อาการติดบ้านของผู้สูงอายุ

17 ก.พ. 2566 | 20:30 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ผมได้ไปร่วมเคารพศพของคุณแม่อาจารย์แหม่มที่ผมเคารพ ปรากฏว่าไปถึงงานเร็วนิดหนึ่ง เลยมีเวลาเข้าไปกราบคุณพ่อของอาจารย์ ที่ท่านเป็นผู้สูงอายุมาก ปีนี้ก็ 93 ปีแล้ว แต่ดูจากสภาพร่างกาย ท่านยังคงแข็งแรงมาก มีแต่เพียงอาการของโรคสมองเสื่อม ที่เข้าขั้นอัลไซเมอร์เท่านั้น 

อาจารย์แหม่มบอกว่า คุยกับท่านไม่เกิน 5 นาทีท่านก็จะลืมหมดแล้วครับ ซึ่งผมก็เข้าใจนะครับว่า นั่นเป็นอาการของผู้สูงอายุที่ปกติมาก ไม่น่าแปลกใจเลยสักนิด จึงได้เสนอให้อาจารย์แหม่มไปว่า จะให้คุณพ่อท่านมาพำนักที่ “คัยโกเฮาส์”ของผมก็ได้นะ ผมอาสาจะช่วยดูแลให้ แต่อาจารย์แหม่มก็บอกว่า คงไม่อยากรบกวน เพราะนอกจากจะเป็นภาระแล้ว คุณพ่อของท่านถ้าไปอาศัยอยู่ที่อื่นที่ไม่ใช่บ้านตนเอง ก็จะเกิดอาการป่วยทันที เพราะเคยมีอาการเช่นนี้มาก่อน 

เวลาไปพักที่สถานที่แห่งหนึ่ง ก็เกิดอาการป่วย แต่พอให้กลับบ้านก็จะหายป่วยเลย ซึ่งอาการเช่นนี้ เป็นอาการของ “โรคคนติดบ้าน” ซึ่งอาการเช่นนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของจิตวิทยา ที่เกิดขึ้นจากสุขภาพจิตของผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ครับ

สุขภาพของผู้สูงอายุไม่เพียงแค่สุขภาพกายที่เป็นสิ่งสำคัญเท่านั้น ในด้านสุขภาพกาย เราสามารถให้คนอื่นที่ไม่ใช่ลูก-หลานหรือคนใกล้ชิด เข้ามาดูแลแทนได้ เขาอาจจะใช้วิชาการแพทย์เข้ามาดูแล 

นอกจากนี้หากใช้การดูแลทางด้านแพทย์ทางเลือก ก็ยังสามารถช่วยดูแลให้ได้ แต่ยังมี “สุขภาพจิต” ที่เป็นสิ่งซึ่งผู้ดูแลผู้สูงอายุหรือลูก-หลานจะต้องเข้าใจ ซึ่งหากไม่เข้าใจ ก็จะเกิดปัญหาขึ้นกับทั้งผู้สูงอายุและลูกหลานอย่างแน่นอน 

ในส่วนของผู้บริบาล ผมไม่ค่อยจะเป็นห่วง เพราะเขาต้องเข้าใจเนื่องจากเป็นอาชีพของเขาอยู่แล้วครับ แต่ลูก-หลานหรือคนใกล้ชิดนี่สิครับ ที่น่าเป็นห่วง บางครั้งจะทำให้เกิดความรำคาญใจ และส่งผลมาถึงพ่อ-แม่ที่เป็นผู้สูงอายุได้เลยครับ

ในส่วนของปัญหาสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้นกับผู้สูงวัย ที่พบบ่อยมากๆ ในตัวของผู้สูงวัย มีด้วยกันอยู่สามปัจจัยหลักๆ ด้วยกัน คือ 1,ภาวะที่เกิดจากสภาพความเครียดและการวิตกกังวล 2,ปัญหาอารมณ์แปรปรวนในผู้สูงอายุ 3,ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บที่ตัวผู้สูงอายุกำลังเผชิญอยู่ 

ทั้ง 3 ปัจจัยที่กล่าวมานี้ ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้สุขภาพจิตของผู้สูงอายุมีปัญหาตามมามากที่สุดครับ ในส่วนของปัจจัยแรกที่เกิดจากสภาพความเครียดและการวิตกกังวล ผู้สูงอายุที่มีอายุมากๆ บ้างครั้งการเดินเหิน หรือการขยับตัว ไม่สามารถทำได้ดังใจปรารถนา ก็จะรู้สึกเครียดง่ายหรืออาจจะเกิดความวิตกกังวลใจนั่นเอง 

สาเหตุหลักก็เนื่องจากปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของผู้สูงอายุ จะยากกว่าคนที่ยังมีวัยหนุ่มแน่นกระฉับกระเฉงอยู่ เพราะความสามารถและประสิทธิภาพของร่างกายได้ลดลง จึงทำให้ผู้สูงอายุมักจะเกิดความกลัว และขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ย้ำคิดย้ำทำ นอนไม่หลับ เหงาและ ว้าเหว่  เป็นต้น 
บางคนถึงกับบ่นอยากจากโลกนี้ไปเร็วๆ ด้วยซ้ำไป 

นอกจากนี้ยังอาจจะแสดงออกมาทางสภาพร่างกายได้ เช่น ปวดศีรษะ ท้องเสีย ท้องผูก เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย ปวดตึงกล้ามเนื้อ มือเท้าเย็น ใจสั่น เหงื่อออกตามมือ เป็นต้น อีกทั้งยังสามารถสังเกตดูได้จากการแสดงออกด้านพฤติกรรมของตัวผู้สูงอายุ ที่มักจะเกิดอาการ จู้จี้ ขี้บ่น หรืออาจจะโมโหง่าย 

ที่มีอาการหนักๆ ก็จะพาลหาเรื่องด่าว่าคนใกล้ตัวไปเลยก็มีครับ บางคนก็จะแสดงออกทางพฤติกรรมด้วยการ กัดเล็บ กัดฟัน สูบบุหรี่จัดขึ้น หรือบางท่านที่อดีตเคยชอบดื่มสุรา ก็จะดื่มหนักมากกว่าเดิมก็มีครับ
       
ทางด้านสภาวะสุขภาพจิตที่ส่งผลให้เกิดอารมณ์แปรปรวนในผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่ที่สังเกตง่ายๆ มักจะมีอาการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่รวดเร็ว หรืออาจจะมีหลากหลายอารมณ์ในวันเดียวกัน เช่น อาจจะรู้สึกเศร้าโดยไม่มีสาเหตุ จนบางครั้งร้องไห้คนเดียว 

หรืออยู่ๆ ก็รู้สึกมีความสุขอย่างฉับพลันทันด่วน โดยการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์นี้ อาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ หรือเกิดจากการเจ็บป่วย หรือเกิดจากความผิดปกติของระดับฮอร์โมนในร่างกาย หรือแม้แต่โรคจิตเวชบางชนิดเป็นต้น 
      
ทางด้านสภาวะสุขภาพจิตที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บที่ตัวผู้สูงอายุกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งอาจเป็นการเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจ เมื่อเกิดอาการเช่นนี้ขึ้น จะทำให้ผู้สูงอายุไม่มีความสุข หดหู่ เบื่อหน่ายกับสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว หรืออาจจะมองโลกในแง่ร้าย บางท่านที่มีอาการหนัก จนกระทั่งเกิดอาการโรคซึมเศร้า ก็มักจะชอบอยู่เงียบๆ ตามลำพัง 

หรือบางท่านอาจจะหนักมากจนทำให้รู้สึกชีวิตสิ้นหวัง มองไม่เห็นคุณค่าของตนเอง หรือบางท่านก็จะมีอาการหงุดหงิด โมโหง่าย เอาแต่ใจตนเอง ขี้น้อยใจ และมักจะหาเรื่องทะเลาะกับลูก-หลาน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอาการทางร่างกายต่อไป เช่น เกิดอาการนอนไม่หลับ บางท่านก็อาจจะนอนมากเกินปกติประจำวัน อาการอ่อนเพลียไม่สดชื่น บางท่านถึงกับเบื่ออาหาร หรือชอบพูดแต่เรื่องเศร้าๆ ที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจจะมีความคิดทำร้ายตนเองเลยก็มีนะครับ  
        
จะเห็นว่าอาการของโรคทางสภาวะสุขภาพจิต อย่าได้คิดว่าไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวปล่อยๆ ท่านไป สักวันหนึ่งก็หายเอง นั่นคือสิ่งที่อันตรายนะครับ ถ้าเราสังเกตเห็นอาการผิดปกติของผู้สูงอายุหรือพ่อ-แม่ของเรา ก็ควรจะต้องปรึกษาจิตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้นะครับ หากเราปล่อยให้ท่านอยู่คนเดียวโดยไม่ใส่ใจ สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา อาจจะเกิดสิ่งที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้นะครับ