พระสงฆ์กับการเมือง

26 ก.ค. 2566 | 20:30 น.

พระสงฆ์กับการเมือง คอลัมน์ ทำมา ธรรมะ โดย ราชรามัญ

"บวชแล้วไม่ใช่จะเป็นพระ ความเป็นพระต้องทำกันเอาเอง" ธรรมะของหลวงปู่ดุลย์ อุตโม

ในข้อนี้หมายความว่าไม่ใช่โกนหัว ห่มผ้าเหลือง แล้วจะเป็นพระสงฆ์สาวก แต่เป็นได้เพียงแค่สมมุติสงฆ์ตามพุทธบัญญัติเท่านั้น

ตามความเป็นจริง การบวชพระเป็นการแสดงตนให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าเราจะละวางในทางโลก ที่เกี่ยวกับกิจกรรมกิจการไปในฝ่ายอำนาจ ไปในฝ่ายสงครามอาวุธ และไปในฝ่ายเดรัญวิถีทั้งปวง

ถ้ามีพระสงฆ์ระดับพระสังฆาธิการหรือระดับพระราชาคณะ ตลอดทั้งพระป่าสายปฏิบัติ ออกมาพูดถึงเรื่องของการเมือง ถ้าการพูดนั้นเป็นไปเพื่อเตือนสติโดยใช้ธรรมะเป็นหลัก เป็นการมิได้พูดออกมาด้วยอารมณ์ ความรู้สึกของพระรูปนั้นๆ เพียงอย่างเดียวเชื่อเหลือเกินว่านั่นเป็นการให้ธรรมะมากกว่าการวิพากษ์การเมือง

แต่ถ้าพูดออกมาเพียงแค่มีความรู้สึกและอารมณ์เหมือนกึ่งชี้นำสังคม นั้นมิใช่เป็นธรรมะแต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองแบบฆราวาส ซึ่งเป็นสิ่งที่มิควรกระทำอย่างยิ่ง บางครั้งพระภิกษุเองก็ต้องพึงระวังอย่าให้อารมณ์ของตัวเองหลงไปกับเรื่องการบ้านการเมืองเหมือนที่เคยมีโศลกธรรมคำโบราณ กล่าวไว้ว่า

"อย่ายุ่งเรื่องพระ ถ้าไม่ได้อยู่ในผ้าเหลือง ไม่มีความรู้ อย่ายุ่งเรื่องการเมือง"

เพิ่งเข้าใจได้ว่าโลกยุคใหม่ต่างแสดงความคิดเห็นต่างๆ นานาออกไปด้วยความเสรี แต่ถ้าอยู่ในสถานะแห่งพระภิกษุ สิ่งที่พึงควรกระทำได้ ควรให้เป็นธรรมะเพื่อเตือนสติ เหมือนอย่างเช่นท่านเจ้าคุณพุทธทาสที่เคยกล่าวถึงการบ้านการเมืองเอาไว้ได้อย่างแหลมคม

"ประชาธิปไตย ไม่ใช่ประชาชนเป็นใหญ่ แต่ประชาธิปไตยนั้น ผลประโยชน์ของประชาชนนั้นเป็นใหญ่"

ความจริงในทุกๆ แวดวงของมนุษย์ต่างก็มีการเมือง แต่เป็นศิลปะแห่งความซ่อนเร้นอยู่ แม้แต่วงการพระสงฆ์องค์เณรก็ยังมีการเมืองเข้าไปสอดแทรก แต่ทว่าเป็นการเมืองที่มีจีวรเป็นปีก

ดังนั้น ตามความเป็นจริงแล้ว พระสงฆ์มิควรที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม จะด้วยวิธีใดก็ตาม เพราะจะทำให้มีการมองและทำให้คิดไปได้ว่า เมื่อพระสงฆ์ลงมายุ่งกับการเมือง อาจจะทำให้เกิดแบ่งฝักแบ่งฝ่ายมากยิ่งขึ้นชัดเจน

เพราะต้องไม่ลืมว่า พระสงฆ์แต่ละรูปต่างก็มีลูกศิษย์ลูกหาของตัวเองเป็นจำนวนไม่น้อยที่ เป็นคนใหญ่คนโต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสิ่งที่เห็นอาจไม่เป็นอย่างที่คิดก็ได้ ในมุมนี้อาจสื่อไปได้ว่า พระจะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง ทั้งๆ ที่พระควรอยู่ในสถานบุคคลที่ควรเคารพนับถือ 

การนำเสนอธรรมะ คือการไม่พูดไปในทางบวกหรือในทางลบ ที่ส่งเสริมฝ่ายหนึ่งและทับถมอีกฝ่ายหนึ่ง

แต่เป็นการพูดให้เห็นตามความเป็นจริง อย่างนั้น ถ้าเป็นไปได้มหาเถรสมาคมควรมีกฎออกมาอย่างชัดเจน เป็นรูปธรรม ว่าพระสงฆ์ มิควรมาวิพากษ์วิจารณ์การเมือง

เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อไหร่ก็ตามที่บุคคลในศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมือง ย่อมเกิดความแตกแยกได้ง่าย ซึ่งในอดีตหลายๆ ประเทศในแถบยุโรปที่บุคคลในศาสนามาเกี่ยวข้องกับการเมือง แล้วทำให้เกิดการแตกแยกง่ายยิ่งขึ้น