การเมืองที่ไร้ทางออก ไม่มีทางเลือกใหม่ 

04 ส.ค. 2565 | 00:30 น.

คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี

หลังจากผมได้เขียนเรื่องคนอีสานจากอดีต-ปัจจุบัน กับทางเลือกใหม่ของการเมืองหลายตอนจนจบไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อนพ้องน้องพี่ ผู้อ่านแฟนประจำที่กรุณาติดตามอ่าน ต่างไต่ถามมาว่า อ่านแล้วยังมองไม่เห็นทางเลือกใหม่สำหรับคนอีสานเลย แต่ก็ชื่นชอบและได้ความรับรู้มาก ได้แต่ชื่นชมต่อบทบาททางการเมือง จุดยืนและอุดมการณ์การต่อสู้ของนักการเมืองอีสานในอดีต ที่ยืนหยัดทำหน้าที่ต่อสู้เพื่อประชาชนผู้ทุกข์ยากและผู้ด้อยโอกาสในสังคมอย่างเข้มแข็ง และเข้าใจเกียรติประวัตินักการเมืองอีสานในอดีต ที่มีความกล้าหาญ กล้าต่อสู้เสียสละเพื่อประเทศชาติและประชาชน โดยมิได้คำนึงถึงผลประโยชน์ส่วนตนหรือแม้กระทั่งชีวิตของตนเองแต่อย่างใด

 

แต่อย่างไรก็ตาม ผู้อ่านยังมองไม่เห็นทางเลือกใหม่ของการเมือง อันจะเป็นอนาคตใหม่สำหรับคนอีสาน จากบทความดังกล่าวที่ผมเขียนแต่อย่างใด

 

อันที่จริงผู้เขียนเองก็พยายามมองโลกในทางที่ดี และคาดหวังว่าสักวันหนึ่งคนอีสาน คงจะได้มีทางเลือกใหม่ๆ ทางการเมือง โดยไม่จมปลักอยู่กับการเมืองเก่าๆ ที่มาหลอกลวงใช้คนอีสานเป็นฐานการเมือง เพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง อย่างที่เห็นและอยู่ในปัจจุบัน เพราะเมื่อได้พบเห็นสภาพการณ์ทางการเมืองเช่นนั้น ปัญญาชนคนอีสานและผู้ที่รักในเกียรติและศักดิ์ศรีของคนท้องถิ่น ย่อมมิอาจทนรับได้ที่ได้เห็นนักการเมืองที่มิได้เห็นค่า และให้ความสำคัญกับพลังทางการเมืองของคนอีสาน แต่เมื่อทอดสายตามองไปยังพรรคการเมืองต่างๆ ที่มีบทบาทในภาคอีสานในปัจจุบันแล้ว ยังมิอาจจะบอกได้ว่าพรรคการเมืองใด คือทางเลือกใหม่ของคนอีสาน ที่จะมาเป็นธงนำการต่อสู้และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า 

จะว่าไปแล้ว ไม่เพียงแต่คนอีสานเท่านั้นที่ไม่มีทางเลือกใหม่ การเมืองในระดับประเทศก็ไร้ทางออก ไม่มีทางเลือกใหม่ใดๆ เช่นกัน การเมืองไทยยังคงวนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์อยู่เช่นเดิม นั่นคือ สลับกันไปมาระหว่างการเลือกตั้ง กับ การปฏิวัติ รัฐประหาร ยึดอำนาจ และมีการเลือกตั้งใหม่ ถ้าบ้านเมืองวุ่นวายไปไม่รอด รัฐประหารก็เกิดขึ้นอีก วนเวียนซ้ำซากไม่เลิก แม้ประชาชนเรือนแสนเรือนล้าน หรือนับหลายสิบล้านคน จะได้ออกมาแสดงพลัง เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมืองใหม่อย่างจริงจัง สุดท้ายบ้านเมืองก็ยังจมอยู่ในวังวนเดิมๆ ไม่แตกต่างจากอดีตที่ผ่านมา

 

เมื่อการเมือง การปฏิรูปประเทศไม่เกิดขึ้น ไม่มีความคืบหน้า หรือ การเปลี่ยนแปลงใดๆ การเมืองไทยจึงวนเวียนอยู่กับการแย่งชิงอำนาจรัฐ ช่วงชิงความได้เปรียบว่าใคร กลุ่มใด จะชนะในการเลือกตั้ง ได้เสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้ยาวนานที่สุดเท่านั้น โดยที่นักการเมืองที่เข้ามามีอำนาจแต่ละคน มิได้มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปทางการเมือง ปฏิรูปประเทศ ทำให้การเมืองเป็นการสร้างความสามัคคีคนในชาติ และทำให้การเมืองเป็นพลังสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนประเทศให้เจริญก้าวหน้าแต่อย่างใด

 

ถึงวันนี้ เหลือระยะเวลาอีกประมาณ 8 เดือน รัฐบาลลุงและสภาฯ ก็จะครบวาระ 4 ปี นักการเมืองปัจจุบัน ล้วนแต่คิดถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทุกพรรคต่างคิดถึงความได้เปรียบเสียเปรียบ อันเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ กติ เกี่ยวกับการเลือกตั้งที่จะใช้บังคับในการเลือกตั้งครั้งต่อไปที่จะเกิดขึ้น ต่างฝ่ายต่างถกเถียงและหาทางแก้ไขกฎหมายเพื่อประโยชน์ตน โดยมิเคยถามหรือฟังความเห็นประชาชนแต่อย่างใด

ทั้งที่อันที่จริงแล้ว รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ทั้งฉบับ ซึ่งรวมถึงหมวด 7 เกี่ยวกับ รัฐสภา ที่บัญญัติเรื่ององค์ประกอบของสภาผู้แทนราษฎรและหลักเกณฑ์การเลือกตั้ง การคำนวณหาจำนวน ส.ส. ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 ก็ดี ล้วนแต่ได้ผ่านการลงประชามติจากประชาชนทั่วประเทศมาแล้วทั้งสิ้น และหลักเกณฑ์การเลือกตั้งและการคำนวณจำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ได้สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน และมีความเป็นธรรมมากที่สุด เท่าที่รัฐธรรมนูญเคยบัญญัติไว้ เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าว ทำให้ทุกคะแนนของประชาชน ที่ไปใช้สิทธิออกเสียงเลือกผู้แทนและพรรคการเมือง ไม่ถูกทิ้งน้ำเสียเปล่า

 

ปัญหาคือ พรรคการเมืองบางพรรค ทำไมจึงต้องพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้มกฎเกณฑ์การเลือกตั้ง ล้มการคิดคำนวณจำนวน ส.ส.พึงมีตามรัฐธรรมนูญ ล้มล้างประชามติและเจตนารมณ์ของประชาชน เปลี่ยนแปลงจากจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต 350 คน แบบบัญชีรายชื่อ 150 คน มาเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน บัญชีรายชื่อเหลือ 100 คน

 

จากบัตรเลือกตั้งใบเดียวมาเป็นใช้บัตรสองใบ นี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหา

 

หากจะถามว่าใครกลัวเสียเปรียบ ใครอยากได้เปรียบ ใครล้มล้างประชามติกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็ต้องย้อนกลับไปดูเมื่อจุดเริ่มต้นของความกระสันอยากแก้รัฐธรรมนูญของพรรคการเมือง ปัญหาที่ถกเถียงกันและต้องแก้ไขไปมาจนหาข้อยุติยังไม่ได้ และไม่รู้จะไปจบสิ้นสุดเมื่อใดนี้ จึงเป็นเพียงปัญหาปลายเหตุ และถ้าหากปัญหานี้ต้องยืดเยื้อ ลากยาวไปจนครบวาระสภาฯ และทำให้รัฐบาลต้องอยู่ครบเทอม ก็เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่สร้างปัญหาขึ้นมาเอง จนหาจุดจบไม่ได้

การเมืองที่ไร้ทางออก ไม่มีทางเลือกใหม่ 

ภาพการเมืองไทยวันนี้ จึงปรากฏแต่เรื่องถกเถียง ชิงไหวชิงพริบ โชว์เล่ห์เหลี่ยมทางการเมือง ว่าใคร พรรคใด จะเป็นผู้กำหนดกฎเกณฑ์และทิศทางของกติกาการเลือกตั้ง นี่แหละการเมืองไทย ความคาดหวังที่จะได้เห็นนักการเมือง พรรคการเมือง คิดเรื่องการปฏิรูปการเมืองใหม่ ปฏิรูปประเทศ อย่างที่ประชาชนคาดหวังจะได้เห็น จึงเป็นเรื่องที่มิอาจเกิดขึ้น ทำให้นึกถึงสุภาษิตทางการเมือง ที่ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้กล่าวไว้คนแรกว่า "งาช้างย่อมมิอาจงอกออกมาจากปากสุนัข" ฉันใดฉันนั้น การจะคาดหวังทางเลือกใหม่ๆ ทางการเมือง จากนักการเมืองจึงเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขานั่นเอง

 

เมื่อมิตรสหาย และแฟนผู้อ่าน เพื่อนพ้องน้องพี่ที่รักเคารพ ถามหาทางเลือกใหม่สำหรับคนอีสาน ผมจึงยอมรับตามตรงว่ายังมองไม่เห็นครับ และถือโอกาสขอตอบแบบควบรวมไปเสียทีเดียวว่า ไม่เพียงคนอีสานจะไม่มีทางเลือกใหม่ใดๆ ของการเมืองเท่านั้น พี่น้องไทยทั้งประเทศวันนี้ ก็ยังไร้ทางออก และยังไม่มีทางเลือกใหม่ใดๆ ทางการเมือง คงมีแต่พรรคเกิดใหม่จำนวนมากให้เห็นแทบทุกวัน แต่จะเป็นพรรคทางเลือกใหม่ได้หรือไม่ ยังต้องใช้เวลาพิสูจน์ตนเองอีกนานครับ

 

เมื่อบ้านเมืองของเราตกอยู่ในภาวะเช่นนี้ ท่านทั้งหลายอาจต้องทำใจอยู่ให้เป็นเสียแล้วครับ เราอาจต้องอยู่กับทางเลือกเก่า ทำใจยอมรับในสิ่งที่มีอยู่และทำวันนี้ให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ปลอบใจตนเองและพี่น้อง รอพระสยามเทวาธิราชครับ หากโชคดีเราคงได้เห็นบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น อย่างเป็นไปเองแบบไทยๆ เหมือนที่เราอยู่มาได้อย่างทุกวันนี้