คนที่ 30” จะเป็นใคร ระหว่าง “พล.อ.ประวิตร – แพทองธาร – เศรษฐา” ใน 3 คนนี้ ไม่คนใดคนหนึ่งน่าจะได้เป็นนายกฯ คนต่อไปแน่นอน...