“ศักดิ์สยาม”ซุกหุ้น? รอดคดีหรือไม่?

23 ก.ค. 2565 | 00:45 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ผู้คนอาจหลงลืมไปแล้วว่า จริยธรรม ข้อห้ามของนักการเมืองในการปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ผ่านกรรมวิธีซุกหุ้นนั้น ผลออกมาเป็นเช่นไร! 


กระทั่งการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เมื่อ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ว่า ศักดิ์สยาม ปกปิดทรัพย์สินของตัวเองในส่วนที่เป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ

ในการอภิปราย มีการไล่เรียงลำดับเหตุการณ์ว่า หจก.บุรีเจริญ ก่อตั้งในปี 2539 โดยมีตระกูลชิดชอบ ถือหุ้น 80% และที่ตั้งสำนักงานก็คือ บ้านของ นายศักดิ์สยาม และเมื่อมีตำแหน่งทางการเมือง ก็ได้ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น หจก.ทั้งหมด และย้ายสำนักงานไปที่อื่น พอยุค คสช. ศักดิ์สยาม ก็กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นเกือบทั้งหมดของ บุรีเจริญ ในปี 2558 โดยเพิ่มทุนเป็น 120 ล้านบาท และย้ายที่ตั้งสำนักงานมาที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง


จนเมื่อปี 2561 ที่มีการเลือกตั้ง นายศักดิ์สยาม ก็โอนหุ้นทั้งหมดไปให้ นอมินี ในวันรุ่งขึ้นทันที และย้ายที่ตั้งสำนักงานบุรีเจริญออกจากบ้านของตัวเอง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรีเพียง 23 วัน

คำถามคือ นี่เป็นเพียงการเปลี่ยนชื่อคนถือหุ้นให้ลูกจ้างมาเป็นนอมินี หรือมีการซื้อขายหุ้นกันจริง! 


เพราะไม่พบหลักฐานว่า มีการชำระเงินค่าหุ้นกันจริง หากมีการซื้อขายกันจริง ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายต่ำกว่า สูงกว่าราคาทุนที่ 120 ล้านบาท นายศักดิ์สยาม หรือ ผู้ถือหุ้นคนใหม่ จำเป็นต้องยื่นมูลค่าหุ้นส่วนเกินเป็นรายได้ เพื่อเสียภาษี 


หากซื้อขายเท่ากับราคาทุน นายศักดิ์สยาม ก็ต้องแจ้งเงินได้จากการขายหุ้นต่อ ป.ป.ช. แต่ก็ไม่ปรากฏเงินก้อนนี้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่น ป.ป.ช. ในปี 2562


นายปกรณ์วุฒิตั้งคำถามว่า นอกจากจะซุกหุ้นแล้ว นายศักดิ์สยาม ยังนำ หจก. บุรีเจริญ มาเป็นคู่สัญญากับรัฐ รับงานในกระทรวงคมนาคมที่ตัวเองเป็นรัฐมนตรีมูลค่าหลายพันล้านบาท   


ประเด็นการซุกหุ้นของนักการเมืองจึงร้อนฉ่าขึ้นมาทันที….เพื่อให้เข้าใจเรื่องการซุกหุ้น ผมพาทุกท่านย้อนเวลาหาอดีต!


3 ส.ค. 2544 ถือเป็นวันประวัติศาสตร์ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตรัฐมนตรีพ้นความผิดในคดี “ซุกหุ้น” ด้วยมติเฉียดฉิว 8 ต่อ 7 เสียง  

 
“คดีซุกหุ้นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. 2543 เมื่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดที่มีนายโอภาส อรุณินท์ อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน ลงมติด้วยคะแนน 8 ต่อ 1 ว่า “ทักษิณ ชินวัตร”’ จงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ และยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญปี 2540  
     

ต่อมาวันที่ 18 ม.ค.2544 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องของ ป.ป.ช.ไว้พิจารณา หลังจากนั้นกระบวนการไต่สวนคดีด้านเอกสารสำนวนและสืบพยานก็ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง  


ทางฝ่าย ป.ป.ช. มี “แกนหลัก” ในการต่อสู้ทางคดี คือ นายกล้านรงค์ จันทิก เลขาธิการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น   


ขณะที่ “ทักษิณ” ต้องเปลี่ยนทนายหลายชุด จนในที่สุดมีทนายหลัก 3 คน ที่เป็นหลักในการต่อสู้ “วิชัย ทองแตง-ผดุงพันธ์ จันทโร-พิชิฏ ชื่นบาน” เพื่อรับมือกับลีลาการซักถามแบบถึงลูกถึงคนจาก “กล้านรงค์” 


ตอนนั้น นายกล้าณรงค์ และอนุกรรมการ ป.ป.ช.ได้ทำการตรวจสอบแบบลงลึกแล้วพบว่า ระหว่างปี 2535, 2536 และ 2539 “ทักษิณ” มีการโอนหุ้นในบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟเซอร์วิส จำกัด (เอไอเอส.) บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น จำกัด (ยูคอม) ไปไว้ในชื่อคนรับใช้ในชื่อของ“วิชัย ช่างเหล็ก”คนขับรถ "บุญชู เหรียญประดับ- ชัยรัตน์ เชียงพฤกษ์-ดวงตา วงศ์ภักดี" ราว 11,000-15,000 ล้านบาท เป็นการปกปิดอำพราง  


ทักษิณยังมีการโอนหุ้นชินคอร์ป 103 ล้านหุ้น ให้แก่ นายพานทองแท้ ชินวัตร นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 ในราคาหุ้นละ 10 บาท จากราคาตลาดหุ้นละ 150 บาท ทำให้มีส่วนต่างราคาหุ้นเกิดขึ้น เป็นรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยไม่มีการจ่ายเงินกันแม้แต่สลึงเดียว


นี่คือปมที่ทำให้เกิดข้อสงสัยว่า มีการรซิ้อขายหุ้นกันจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงเจตนาลวง 

 
ในการศึกสงคราม ไม่หน่ายซึ่งกลยุทธ์และเล่ห์กลฉันใด การต่อสู้ทางคดีนี้ก็เป็นฉันนั้น!

 
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับ....ทีมทนายความฝ่าย “ทักษิณ” ต้องเปิดเกมรุกด้วยการงัดไม้ตายออกมาถึงขั้นต้องเชิญ “ประสิทธิ์ ดำรงชัย” อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  1 ในกรรมการ ป.ป.ช.ในขณะนั้น และเป็นกรรมการเสียงข้างน้อย มาเบิกปากเป็นพยานและให้ปากคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ  


สังคมอ้าปากค้างกัน เมื่อ “ประสิทธิ์ ดำรงชัย” กรรมการป.ป.ช.เบิกปากในฐานะพยานสนับสนุนทักษิณเต็มร้อย และยืนยันว่า “ทักษิณ”  ไม่น่าจะจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน! 


คดีนี้มีการต่อสู้ในพยานหลักฐาน ต้องบอกว่าสู้กันหนักหน่วง จนกระทั่งวันที่ 18 มิ.ย. 2544 “ทักษิณ” ได้ถูกแรงกดดันอย่างหนักจากภาคประชาสังคม สื่อมวลชน จนเลี่ยงไม่ได้ต้องเข้าแถลงต่อศาลรัฐธรรมนูญด้วยตัวเอง


ปรากฏว่า “ทักษิณ’” นั่งยันนอนยันว่า การให้คนอื่นถือหุ้นแทน เป็นไปตามหลักของธุรกิจและถือเป็นเรื่องปกติในทางธุรกิจ 


ส่วนปัญหาที่เกี่ยวกับกฎหมายนั้นก็เป็นเรื่องของ “การกรอกแบบฟอร์ม” ย้ำนะครับว่าเป็นความผิด ความบกพร่องในเรื่องของการกรอกแบบฟอร์มในการแจ้งทรัพย์สินที่ไม่ครบถ้วนชัดเจน  


ขนาดผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ในขณะนั้นยังเปิดโต๊ะชี้แจงกับนักข่าวว่า เป็นการ “ติ๊กผิด”จนฮือฮาไปทั่วเมือง


การเบิกความคดีต่อสู้กันถึงขนาดมีการยกคำพูดในการชี้แจงเจตนารมณ์อันสะท้านปฐพีในทางการ ให้การคดีความของประเทศและกระบวนการพิจารณาคดีว่า การกระทำของตัวเอง และ คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ภรรยา ถือว่า “เป็นความบกพร่องโดยสุจริต” 


การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญตอนนั้น มีกระแสกดดันของสังคม 2  กระแส “กระแสกลุ่มคนที่หนุนทักษิณ”กดดันขนาดว่าให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไปเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ กับอีกฝ่ายที่รับไม่ได้กับจริยธรรมของนักการเมืองและมีการปกปิดบัญชีทรัพย์สินของนายกรัฐมนตรี  


จนวันที่ 3 ส.ค. 2544 ซึ่งเป็นวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 15 คน ลงมติคำวินิจฉัยกลาง  ผลการลงคะแนน มติของศาลรัฐธรรมนูญออกมาเป็น 8 ต่อ 7 เสียง ทำให้ “ทักษิณ” พ้นผิดในคดีซุกหุ้นไปแบบหวุดหวิด 


ตุลาการเสียงข้างมาก 8 เสียงเห็นว่า ไม่ได้กระทำการปกปิด หรือ ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ตามมาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ  


บันทึกของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่วินิจฉัยว่า ทักษิณไม่มีเจตนาปกปิดทรัพย์สิน 8 คน  ประกอบด้วย นายกระมล ทองธรรมชาติ นายอนันต์ เกตุวงศ์  พล.ท จุล อติเรก  นายปรีชา เฉลิมวณิชย์ นายผัน จันทรปาน นายศักดิ์ เตชาชาญ นายจุมพล ณ สงขลา และนายสุจินดา ยงสุนทร 


ตุลาการรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย 7 คน ที่วินิจฉัยว่า ทักษิณจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินฯ ประกอบด้วย นายประเสริฐ นาสกุล นายอมร รักษาสัตย์ นายสุจิต บุญบงการ นายมงคล สระฏัน นายสุวิทย์ ธีรพงษ์ นายอุระ หวังอ้อมกลาง และ นายอิสสระ นิติทัณฑ์ประภาศ


และหากใครไปตรวจสอบการลงมติจะพบว่าพิลึกพิลั่นที่สุด เนื่องจากในการลงมติ 8:7  เสียงนั้น 


ตุลาการ 7 เสียงข้างน้อย ลงมติชัดเจนว่า “ทักษิณจงใจที่จะปกปิดบัญชีทรัพย์สินหรือจงใจซุกหุ้น” 


     

มีตุลาการเพียง 4 เสียงเท่านั้น ที่วินิจฉัยและลงมติว่า ทักษิณ ไม่จงใจซุกหุ้น และมีตุลาการอีก 4 เสียง กลับไม่ได้พิจารณาในข้อเท็จจริงว่า ทักษิณจงใจซุกหุ้นหรือไม่ เพียงแต่ตุลาการ 4 คน อ้างว่า มาตรา 295 ของรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถบังคับใช้กับทักษิณได้ เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ก่อนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน 


จึงมีการนำเสียงตุลาการที่พิพากษาว่า มิได้จงใจซุกหุ้น 4 เสียง มาบวกกับอีก 4 เสียง ชนะคดีไปแบบหวุดหวิด  8 เสียง 


คำตัดสินคดีของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จึงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงที่สุด 


แม้จะรอดจากซุกหุ้นคนใช้ คนรถ แต่ “ทักษิณ” กลับมาเจอจุดจบในเรื่องการขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก และมีการขายหุ้นบริษัท แอมเพิล ริช ออกไปให้ นายพานทองแท้ น.ส.พิณทองทา ในราคาหุ้นละ 1 บาท ก่อนจะขายหุ้นชินคอร์ปออกไปในราคาหุ้นละ 179 บาท 


ทั้งนี้ ทักษิณเริ่มโอนหุ้นชินคอร์ปออกไป 32.9 ล้านหุ้นให้แก่บริษัท แอมเพิช ริช อินเวสต์เม้นท์ จำกัด มาตั้แต่ปี 2542 -2549 โดยระบุ "ขายในตลาดหลักทรัพย์" ในราคา 10 บาท แต่จากข้อเท็จจริงพบว่า เป็นการซื้อขายนอกตลอด


เมื่อจะขายหุ้นให้เทมาเส็ก  ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน จึงมีการขายหุ้นชินคอร์ป 103 ล้านหุ้นให้แก่ นายพานทองแท้ นายบรรณพจน์ และ นางสาวยิ่งลักษณ์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 กว่า 100 ล้านหุ้น รวมถึงกรณีที่บริษัท แอมเพิล ริช ขายหุ้นชินคอร์ปในราคา 1 บาท/หุ้น ให้แก่นายพานทองแท้ และ น.ส.พิณทองทา เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2549   
     

สุดท้ายศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัดสินให้ยึดทรัพย์ “ทักษิณ” แล้ว และยังถูกกรมสรรพากร ตามไปอายัดทรัพย์สินของ นายพานทองแท้ และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร (โอ๊ค-เอม) อีก 12,000 ล้านบาท แต่มาทั้งคู่ได้นำคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ไปต่อสู่ในศาลภาษีอากรกลางจนชนะคดี เพราะศาลฎีกาตัดสินว่า พานทอแท้-พิณทองทา ไม่ใช่เจ้าของหุ้นชินคอร์ปฯ ตัวจริง ทำให้ต้องถอนอายัดทรัพย์สินคืนให้กับ “โอ๊ค-เอม” แต่ยึดทรัพย์ทักษิณในส่วนที่เหลือ


รอลุ้นซุกหุ้นภาค 2 ในยุคนี้จะเป็นเช่นไร