ไทย“เซฟโซน”ลงทุนโลก การเมืองอย่าทำเสียโอกาส

26 พ.ย. 2565 | 01:00 น.

บทบรรณาธิการ

เลขาธิการสภาพัฒน์ ชี้ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปีหน้า 2566 ว่า จะขยายตัวได้ที่ 3.5% เติบโตต่อเนื่องอย่างค่อยเป็นค่อยไป จาก 3.2% ในปี 2565 จากภาคการท่องเที่ยว ที่จะมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้าไทยเพิ่มเป็น 22 ล้านคน สร้างรายได้ 1.2 ล้านล้านบาท จากปีนี้ (2565) ที่มี 10.2 ล้านคน รายได้ 5.7 แสนล้านบาท

 

อีกเครื่องยนต์หลัก คือ การลงทุนเอกชน ผลจากความขัดแย้งในหลายภูมิภาค ในช่วงเปลี่ยนผ่านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก นักลงทุนมองหาประเทศเป็นกลาง เช่น ไทย เพื่อเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ของการลงทุน ควบคู่กับปัจจัยหนุน จากนโยบายส่งเสริมการลงทุนพื้นที่อีอีซี นโยบายไทยแลนด์ 4.0 หรือเป้าหมายเศรษฐกิจ BCG


     
ห้วงเดือน พ.ย.2565 นี้ มีการประกาศลงทุนใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มโซนีลงทุน 2,500 กว่าล้านบาท เพื่อผลิตเซมิคอนดักเตอร์ รองรับอุตสาหกรรมรถยน์ไฟฟ้า (อีวี) หรือ เครือปตท.จับมือ กลุ่มฟอกซ์คอน ยักษ์ใหญ่จากไต้หวัน ลงทุน 37,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานรับผลิตรถยนต์อีวี หากเร่งการลงทุนภาคเอกชนเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้

แนวโน้มเดินหน้าฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยดังกล่าว สวนทางกับเศรษฐกิจโลก ที่ปี 2566 จะเติบโตได้ที่ 2.7% ชะลอตัวลงจากปี 2565 ที่ขยายตัวได้ที่ 3.2% ผลจากการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป เพื่อหยุดเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงลิ่วในปี 2565 นี้ให้ได้ จนสัญญาณภาวะเศรษฐกิจถดถอยเริ่มปรากฏ 


     
การประชุมคณะกรรมการเฟด เมื่อต้นเดือน พ.ย.2565 ที่ยังมีมติให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% เป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ เพื่อสะกัดเงินเฟ้อ แต่ในรายงานการประชุมที่เผยแพร่เร็ว ๆ นี้ ระบุ กรรมการเฟดส่วนใหญ่เห็นตรงกัน ว่าจะเริ่มชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จากที่ทีมนักเศรษฐศาสตร์ได้แจ้งเตือนว่า มีโอกาสสูงขึ้นเกือบ 50% ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ในช่วงใดช่วงหนึ่งของปี 2566

ขณะที่เศรษฐกิจจีนอาจไม่พื้นตัวร้อนแรงได้ตามที่คาดหวัง จากปัญหาหนี้สินภาคอสังหาริมทรัพย์ และการกลับมาระบาดของโควิด-19 รวมถึงการชะลอตัวการค้าโลกปี 2566 ที่จะเหลือ 2% จากที่เติบโตได้ 4% ในปี 2565 ด้านยูโรโซน ก็เผชิญกับภาวะเงินเฟ้อจากวิกฤตพลังงาน  


     
มีเพียงเรื่องการเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่ ที่ยังเป็นความไม่แน่นอนของปัจจัยภายในประเทศ ที่นักลงทุนอาจยังรอความชัดเจน ว่าเสถียรภาพการเมืองไทยจะมีแนวโน้มไปทางไหน นโยบายใหม่จะไปทางใด 


     
ภาคการเมืองต้องช่วยกันรักษาบรรยากาศ ให้การเลือกตั้งและรัฐบาลใหม่เป็นไปตามระบบ มีนโยบายที่ชัดเจนและมีคุณภาพ เพื่อให้ไทยฝ่าพายุเศรษฐกิจโลกนี้ไปได้ตลอดรอดฝั่ง