ไอ้เสือถอย! ไม่แบกวาทกรรม “ขายชาติ” เข้าสู่สนามเลือกตั้ง

09 พ.ย. 2565 | 00:00 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม

***หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3834 ระหว่างวันที่ 10-12 พ.ย.2565 โดย...กาแฟขม  


*** “เสือถอย” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ขอถอนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ร่างกฎกระทรวงการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าวตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การลงทุนโดยการดึงดูดคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย พ.ศ. … ใจความของกฎกระทรวงเรื่องนี้มีอยู่ว่า ต้องการดึงกลุ่มคนต่างด้าวที่มีศักยภาพสูงให้สามารถได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทยกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ โดยได้สิทธิไม่เกิน 1 ไร่ ใช้ปลูกบ้านอาศัย ในเขตกทม. เมืองพัทยา หรือเขตเทศบาล หรืออยู่ภายในบริเวณที่กำหนดผังเมือง โดยต้องเอาเงินมาลงทุนไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท แช่เงินไว้อย่างน้อย 3 ปี

*** ที่ต้องถอยเพราะถูกรุกกระหน่ำและเป็นเหยื่ออันโอชะในทางการเมืองไปแล้ว เมื่อมีการโยนวาทกรรม “ขายชาติ”ออกมา แน่นอนความเป็นชาตินิยม ปลุกง่าย ไม่ต้องพูดอะไรกันมาก แค่ตอกย้ำวาทกรรม “ขายชาติ” ”รัฐบาลขายชาติ”ก็ย่ำแย่กันทั้งบาง บาดแผลของความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ที่ดำรงคงอยู่และขยายถ่างกว้างขึ้นทุกวันๆ เมื่อถูกตอกย้ำขายชาติก็ไปไกล โดยไม่สนใจศึกษารายละเอียด ที่มา เหตุผล เปรียบเทียบ เทียบเคียงกับต่างประเทศเขาทำกันอย่างไร ในมุมที่มองว่าตึกสูงๆ ในนิวยอร์ค สหรัฐก็เป็นของญี่ปุ่น 100 % หลายตึก ไม่เห็นญี่ปุ่นจะขนตึกกลับไปทำอะไรได้ก็ถูก ขณะที่มุมมองสิ้นไร้ไม้ตอกกันแล้ว หรือ ถึงกับเอาแผ่นดินมาขายให้ต่างด้าวก็ไม่ผิด อยู่ที่การอธิบายและหาเหตุผลให้เป็นที่ยอมรับของ 2 ขั้วข้าง


*** แต่ที่เรื่องนี้จุดติดเร็ว จุดติดไว อาจเป็นเพราะปัญหาสั่งสม ๆ จากความไม่ไว้วางใจรัฐไทย ที่แทบไม่เคยไว้วางใจได้ โดยมักมีกลเม็ดซ่อนไว้เบื้องหลังเสมอ สืบเนื่องมาแต่ในอดีต กรณีเรื่องการทำสัญญากับคนต่าวด้าวท้าวต่างแดน มักมีเหตุให้เสียเปรียบเสมอ โดยคนไทยหรือผู้มีอำนาจรัฐ เปิดให้ 1 แต่จะมี 2-3 ตามมาเสมอ พักหลังจึงได้เห็นการทำสัญญาข้อตกลงอะไรก็ตาม มักถูกคัดค้านอย่างแข็งขันจากกลุ่มเอ็นจีโอ ภาคประชาชนเสมอ อย่างกรณีสัญญาข้อตกลงการค้าเสรี ที่การเจรจาแทบขยับอะไรไม่ได้เลย เพราะขาดความไว้วางใจไม่ได้จบลงแค่ 1 แน่ๆ ฉะนั้น ต้องคัดค้านไว้ก่อน หรือกระทั่งเรื่องนี้ตรงๆ ที่เกรงว่าจะไม่ได้ธุรกิจนำเงินลงทุน แต่กลับเต็มไปด้วยทุนสีเทา ทุนสีดำ เต็มบ้านเต็มเมือง นั่นเพราะความไม่ไว้วางใจรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐ จะปล่อยปละละเลยให้เกิดขึ้น

*** อันนี้ก็ท่าจะวุ่น เมื่อที่ประชุมบอร์ด กสทช. เลื่อนพิจารณาขอรับการสนับสนุนงบประมาณการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย(FIFA World Cup Final) 2022 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หรือ กกท. งบประมาณในการจัดซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 เป็นจำนวนเงิน 1,600 ล้านบาท ขอสนับสนุนใช้จากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ที่มีกว่า 2,000 ล้านบาท เดี๋ยวก็คงจะมีเสียงคัดค้านตามมา คณะนิเทศก์ศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิชาการสื่อได้ตั้งวงกันแล้ว ประเด็นปัญหาของเรื่องสืบเนื่องจากกฎ (Must Have)ที่ต้องได้ดูฟรี 1 ใน 7 มหกรรมกีฬาระดับโลกที่กำหนดออกมา เมื่อกำหนดเช่นนี้จึงไม่มีเอกชนวิ่งซื้อลิขสิทธิ์ เพราะยังไงก็ต้องมาถ่ายทอดให้ดูฟรีอยู่ดี จะไปทำกิจกรรมหรือเก็บค่าดูแบบเปย์ทีวีไม่ได้ 


เมื่อกฎนี้มีอยู่ ทางการก็ต้องเข้าไปรับภาระในการจัดการลิขสิทธิ์ และจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่มีกฎนี้ แต่พอไม่มีกฎนี้ เอกชนเจ้าของลิขสิทธิ์ ก็โขกสับผู้บริโภคจนเกินไป จนเข้าถึงได้ยาก เพราะฉะนั้นรัฐต้องจัดการให้เกิดความสมดุลให้ได้ แต่กรณีนี้พลิกดูย้อนหลัง กสทช.ก็ทำแค่ออกไปก่อนแล้วมาตั้งงบประมาณชำระกันทีหลังมิใช่หรือ (ผิดพลาดประการใดวานแถลงมา) ถ้าเป็นแบบนี้ ช่วยบอกที สมควรหรือไม่กับสุดท้ายต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเพื่อการนี้