บัฟเฟตต์เปลี่ยนไป ?

10 เม.ย. 2565 | 00:59 น.

โลกในมุมมองของ Value Investor โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนหุ้นคุณภาพ

บัฟเฟตต์เปลี่ยนไป ?

 

ในระยะหลัง ๆ นี้  มักมีข่าวการซื้อหุ้นของเบิร์กไชร์แฮทธาเวย์ซึ่งบัฟเฟตต์เป็นผู้บริหารหลักในการลงทุนซื้อขายหุ้น ที่นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า  “เปลี่ยนไป” เฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  มีการซื้อหุ้นที่ไม่ใช่แนว “Value” ดั้งเดิมที่เป็นสไตล์ของบัฟเฟตต์

 

เช่น  ต้องเป็นหุ้นที่ขายสินค้าผู้บริโภคที่มียี่ห้อโดดเด่น  มีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ยั่งยืน  เป็นธุรกิจทางด้านการเงินเช่น แบงก์หรือบริษัทประกันภัยที่มีลูกค้าที่มั่นคงและคาดการณ์ได้ด้วยสถิติ  และธุรกิจพลังงานที่เป็นสิ่งจำเป็น มั่นคงและคาดการณ์ได้ เป็นต้น
.

การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวถึงก็คือ  มีการซื้อหุ้นของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับดิจิทัลหรือไฮเท็คที่บัฟเฟตต์ไม่คุ้นเคยและเคยบอกว่า  “คาดการณ์ได้ยาก” และเปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก  หรือการลงทุนในธุรกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีราคาเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เช่น  ปิโตรเลียมหรือน้ำมัน  เป็นต้น  แต่นั่นเป็นเรื่องจริงหรือ?  มาลองดูกัน  ย้อนหลังไปซัก 5-6 ปี ที่แล้วที่บัฟเฟตต์เริ่มซื้อหุ้นแอปเปิล

 

ประมาณช่วงปี 2016 ถึง 2018  บัฟเฟตต์ซื้อหุ้นแอปเปิล  ใช้เงินประมาณ 36,000 ล้านเหรียญ และคิดเป็นประมาณ 5.4% ของหุ้นแอปเปิล และประมาณ 45% ของพอร์ตของเบิร์กไชร์ในวันนี้  ซึ่งถึงวันนี้ก็กำไรไปประมาณ 120,000 ล้านเหรียญ หรือ 3.3 เท่าในเวลาประมาณ 5 ปี  

 

สำหรับบัฟเฟตต์แล้ว  นี่ไม่ใช่เรื่องของการลงทุนซื้อขายหุ้น  แต่มันคืออีกธุรกิจหนึ่งของเขาเช่นเดียวกับหุ้นอย่างโค๊กหรือประกันภัยอย่าง General Re และอีกหลายบริษัท  เพราะเขาคือผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดของแอปเปิล  และนี่ก็คือแนวความคิดในการลงทุนของบัฟเฟตต์มานานหลายสิบปีแล้วที่  “ไม่เคยเปลี่ยน”
 

คนที่คิดว่าเปลี่ยนนั้น คงมองในแง่ของธุรกิจว่าบัฟเฟตต์ไม่เข้าใจและไม่เคยชอบเทคโนโลยีหรือดิจิทัลนั้น  จริง ๆ  แล้วน่าจะเป็นความเข้าใจผิด  สิ่งที่บัฟเฟตต์ไม่ชอบก็คือความไม่แน่นอนของธุรกิจ  ซึ่งหุ้นไฮเท็คหรือดิจิทัลส่วนใหญ่มักจะมีการเปลี่ยนแปลงเร็ว  

 

อย่างไรก็ตาม  ธุรกิจไฮเท็คและดิจิทัลที่อยู่มานานและเติบโตเกือบเต็มที่แล้วนั้น  มักจะมีความมั่นคงและมีการเปลี่ยนแปลงน้อยแล้วจึงอยู่ในวิสัยที่บัฟเฟตต์จะลงทุนได้  บัฟเฟตต์เองดูว่าหุ้นแอปเปิลอยู่ในจุดนั้นแล้ว  และมันได้กลายเป็นหุ้นสินค้าผู้บริโภคที่โดดเด่นและราคาก็ไม่แพงเลยในวันที่เขาซื้อ

 

เมื่อปีที่แล้ว  บัฟเฟตต์ซื้อหุ้นของ Nubank ของประเทศบราซิล  ซึ่งเป็นแบงก์ที่เน้นดิจิทัลเป็นหลักที่เติบโตเร็วมากและเป็นแนวสตาร์ทอัพด้วย  เขาลงทุนทั้งตอนที่บริษัทยังไม่เข้าตลาดแบบที่เป็น Private Equity และตอนที่ทำ IPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คิดเป็นเงินรวมกันประมาณ 7-800 ล้านเหรียญ  นี่ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่บัฟเฟตต์ไม่เคยทำ  คนบอกว่า  “เขาเปลี่ยนไป”

 

แต่ผมเองมองว่า  เขาอาจจะไม่ได้เป็นคนตัดสินใจเรื่องนี้  เพราะในช่วงหลัง ๆ  บัฟเฟตต์เริ่มปล่อยให้ทีมงานเป็นคนตัดสินใจลงทุนโดยเฉพาะในดีลที่ไม่ใหญ่มากนัก เช่น  ไม่เกิน 1,000 ล้านเหรียญ  นอกจากนั้น  กรณีของ Nubank เองจะเรียกว่าเป็นบริษัทไฮเท็คดิจิทัลก็ไม่น่าจะได้  เพียงแต่แบงก์ใช้ “เครื่องมือ” ดิจิทัลมาทำธุรกิจแบงก์ซึ่งเป็นธุรกิจที่มั่นคงคาดการณ์ได้  และอาจจะทำให้มี “ความได้เปรียบทางการแข่งขัน” ซึ่งก็จะเข้าเกณฑ์ของบัฟเฟตต์ทุกประการ 

 

ดังนั้น  บัฟเฟตต์ไม่ได้เปลี่ยน  แต่ปรับความคิดได้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปมากกว่า  อย่างไรก็ตาม  กรณีนี้หุ้น  Nubank ก็ยังไม่ไปไหน  แถมราคาตลาดยังต่ำกว่าราคาจองด้วยซ้ำ
 

พูดถึงเรื่องดิจิทัลและไฮเท็คแล้ว  ผมก็ยังจำได้ว่า  เมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว บัฟเฟตต์ได้เข้าซื้อหุ้น IBM ที่ครั้งหนึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของโลกคอมพิวเตอร์ของอเมริกาและของโลก  อย่างไรก็ตาม  วันที่บัฟเฟตต์ซื้อหุ้น IBM ด้วยเงินถึง 12,000 ล้านเหรียญ ที่ถือว่าใหญ่มากในวันนั้น  เขาไม่ได้ซื้อเพราะว่ามันเป็นเท็ค 

 

แต่เขาซื้อเพราะว่า IBM นั้นโตจนอิ่มตัวและคอมพิวเตอร์ก็เริ่มเป็นเครื่องมือธรรมดาที่ทุกธุรกิจจะต้องใช้  และ IBM ก็เข้าไป “ให้บริการ” งานคอมพิวเตอร์ทั้งหมดแบบ In-house ถึงที่  ซึ่งทำให้รายได้และกำไรมาอย่างสม่ำเสมอมั่นคงเหมือนกับงานบริการอื่น ๆ ที่ลูกค้าไม่หนีไปไหน
.

เมื่อเดือนที่แล้ว  บัฟเฟตต์ได้เข้าซื้อหุ้น Occidental Petroleum กว่า 10% คิดเป็นเงินประมาณ 36,000 ล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่ใหญ่มากและแน่นอนว่าต้องเป็นการตัดสินใจของบัฟเฟตต์ซึ่งก็ทำให้หุ้นปรับตัวขึ้นไปถึง 30%  คนก็พูดกันว่าบัฟเฟตต์เปลี่ยนไปหรือเปล่าเพราะไปเล่นหุ้นน้ำมันที่มักจะผันผวนรุนแรงมาก  ไม่ใช่สไตล์ของบัฟเฟตต์  แต่นี่ไม่ใช่เรื่องจริง 
.

จริง ๆ แล้วบัฟเฟตต์มักจะ “ซื้อหุ้นถูกมาก ๆ” โดยเฉพาะที่มีขนาดใหญ่พอให้ลงทุนได้อย่างมีนัยสำคัญ ในยามที่เขามีเงินสดเหลือมาก ๆ อย่างในช่วงเวลานี้     ซึ่งหุ้น Occidental น่าจะเข้าข่ายเพราะมีค่า PE ประมาณแค่ 12 เท่า  และเขาคงเห็นแล้วว่าราคาน้ำมันคงจะอยู่สูงต่อไปอีกนานพอสมควรเมื่อเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน  

 

ผมเชื่อว่าเขาคงจะขายไปเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปหลังจากนี้  และนี่ก็คงคล้าย ๆ  กับการซื้อหุ้น PetroChina ของจีน ประมาณเกือบ 20 ปีที่แล้วด้วยเม็ดเงิน 400 ล้านเหรียญ ที่ค่า PE ประมาณ 3-4 เท่า  และเขาขายมันไปอย่างรวดเร็วเมื่อหุ้นวิ่งขึ้นไปแรงมากส่วนหนึ่งเพราะบัฟเฟตต์เข้าไปซื้อ  ซึ่งทำกำไรให้กับเบิร์กไชร์ไม่ต่ำกว่า 5-6 เท่าในเวลาแค่ 3-4 ปี
.

ล่าสุดคือเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  บัฟเฟตต์ได้เข้าซื้อหุ้น HP บริษัทผู้นำสินค้าพริ้นเตอร์และคอมพิวเตอร์ด้วยเม็ดเงินประมาณ 4,200 ล้านเหรียญได้หุ้นมาประมาณ 11.5% และก็เช่นเคยคือ ทำให้หุ้นวิ่งขึ้นไปทันทีประมาณ 15%  และก็เช่นกันที่นักวิเคราะห์และผู้ติดตามบัฟเฟตต์พูดกันอีกว่าบัฟเฟตต์กำลังเปลี่ยนไปเล่นหุ้นเทคที่ “ไม่เคยทำมาก่อน” 
.

สำหรับผมแล้ว  หุ้น HP ที่เคยยิ่งใหญ่มากในฐานะที่เป็นหุ้นคอมพิวเตอร์เทคโนโลยีนั้น  หมดสภาพของการเป็นหุ้นเทคอย่างที่เราพูดกันในวันนี้นานมากแล้ว  หุ้น HP ในวันนี้ก็อาจจะคล้าย ๆ  กับแอปเปิลในแง่ที่ว่ามันเป็นสินค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่คนใช้กันเป็นปกติ  คนซื้อก็ไม่ได้เน้นในเรื่องของเทคโนโลยีมากนัก  มันเป็นเรื่องของความจำเป็นที่ต้องใช้และความสะดวกคุ้นเคยและความไว้ใจได้  อาจจะรวมไปถึงความเท่ของคนที่ใช้มัน  เป็นต้น  

 

นอกจากนั้น  ความมั่นคงของยอดขายและกำไรก็สามารถที่จะนำไปใช้ประเมินราคาหุ้นได้ไม่ยาก  ดังนั้น  สำหรับผมแล้ว  นี่ก็คือสินค้าอีกตัวหนึ่งที่คล้าย ๆ  กับสินค้าอย่างโค๊กหรือซอสมะเขือเทศไฮน์ ที่บัฟเฟตต์ชอบลงทุนเมื่อราคาหุ้นถูกหรือสมเหตุผล  รวมถึงการที่มันมีขนาดใหญ่พอที่จะซื้อเมื่อเทียบกับเงินสดในพอร์ตลงทุนของเบิร์กไชร์ในขณะนี้ที่มีถึง 150,000 ล้านเหรียญหรือประมาณเกือบ 5 ล้านล้านบาท
.

นอกจากหุ้น HP แล้ว  ในเดือนที่แล้วบัฟเฟตต์ยังได้ซื้อหุ้นประกันภัย Alleghany จำนวน 11,600 ล้านเหรียญเข้ามาอยู่ใน “ครอบครัวหุ้นประกันภัย” ที่มีอยู่ไม่รู้กี่บริษัท  และนี่ก็คือธุรกิจที่เก่าแก่ที่สุดและเป็นธุรกิจที่เป็น “ฐานของทุน”  ของบัฟเฟตต์ในการขยายอาณาจักรของเบิร์กไชร์เนื่องจากบริษัทประกันนั้นจะมีเงินสดหรือ Float ที่บริษัทประกันจะได้รับเบี้ยประกันล่วงหน้าและจะจ่ายเคลมประกันในภายหลัง  ซึ่งทำให้มีเงินสด “ลอย” อยู่เต็มไปหมดที่บัฟเฟตต์จะสามารถนำไปลงทุนได้โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ย
.

จากการลงทุนซื้อหุ้นทั้งหมดที่กล่าวถึงจะเห็นได้ว่า  สิ่งที่บัฟเฟตต์ทำเมื่อหลายปีที่ผ่านมานั้นจนถึงวันนี้  ไม่ได้เปลี่ยนจากสิ่งที่เขาทำมาหลายสิบปี แนวความคิดหรือกลยุทธ์หลักของเขาไม่เคยเปลี่ยนแปลงนั่นก็คือ  เป็นแนว VI ที่อาจจะเป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกหรือหุ้นที่มีราคาถูกมากและมี Margin of Safety เหลือเฟือ  ซื้อแล้วถือยาว  “ตลอดชีวิต” ถ้าเป็นซุปเปอร์สต็อก  หรือยาวจนกว่าราคาหุ้นจะวิ่งไปถึงมูลค่าที่ควรเป็น  

 

โดยที่หุ้นหรือบริษัทเป้าหมายนั้น  ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยและก็ไม่ได้จำกัดว่าจะเป็นหุ้นธรรมดาหรือหุ้นไฮเท็ค  หรือจะเป็นหุ้นโภคภัณฑ์หรือไม่ใช่  และแม้แต่หลักทรัพย์แนว Token หรือเหรียญที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน นั้น  ถ้าหากมีเหตุผลเชิงธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้และกำไรหรือมีเหตุผลในด้านของการใช้สอยที่เป็นประโยชน์  

 

และที่สำคัญที่สุดสามารถประเมินถึงมูลค่าได้อย่างมีความแน่นอนระดับหนึ่ง ผมก็คิดว่าบัฟเฟตต์ก็อาจจะลงทุนได้  แม้ว่าในวันนี้กลุ่มคนที่เล่นเหรียญชื่อดังอย่าง Peter Thiel กูรูนักลงทุนไฮเท็คสตาร์ทอัพเบอร์ต้น ๆ  ของโลกจะบอกว่าบัฟเฟตต์ คือคนแก่ที่ขวางโลกและเป็นศัตรูหมายเลข 1 ของคนเล่นเหรียญโดยเฉพาะบิทคอยน์