บนเส้นทางสายเกลือสมุทร

08 ต.ค. 2565 | 05:34 น.

คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

‘ผมกินเกลือมากกว่าพวกคุณกินข้าว’

 

ถ้อยคำลำนำเนาว์นี้บรรณาธิการบริหารท่านเอ่ยรำพึง ยามเมื่อพวกเยาวชนวัยรุ่นเกิดทำห้าวฮึกหาญในการอะไรๆที่ไม่เหมาะสมบังควรโดยลืมคิดถึงผลแห่งการกระทำนั้น Every action has consequence. (อันนี้ฝรั่งบอกสวนมาในระหว่างการฟังคนพุทธอธิบายเรื่องกฎแห่งกรรม 55)

อันการกินเกลือที่ท่าน บก บห ว่านี้ มันเปนนิยามความหมายลึกซึ้งเกินไปกว่า การอาบน้ำร้อนมาก่อน_พบเจออะไรมาก่อน มีประสพการณ์มามาก แต่เพียงเท่านั้น ชั่วแต่ว่าคนกินข้าวต้มสมัยก่อน ต้มข้าวเม็ดสวยให้สุกบานดีในหม้อดินเดือดปุดนั่นแล้ว ต้องโรยเกลือสักหน่อย_เอารส  อันบุรุษผู้ผ่านกาลเวลามานาน ผ่านสถานการณ์มามาก หากว่านับปริมาณเกลือที่เขากินบริโภคสั่งสมมา ย่อมจะมากกว่าปริมาณข้าว(ต้ม) ที่วัยรุ่นทั้งหลายได้เคยกิน บร้ะแล้ว!
 

ดังนี้ผู้ฟังก็ต้องระวังระไวให้ดี เพราะบางทีท่านเอ่ยประโยควลีนี้แล้วก็ปิดวาจา_แล้วกัน เลยอดรู้อะไรดีๆจากภูมิปัญญาบรรณาธิการผู้เฒ่า!แต่เอาเถิดอย่างไรก็ดี อันว่าเรื่องเกลือในแผ่นดินแดนขวานทองนี้ก็สนุกน่าสนใจไม่น้อย อดีตนั้นคนไทยเราทำเกลือทะเลไม่เปน เปนแต่ทำเกลือภูเขา แหล่งเกลือภูเขาถ้าไม่นับภาคอีสาณปัจจุบันนี้ ก็ต้องยกให้ฝ่ายเมืองเหนือเมืองน่าน ที่อำเภอบ่อเกลือนั่นปะไร

บ่อเกลือเมืองน่าน (ชื่อเก่าๆเรียกนันทบุรี/วรนคร) เปนแหล่งเกลือหลักเดียวของผู้คนในดินแดนด้ามขวานทองยุคเก่า เดิมมี 2 บ่อ ที่ อ.บ่อเกลือ 1 ที่ไซยะบุรีอีก 1 เพราะอาณาจักรนครน่านกินเขตครอบ 2 ฝั่งโขง ต่อเมื่อยุคหลังๆเจ้าเข้าครองที่มีอำนาจมากกว่ามาแบ่งปักปันเอาไปก็เลยขาดตอนกันด้วยน้ำแม่โขงกั้น บ่อเมืองน่านนี้ นับเปนบ่อเกลือสินเธาว์ 1 ใน 9 ของเอเชียที่ยัง operate ดำเนินกิจการมาต่อเนื่องด้วยจารีตดั้งเดิม และใช้ปฏิทินจันทรคติกำหนดวันเอาเกลือ/วันต้มเกลือ/วันเลี้ยงเกลือ ปักเฉลว (อุปกรณ์ไม้ไผ่สานเปนรูปกากบาทซ้อนๆกัน ใช้ปัดรังควาญป้องกันสิ่งอัปมงคลเข้ามาในพื้นที่) ทำเกลือกันโดยคารวะแก่ธรรมชาติผู้เปนเจ้าของกองมหาสมบัติรสเค็มนี้
 

ข้างเกลือสินเธาว์นี่ก็มีดอกเกลือเหมือนเกลือสมุทรเช่นกัน แต่เรียกเกสรเกลือ มักเก็บงำเอากันไว้ทำยาหรือใช้ปรุงอาหารรสวิเศษ ข้างเนื้อเกลือเอาขาย คราบเกลือก้นภาชนะใช้กินยามแม่ลูกอ่อนอยู่ไฟสมานแผลคลอด
 

ทางการเมืองยุค 700 ปีก่อน เมืองน่านต้องเลือกฝ่ายฟ้า หมายว่า จะเลือกอยู่ข้างรัฐใดที่มีอำนาจสูงกว่าก็จะได้สวามิภักดิ์จงรักภักดีมีต้นไม้เงินต้นไม้ทองส่งไปถวายเจ้าแห่งรัฐนั้นๆ ยามมีภัยรัฐต้นสังกัดจะได้ให้ ‘ความคุ้มครอง’ ตอนนั้นท่านว่าระหว่างภูกามยาว (พะเยา) กับ สุโขทัย น่านจำใจต้องตัดสินใจเลือกว่าจะเข้ากับใครเปนศัตรูกับใคร ผลออกมาว่าน่านเลือกสุโขทัยเพราะมีทางออกสู่ทะเล ค้าเกลืออันเปนสินค้าหลักของตนได้ เจ้านครรัฐน่านอาศัยอิทธิพลของสุโขทัย ซึ่งครอบหลวงพระบางอีกที เปิดสถานีค้าเกลือที่หลวงพระบางได้อีก


 

ในทางรัฐศาสตร์นั้นเมืองที่สร้างสมดุลอำนาจได้ดีในอดีตเขาเรียกเมืองสองฝ่ายฟ้า คือ ถวายการจิ้มก้องลองต้นไม้ไปสวามิภักดิ์แต่เมืองอำนาจสูงทั้งสองฝ่ายไปเลย_รักทุกคน ว่างั้น แต่เมืองที่สามารถสร้างสมดุลได้ดีกว่า เขาเรียกเมืองสามฝ่ายฟ้า ถวายการจิ้มก้องรับรองอำนาจไปเลยที่เดียวสามเจ้า เเลดูคล้ายว่าคราว อังกฤษ กับ ฝรั่งเศส จ้องจะขม้ำดินแดนขวานทอง ฝ่ายฟ้าที่สามที่เข้ามาห้ามทัพ ก็คือรัสเซีย อารมณ์ทำนองประมาณนั้น
 

ข้างจารึกตามพรลิงค์ มีผู้ถอดความได้ว่า คราวพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เหยียบเมืองนครศรีธรรมราชถามเจ้านครศรีธรรมราชว่าขาดแคลนอะไร? คำตอบว่า (หนึ่งในหลายสิ่งขาด) คือเกลือ
 

ถ้าว่าจารึกนี้เปนของจริงก็ย่อมแสดงว่าเทคโนลียีการทำเกลือสมุทรไม่เปนที่รู้จักบนแผ่นดินสยามในยุคก่อนๆ แม้ทางนครศรีฯมีทะเลรสเค็มเห็นๆอยู่ ก็ทำเกลือกินเองมิได้
 

กาลผ่านมายุคคราวพระเจ้าติโลกราชที่ล้านนาลงมา(ชิง)เอารัฐสุโขทัย จากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (ชื่อสองท่านมีความหมายเดียวกันคือพระเจ้าสามโลก)ใช้ยุทธศาสตร์ตัดเส้นทางลำเลียงเกลือโดยเข้ายึดเมืองน่านแหล่งเกลือก่อน ฝ่ายพญายุทธิษฐิระ_พระร่วงเจ้าแห่งเมืองสุโขทัยโดนบีบอย่างนี้จึงอ่อนน้อมทันที จะไม่มีเกลือกินเอา!


 

อยุธยาเห็นว่าอย่างนี้มันไม่เข้าทีแล้วที่คอยจะพึ่งพาซึ่งเกลือจากเขาอยู่ทุกวัน อย่างนี้ไม่ดีๆแน่ จึงเริ่มปฏิบัติการ Self - Manage Economy โดยมียุทธการสำคัญตั้งจีน เจี่ยบุ้งปิง เปนออกขุน ร่วมคณะฑูตไทยไปราชสำนักจีน(พ.ศ.2024)
ด้วยอุปนิกขิตสายลับรายงาน ว่าเทคโนโลยีการทำเกลือสมุทรมีอยู่ที่เมืองจีน ทว่าถือเปนสุดยอด ทรัพย์สินทางปัญญาของเขา เกลือของจีน


เปนสินค้าต้องห้าม นับวิธีทำเกลือเปนความลับสุดยอดขององค์จักรพรรดิ มีระเบียบห้ามนักวิทยาศาสตร์ทางเกลือออกนอกประเทศ
 

ออกขุนเจี่ยบุ้งปิง เข้าเมืองจีนแล้วปฏิบัติภารกิจใดๆบ้างไม่ทราบ แต่ว่ากันว่า
ขากลับคณะฑูตลอบซื้อเด็กชาย,หญิง บังหน้าและได้บรรทุกเกลือเถื่อนมาเป็นอันมาก ได้สูตรลับนาเกลือกลับมาทำที่แหลมผักเบี้ย อ.บ้านแหลม

 
ข้างจารึกนครศรีธรรมราชว่า
“พระพนมทะเลศรีมเหสวัสดิทราธิราช
พระเจ้าหลานลาพระปู่พระย่ามาตั้งที่เพชรบุรี เอาพลมา 33,000ฯ ....
ตั้งรั้ววัง เรือนหลวง...แล้วก็ให้ท่านทำนาเกลือ...มาถวาย
พระเจ้าปู่ฯ ท่านชื่นชมหนักหนาว่าหลานเรารู้หลัก มีบุญญาอันประเสริฐทุกประการ...”

 

ดังนี้แล้วหากท่านได้มีโอกาสเลียบเลาะชายฝั่งทะเลไทยไปตรงแหลมผักเบี้ย เห็นกิจการนาเกลือทำดีทำสวย ก็น่าแวะศึกษาเยี่ยมชม
 

แทรกไว้ ณ ที่นี้ อันเพชรบุรี มีนามเดิมว่า ศรีชัยวัชรบุรี เปนเมืองเก่าแก่มาแต่โบราณ เคยเปนรัฐ อาณาจักรเล็ก ๆ อาณาจักรหนึ่ง มีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เช่นพระปรางค์ 5 ยอด ณ วัดมหาธาตุวรวิหาร และปราสาทหินศิลาแลง ณ วัดกำแพง


แลง เป็นต้น  ที่มาของชื่อเมืองนั้นอาจเรียกตามตำนานที่เล่าลือว่าโบราณเคยมีแสงระยิบระยับในเวลาค่ำคืนที่เขาแด่น ทำให้ชาวบ้านเข้าใจว่ามีเพชรมีค่าอยู่บนเขานั้นจึงพากันไปค้นหาแต่ก็ไม่พบ แสงนี้หรือเปล่าทำผู้คนเรียกเมืองของตนว่าพริบพรี อันนี้ต้องวานท่านผู้รู้บอกกล่าว

เมืองเพชรบุรีมีศิลปวัตถุมากมาย เปนหลักฐานที่แสดงว่าเพชรบุรีเคยเปนบ้านเมืองที่มีผู้คนอาศัยอยู่เปนชุมชนถาวรมานานตั้งแต่สมัยทวารวดี เช่น ศิลปะปูนปั้น เมื่อถึงสมัยสุโขทัย แม้พ่อขุนรามคำแหงจะมีอำนาจครอบคลุมเพชรบุรี แต่เพชรบุรีก็ยังมีอิสระอยู่มาก สามารถส่งทูตไปจีนได้ สมัยอยุธยาตอนต้น เพชรบุรีขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาในแบบศักดินาสวามิภักดิ์ มีขุนนางควบคุมเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป
 

ดร. สันทนีย์ ผาสุข ท่านว่าเพชรบุรีในสมัยกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ยุคสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจนถึงแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ไทยยังคงทำสงครามกับพม่ามาโดยตลอดซึ่ง เจ้าเมืองและชาวเมืองเพชรบุรีก็ยังคงมีส่วนในการทำสงครามดังกล่าว จนเมื่อพม่าตกเป็นของอังกฤษ บทบาทของเมืองเพชรบุรีที่มีต่อเมืองหลวงและราชสำนักจึงค่อย ๆ เปลี่ยนไป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นโปรดภูมิประเทศ
 

เมืองเพชรบุรีตั้งแต่ครั้งยังผนวชพระจาริกไปอยู่ เมื่อขึ้นครองราชย์แล้ว โปรดให้สร้างพระราชวัง วัดและพระเจดีย์ใหญ่ขึ้นบนเขาเตี้ย ใกล้กับตัวเมืองและพระราชทานนามว่า“พระนครคีรี” - ชาวเมืองเรียกว่าเขาวัง
 

เขตที่ราบฝั่งทะเล อยู่ทางด้านตะวันออกของจังหวัด ติดกับชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย บริเวณนี้นับเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่งของจังหวัดในด้านการประมง การท่องเที่ยว เขตนี้ได้แก่ บางส่วนของอำเภอเมืองเพชรบุรี อำเภอบ้านแหลมอำเภอท่ายาง และอำเภอชะอำ ลักษณะพื้นที่ชายฝั่งเพชรบุรี เหนือแหลมหลวงไปทางทิศเหนือเป็นพื้นที่ชายฝั่งหาดโคลน  มีระบบนิเวศป่าชายเลน ด้านทิศใต้ของแหลมหลวงลงไปด้านทิศใต้เป็นหาดทราย มีระบบนิเวศเป็นหาดทราย แหลมหลวงซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลแหลมผักเบี้ยจึงเป็นแหลมที่แบ่งระบบนิเวศป่าชายเลน ออกจากระบบนิเวศหาดทรายเหนือแหลมหลวงขึ้นไปด้านทิศเหนือมีลักษณะเป็นหาดโคลนเพราะอยู่ใกล้พื้นที่ชุมน้ำของแม่น้ำสายใหญ่

 

ได้แก่ แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำบางตะบูน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำบางปะกง เมื่อฤดูน้ำหลากน้ำจากแม่น้ำได้พัดพาตะกอนลงสู่ทะเลเป็นจำนวนมาก จึงส่งผลให้พื้นที่ของชายฝั่งแถบนี้มีตะกอนในน้ำสูงส่งผลให้ชายฝั่งมีโคลนจำนวนมาก ซึ่งเหมาะแก่ระบบนิเวศป่าซายเลน เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์ทะเล บริเวณอ่าวไทยในเขตอำเภอบ้านแหลมถือว่าเป็นอ่าวที่พบหอยหลากชนิด เช่น หอยเสียบ หอยปากเป็ด หอยตระกาย หอยตลับ หอยหลอด หอยแครง เป็นต้น โดยเฉพาะหอยแครง เป็นแหล่งที่พบมากที่สุดในเอเชีย  ดังนี้จุดละแวกดังกล่าวจึงได้ชื่อว่า หาดโคลนผืนสุดท้ายต่อกับหาดทรายเม็ดแรก ของอ่าวตัว ก ประเทศไทย


นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 หน้า 18 ฉบับที่ 3,825 วันที่ 9 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2565