คนอีสานจากอดีต-ปัจจุบัน กับทางเลือกใหม่ของการเมือง (4)

13 ก.ค. 2565 | 07:12 น.

คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน โดย...ประพันธุ์ คูณมี


ในแผ่นดินอีสาน มีนักการเมืองที่ยิ่งใหญ่สมควรเป็นต้นแบบที่ดีทางการเมืองแก่อนุชนนักการเมืองรุ่นหลังมากมายหลายท่าน นอกจาก นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ที่ได้กล่าวถึงในตอนที่แล้ว ยังมีบุคคลที่สมควรจะได้กล่าวถึง ณ ที่นี้อีก เพื่อผู้อ่านและคนอีสานจะได้ปรับทัศนะของตน ในการพิจารณาเลือกสนับสนุนนักการเมือง ให้มีอำนาจและเข้ามาเพื่อปกครองบ้านเมือง เพื่อทำให้คนดีได้ทำงานรับใช้บ้านเมือง กีดกันคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจปกครองบ้านเมืองนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม

นายจำลอง ดาวเรือง เป็นนักการเมืองอีสานอีกคนหนึ่งที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับว่า เป็นนักการเมืองบุคคลสำคัญเมื่ออดีตของการเมืองยุคเริ่มต้นสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยเขาเป็นอดีต ส.ส.มหาสารคาม เข้าสู่การเมืองในช่วงปี พ.ศ.2480 ซึ่งแนวคิดของนักการเมืองผู้นี้ ได้สะท้อนจากการทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนราษฎรทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ 
 

จากคำอภิปรายของ นายจำลอง บนเวทีสภาฯ เขาได้ประกาศจุดยืนของตนอย่างแน่วแน่ว่า "ข้าพเจ้ามีเลือดนักสู้อย่างพร้อมบูรณ์ และเตรียมพร้อมทุกอย่างเพื่อการต่อสู้ และได้เรียนไว้ว่าจะสู้จนโลหิตหยดสุดท้าย ข้าพเจ้าจะต้องรักษาคำพูดประโยคนี้ไว้อย่างมั่นคง" แสดงให้เห็นว่านักการเมืองท่านนี้ มีความเด็ดเดี่ยวในการทำหน้าที่เพื่อประชาชน ยิ่งกว่าชีวิตของตน
 

 

สิ่งที่ทำให้ นายจำลอง เป็นที่ยอมรับคือ ความสามารถในการเสนอแนวคิดและการทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนประชาชนอย่างมีอุดมการณ์ เช่น แนวคิดท้องถิ่นนิยม ที่เขาเน้นนโยบายกระจายอำนาจและบทบาทให้กับชนบท ด้วยการลดทอนอำนาจของรัฐบาลกลาง อันเป็นแนวคิดที่ถูกต้องและได้รับการปฏิบัติเป็นแนวนโยบายแห่งรัฐมาถึงปัจจุบัน
 

ส่วนเรื่องการตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเขาก็โดดเด่น เช่น ถามเรื่องการเก็บเงินอากรค่านา เรื่องการชลประทาน และ เรื่องการศึกษา ที่รัฐบาลให้ความสำคัญแต่เฉพาะส่วนกลางเป็นหลัก ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ในภาคอีสานยังขาดการศึกษาและยากจนอย่างยิ่งเป็นจำนวนมาก
 

แนวคิดที่สำคัญคือ นายจำลอง ได้รวมกลุ่มทางการเมืองร่วมกับ ส.ส.อีสานทั้ง 3 คน เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะให้รัฐบาลหันมาเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเน้นว่า "ภาคอีสานนั้นเป็นพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ มีพื้นที่กว้างขวาง 1 ใน 3 ของประเทศ เหตุใดจึงไม่ได้รับการบำรุงมานานแล้ว"
 

ในสมัยรัฐบาลของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายจำลอง ดาวเรือง ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี (พ.ศ.2488) และเขาเป็นผู้มีส่วนผลักดันให้รัฐบาลเสนอกฎหมายอาชญากรสงครามเข้าสู่สภาและได้ประกาศใช้ สะท้อนให้เห็นถึงความห่วงใยต่อประเทศชาติ เพื่อใช้กฎหมายฉบับนี้เป็นมาตรการป้องกันมิให้ฝ่ายสัมพันธมิตร เข้ามาจับอาชญากรสงคราม ที่เป็นคนไทยในเขตประเทศไทย เท่ากับเป็นการปกป้องอธิปไตยทางศาลของไทยไว้ได้ ซึ่งถือเป็นผลงานสำคัญของคณะรัฐมนตรีในขณะนั้น

ในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี นายจำลอง เอาจริงเอาจังกับการตรวจสอบพฤติการณ์ข้าราชการที่เกี่ยวกับการทุจริตในหน้าที่ โดยทำหน้าที่เป็นตัวแทนรัฐบาลเดินทางไปราชการในภาคอีสานทั้ง15 จังหวัด เพื่อรับฟังปัญหาประชาชน และสืบสวนตรวจสอบในเรื่องนี้ แล้วนำปัญหามาแก้ไขให้กับประชาชนจนได้ผลเป็นอย่างดี ภายหลังเมื่อรัฐบาลเสนีย์สิ้นสุดลง กลุ่ม จอมพล ป.พิบูลสงคราม กลับมามีอำนาจอีกครั้ง เขากับพวกจึงถูกรัฐบาลทหารกำจัดออกจากเวทีการเมือง และถูกจับในข้อหากบถและถูกสังหารอย่างทารุณในวันที่ 4 มีนาคม 2492
 

นายจำลอง ดาวเรือง เป็นนักการเมืองที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชน ด้วยความซื่อสัตย์ เสียสละที่จะทำทุกอย่างเพื่อความผาสุกของประชาชน และความเจริญของประเทศชาติ ด้วยการวางพื้นฐานการปกครองในระดับท้องถิ่นจนสำเร็จและได้ส่งผลมาถึงปัจจุบัน จึงเป็นที่นายกย่องว่า นายจำลอง ดาวเรือง เป็นนักการเมืองที่ไม่ได้ใฝ่ฝันในทางสร้างฐานะเพื่อตัวเองและครอบครัวแต่อย่างใด ดังคำพูดของเขาตอนหนึ่งว่า "ข้าพเจ้ามอบ ข้าพเจ้าอุทิศร่างกายความคิดเห็น ข้าพเจ้ายอมอุทิศมันสมองทุกส่วนเพื่อประเทศชาติ และเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอย่างจริงใจ  ชีวิตข้าพเจ้าเป็นนักการเมืองจริงๆ" คำพูดของเขาดังกล่าว บ่งบอกให้รู้ว่า นักการเมืองลูกอีสานผู้นี้ เป็นผู้ทำงานให้บ้านเมืองโดยแท้จริงตราบจนสุดท้ายของชีวิต
 

อีกท่านหนึ่งคือ นายถวิล อุดล อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด เป็นนักการเมืองอีสานร่วมอุดมการณ์กับนายทองอินทร์, นายจำลอง และ นายเตียง ด้วยบทบาทและแนวคิดทางการเมืองที่แน่วแน่ ดังที่เขาได้กล่าวไว้ว่า "การต่อสู้ของข้าพเจ้าก็คือ เงินที่เก็บจากราษฎร เป็นเลือดเนื้อของราษฎร เก็บมาจ่ายไป ก็เพื่อเลือดเนื้อของราษฎร"
 

นายถวิล เป็นผู้มีแนวคิดท้องถิ่นนิยม และ เสรีนิยม เช่นเดียวกันกับ ส.ส.อีสานอีก 3 ท่าน ที่มีแนวคิดมุ่งมั่นพัฒนาท้องถิ่นภาคอีสาน แก้ปัญหาความยากจน สร้างภูมิภาคให้มีความเจริญก้าวหน้าตามอุดมการณ์ของตน ตามปณิธานที่ว่า "จะทำงานให้แก่ประเทศชาติ และมาตุภูมิด้วยความเสียสละ เพื่อประโยชน์ของชาติ ของท้องถิ่นยิ่งกว่าชีวิตของตนเอง" ซึ่งหายากและมีน้อยมากสำหรับนักการเมืองยุคปัจจุบัน ที่จะมีอุดมการณ์เช่นนี้
 

ผลงานชิ้นหนึ่งของนายถวิล ที่ยังคงปรากฏผลถึงปัจจุบันคือ การเสนอร่างพระราชบัญญัติเทศบาล (พ.ศ.2480) ซึ่งยังมีผลบังคับใช้โดยมีการปรับปรุงมาถึงยุคสมัยนี้
 

นายถวิล อุดล ได้ร่วมเคลื่อนไหวในขบวนการเสรีไทยร่วมกับเพื่อนสมาชิก คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์, นายเตียง ศิริขันธ์ และ นายจำลอง ดาวเรือง และอีกหลายท่านที่มีแนวคิดเพื่อร่วมต่อต้านนโยบาย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ในการเข้าร่วมสงครามกับฝ่ายญี่ปุ่น โดย นายถวิล ได้รวบรวมญาติ ผู้ใกล้ชิด หรือ เพื่อนสนิทในจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมกับทำหน้าที่ให้ความรู้เกี่ยวกับแนวคิดทางการเมือง แนวคิดเรื่องเอกราช และแนวคิดการต่อต้านญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 
 

โดย นายถวิล ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปจุงกิง ประเทศจีน (พ.ศ.2487) วัตถุประสงค์เพื่อติดต่อรัฐบาลจีน เกี่ยวกับการดำเนินงานใต้ดินต่อต้านญี่ปุ่น และขณะปฏิบัติภารกิจในจีน ถวิลได้ทำหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเชลยศึก 5 คน ซึ่งคนไทยในจุงกิง ขณะนั้นถูกบีบบังคับทางจิตใจ จนจะทำให้คนไทยกับคนไทยทะเลาะกัน หรือ ทำให้คนไทยกับคนจีนทะเลาะกัน
 

นอกจากนี้ ถวิล ยังมีภารกิจในการเจรจาเรื่องสถานะของกองทัพไทย ในเชียงตุง และภาคพายัพ การเจรจาดังกล่าว มีผลให้ขบวนการเสรีไทยได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายพันธมิตรและกลุ่มเสรีไทยนอกประเทศในด้านกำลังคนและยุทธภัณฑ์ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือการดำเนินงานของเสรีไทยสายอีสาน โดยจีนให้ความช่วยเหลือด้านอุปกรณ์สื่อสาร การเดินทางไปจีนของถวิล ส่งผลดีต่อการปฏิบัติงานของเสรีไทย โดยได้รับความช่วยเหลืออย่างดีจากจีน 
 

หลังจากกลับจากจีน ถวิลยังได้รวบรวมสมาขิกเสรีไทย สร้างสนามบินลับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายไปถึง 14 แห่ง เพื่อติดต่อกับฝ่ายพันธมิตรและต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งล้วนเป็นการแสดงออกถึงความจริงใจ เสียสละต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติ บทบาทดังกล่าว ทำให้นักการเมืองแกนนำสายอีสาน ได้รับการยอมรับและกล่าวถึงจารึกไว้ในประวัติศาสตร์
 

กล่าวได้ว่า แนวคิดและบทบาททางการเมืองของ นายถวิล อุดล ได้แสดงออกถึงความเสียสละ ความกล้าหาญ เพื่อประเทศชาติและประชาชนโดยแท้จริง เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักการเมืองลูกอีสานสืบต่อมาตราบปัจจุบัน