"จิตนิ่ง คือ จิตเน่า" ปราชญ์อีสาน 'ประจวบ ไชยสาส์น' เล่าให้ฟัง

29 มี.ค. 2566 | 20:00 น.

"จิตนิ่ง คือ จิตเน่า" ปราชญ์อีสาน 'ประจวบ ไชยสาส์น' เล่าให้ฟัง คอลัมน์ ทำมาธรรมะ โดย ราชรามัญ

วันที่ 1 เมษายน เป็นวันจากไปของปราชญ์อีสานอีกท่านหนึ่ง คือ ประจวบ ไชยสาส์น หลายท่านอาจจะงงว่า ท่านเป็นนักการเมืองระดับอดีตรัฐมนตรี 6 กระทรวงแล้วทำไมจึงว่าท่านเป็นปราชญ์อีสาน

กระจกด้านหน้า คือ สิ่งที่คนในสังคมเห็น แต่กระจกอีก 5 บาน เป็นสิ่งที่คนใกล้ชิดเห็น แนวความคิดแต่ละอย่างที่ท่านใช้ดำเนินชีวิตและนำเอามาบริหารงาน ทุกอย่างมีแนวคิดแบบปราชญ์ทั้งสิ้น คือ คิดทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวม หาได้เป็นประโยชน์ส่วนตัวไม่ อาทิ โครงการโขง ชี มูล การผันน้ำอย่างเป็นระบบ แนวคิดการพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก เป็นต้น สมัยไทยกับเวียดนามมีปัญหาเรื่องเส้นเขตทะเล ก็สามารถทำให้บรรเทายุติลงได้

แม้แต่บางคำถามที่หาคำตอบได้ยาก ก็คลี่คลายความสงสัยได้ อย่างคอร์รัปชัน กับคอมมิชชัน ผลลัพธ์เหมือนกัน คือ ขายของแล้วได้ส่วนต่างที่เป็นผลประโยชน์ตอบแทน แต่ถ้าเป็นคอมมิชชันนั้น เงินที่ซื้อของคือเงินส่วนบุคคล แต่ถ้าเงินที่ซื้อของเป็นภาษีเป็นเงินงบประมาณคนที่ได้รับผลประโยชน์ส่วนต่างไปนั้นเรียกว่า คอร์รัปชัน เพราะที่มาของเงินที่นำมาซื้อเป็นตัวกำหนด

วันหนึ่งท่านพูดเรื่องทำมาหากินว่า...

"การทำมาหากิน ทำให้เราอยู่ได้ แต่การทำมาค้าขาย ทำให้เราเติบโตมั่นคงมั่งคั่ง"

สิ่งที่ทำให้มีแนวคิดไปในเชิงปรัชญาเป็นเพราะประสบการณ์ชีวิต ที่มาจากความเรียบง่ายแห่งที่ราบสูง ที่เห็นชีวิตผู้คนและตัวเองผ่านความทุกข์ ความสุขมากมาย ในยุคสมัยที่ข้าราชการประเทศไทย มีอำนาจบาตรใหญ่ แบบบ้าคลั่ง ชอบข่มขู่ชาวบ้าน.. เคยปรารภว่า "เป็นแค่ลูกชาวนาต้องทำนา อย่าริคิดเป็นนาย"

ประจวบ ไชยสาส์น จำคำนี้แม่นยำ แล้วบอกตัวเองว่า สักวันเราจะเป็นนายคนพวกนี้ที่จะทำให้ประชาชน สุดท้ายก็สามารถทำได้

แต่มีธรรมะข้อหนึ่ง ที่เราชื่นชอบอย่างมาก เพราะยากที่จะหาผู้คนเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับธรรมชาติของจิตใจ

จิตใจ คือ ความคิด ความรู้สึก เป็นคำตอบเมื่อถามไป..ว่า จิตใจ ในทัศนคติของท่านคืออะไร เป็นคำตอบที่รวบรวมยอดพระไตรปิฎกทั้งหมดทั้งสิ้น

มีท่อนหนึ่ง..คล้ายท่านฮุกวลีเด็ดของเพลงที่ต้องร้องซ้ำๆ หลายรอบ คือ จิตนิ่งคือจิตก็เน่า โดยทั่วไปคนที่นิยมฝึกจิตให้นิ่งๆ สงบๆ แล้วคิดว่า จะเกิดปัญญาในการแก้ไขปัญหา ซึ่งก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง

แต่ประจวบ ไชยสาส์น กลับมีมุมมองที่ตระหนักรู้แบบปราชญ์อินเดีย ที่นามว่า นาคารชุน อย่างที่ท่านปรารภว่า...

จิตนิ่งไม่สามารถนำเอามาใช้กับชีวิตจริงในปัจจุบันได้ เพราะการรับรู้ต่อสภาวะต่างๆ ที่เข้ามากระทบจิตใจนั้นจะขาดความรวดเร็วฉับพลัน เพราะจิตที่นิ่งจะเฉยเหมือนทองไม่รู้ร้อน ภาวะอารมณ์การตัดสินใจก็ขาดการไตร่ตรอง ไม่มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมใดๆ ปรากฏได้ เพราะจิตนิ่งจะโฟกัสแค่จุดจุดเดียว

แต่พระพุทธเจ้า สอนให้รู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่ว่าหันซ้าย ขวา หน้า หลัง เดินไปข้างหน้า หรือทำอะไรก็ต้องคอยให้รู้ทันตลอดเวลา แล้วจิตที่โฟกัสนิ่งๆ อยู่จุดเดียวจะรู้ทันทั่วพร้อมได้อย่างไร...

จิตที่นิ่งในสมาธิ..เป็นจิตที่มีพลังแบบจุดเดียว แม้แต่ได้ฌานอะไรก็ตาม เป็นจิตนิ่งหมดเหมือนหญ้าโดนหินกดทับไว้นั่นเอง ตัวเองจะโกรธก็ไม่รู้ว่ากำลังโกรธ ตัวเองโลภก็ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังโลภ เป็นต้น

จิตที่นิ่งจึงเน่าด้วยเหตุนี้ คือ ไม่ทันต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลง ไม่ทันต่อการเคลื่อนไหวของกายและใจแบบนี้จะเป็นสติปัฏฐานได้อย่างไร..

เป็นปรัชญาแนวคิดที่คนธรรมดาที่แม้ว่าปฏิบัติธรรมมานานก็ใช่ว่าจะมองเห็นและคิดได้ เพราะเรื่องราวของจิตไม่ได้ต้องการความนิ่งจนไม่สามารถเคลื่อนไหวรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวได้

พระพุทธเจ้าสอนว่า กะพริบตาก็ให้รู้ กลืนข้าวกลืนน้ำก็ให้รู้ หันซ้ายแลขวาก็ให้รู้ คู้เหยียดเคลื่อนไหวก็ให้รู้ แล้วถ้าจิตโฟกัสอยู่แค่จุดจุดเดียวมีความนิ่งแล้วจะมีความฉับไวในการตื่นรู้ของการกะพริบตา การเดิน การยืน การนอนได้อย่างไร

หลวงพ่อเทียนแห่งวัดสนามใน ท่านจึงเลิกนั่งสมาธิแล้วมาฝึกการเคลื่อนไหว เพื่อให้จิตตื่นรู้ไม่โฟกัสอยู่ที่จุดเดียว จนสามารถทำให้กายใจของท่านไร้ซึ่งความทุกข์ เพราะหลวงพ่อเทียนพูดเสมอว่าคนเราเป็นทุกข์เพราะความคิด เมื่อจิตรู้ทันความคิด เห็นความคิด จึงสามารถตัดความคิดและความรู้สึกออกได้ ความทุกข์ทั้งหลายจึงไม่ปรากฏ

เรื่องจิตนิ่งคือจิตเน่า จึงจริงเช่นนี้ทุกประการ...ระลึกถึง ประจวบ ไชยสาส์น ปราชญ์อีสาน ที่ได้ฉายาว่า ช้างดำแห่งอีสาน และ อีดี้จวบ แม้วันนี้ท่านไม่อยู่แล้วแต่ในทางการเมือง ต่อพงษ์ ไชยสาส์น อดีตรัฐมนตรีช่วยกระทรวงสาธารณสุข และ จักรพรรดิ ไชยสาส์น ยังดำเนินรอยตาม