สัญญาณอันตรายจากโรคพาร์กินสัน

13 ม.ค. 2566 | 23:32 น.

คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อคืนวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ผมมีแขกที่เปรียบเสมือนญาติผู้ใหญ่ชาวเมียนมาครอบครัวหนึ่ง ท่านได้เดินทางมาตรวจเช็คร่างกายที่โรงพยาบาลชั้นนำของประเทศไทยเราเป็นประจำทุกปี และครั้งนี้นอกจากจะมาตรวจเช็คร่างกายอย่างต่อเนื่องแล้ว ท่านก็ถือโอกาสมาทานข้าวร่วมกับครอบครัวผม เหมือนเช่นทุกครั้งที่ได้มีโอกาสมาครับ 

ท่านมีอายุ 92 ปี ภรรยาท่านก็มีอายุอ่อนกว่าท่าน 2 ปี ทุกครั้งที่มากรุงเทพฯ ลูกชายและลูกสะใภ้ท่านมักจะพาท่านมาพบผมเป็นประจำ เราสองครอบครัวจะไปมาหาสู่กันเช่นนี้ตลอดเวลา นับตั้งแต่ที่รู้จักกันมาร่วม 33 ปีแล้วครับ ครอบครัวท่านเป็นครอบครัวที่น่ารักมาก ไม่ว่าจะเป็นรุ่นลูก ที่ก็สนิทสนมกับผมเสมือนเป็นน้องๆ ผม ส่วนหลานก็สนิทกับลูกชายผมมาก ตัวท่านเองก็มักจะสอนสั่งผมเสมือนเป็นลูกของท่านเสมอครับ
          
การมาตรวจร่างกายประจำปีครั้งนี้ นับว่าเป็นครั้งที่สองในรอบสามปีครับ เพราะช่วงที่โรคโควิด -19 กำลังระบาดหนัก ท่านก็ไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ เลยต้องงดเว้นการตรวจไปหนึ่งครั้ง ต่อมาปีที่ผ่านมาท่านจึงได้เดินทางมาครั้งแรก หลังโรคระบาดเข้าสู่ประเทศเมียนมา ครั้งนี้จึงเป็นครั้งที่ 2 ครับ

ผมสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของตัวท่านเยอะมากในครั้งนี้ การเดินเหินก็ไม่ค่อยจะดีนัก ลูก-หลานจึงต้องนำเอาวีลแชร์หรือรถเข็นใส่มาในเครื่องบิน เพื่อให้ท่านใช้นั่งในช่วงที่ท่านอยู่ที่กรุงเทพฯ ครับ ซึ่งผมก็คิดว่า เป็นเรื่องธรรมดาของผู้สูงวัย ที่สังขารจะต้องร่วงโรยไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตาม ท่านก็จะยังคงมีอารมณ์ที่ดีเหมือนเดิม ท่านจะเป็นคนที่ชอบพูดคุยกับผมมาก อีกอย่างท่านจะเป็นคนที่มีอัธยาศัยไมตรีดีมาก คุยไปยิ้มไป และมักจะเสาะหาเรื่องมาคุยได้เสมอ
         
แต่ครั้งนี้หากสังเกตลึกๆ ผมก็มีความรู้สึกว่าท่านเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเยอะมาก ความกระฉับกระเฉงเหมือนอดีตได้หายไป ลูกสะใภ้ของท่านที่เป็นแพทย์ ก็กระซิบเป็นภาษาอังกฤษเพื่อไม่ให้ท่านฟังรู้เรื่อง โดยบอกผมว่า “คุณพ่อมีอาการพาร์กินสันเบื้องต้นแล้ว” ผมฟังก็อดใจหายไม่ได้ แต่ก็คิดปลงไปว่า นี่คือธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันทุกคนไป 

ใครก็ไม่สามารถที่จะหลีกหนีมันได้ครับ ส่วนอาการของท่าน ตามที่ทำให้ลูกสะใภ้บอกผมคือ ท่านจะเริ่มมีอาการเคลื่อนไหวช้าลงไปเยอะ เพราะจำได้ว่าครั้งสุดท้ายที่ผมมีโอกาสพบท่าน ท่านยังกระฉับกระเฉงมากกว่านี้เยอะ        

ในขณะที่ปัจจุบันนี้ เริ่มมีอาการสั่นของส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย มือที่ใช้หยิบช้อนทานข้าว สั่นเล็กน้อยแต่ก็เห็นได้ชัดครับ และท่านยังมีอาการเกร็ง ซึ่งน่าจะเกิดจากการสัมพันธ์กับเซลล์สมองที่ถูกทำลายไปแล้วบางส่วน ถ้าจะมองในมุมทางการแพทย์  ที่ลูกสะใภ้ของท่านเล่าให้ผมฟังคือ โรคพาร์กินสันเป็นผลจากการตายของเซลล์สมอง ส่วนก้านสมองส่วนกลาง (Midbrain)  ซึ่งจะมีผลทำให้สื่อประสาทที่ควบคุมการเคลื่อนไหว ที่มีต่อเนื่องของร่างกายลดลง จึงทำให้มือท่านสั่นครับ 

นอกจากนี้ เขายังบอกผมว่า คุณพ่อเขามีอาการเสื่อมของระบบประสาทที่เกี่ยวข้องกับการดมกลิ่น บางครั้งอาหารที่นำมาให้ท่านทาน แม้จะมีกลิ่มหอมอย่างไร คุณพ่อทานจะไม่ค่อยรู้กลิ่นหอมเลย ต้องพยายามบอกท่านเสมอว่า ข้าวนี้คือข้าวหอมนะ หรือมะม่วงนี้มีกลิ่นหอมมากนะ เป็นต้น 

นอกจากนี้ท่านยังมีอาการท้องผูกบ่อยๆ และมีความผิดปกติทางด้านอารมณ์ เช่น ย้ำคิดย้ำทำ อาการวิตกกังวล เรื่องที่ในอดีตท่านไม่เคยกังวลเลย แต่ในปีที่ผ่านมา ท่านก็มักมีอาการให้เห็นเสมอ อาการต่างๆ เหล่านี้น่าจะสันนิษฐานได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของอาการผู้ป่วยโรคพาร์กินสันเบื้องต้น ผมก็ได้แต่รับฟังครับ เพราะผมเองก็ไม่มีความรู้ทางด้านนี้ จึงไม่สามารถให้ความคิดเห็นใดๆครับ
       
อย่างไรก็ตาม ผมก็รู้แต่เพียงว่า โรคพาร์กินสัน เป็นหนึ่งในสามโรคที่เกิดขึ้นมาก ในผู้สูงวัยของประเทศญี่ปุ่น ดังที่ผมเคยเล่าให้ฟังว่า ผมไปดูงานด้านบ้านพักคนวัยเกษียณของญี่ปุ่นมา จึงพอจะมองเห็นภาพของผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้บ้าง จึงได้แต่บอกกลุ่มลูกๆ ของท่านไปว่า หากมีโอกาสก็ลองพาท่านไปปรึกษาแพทย์ทางด้านนี้โดยตรงในโรงพยาบาลที่กรุงเทพฯดู น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า 

ลูกชายของท่านก็บอกผมว่า เนื่องจากคุณพ่อมีอายุมากแล้ว ไม่อยากให้ท่านมีความกังวลใจ หรือรู้สึกไม่สบายใจ คิดว่าเป็นภาระลูกหลาน เพราะการที่ท่านมีความสุขกับการได้อยู่กับลูกหลานก็ดีมากแล้ว ในบั้นปลายชีวิตของท่าน ลูกหลานทุกคนก็อยากให้ท่านมีความสุขในบั้นปลายของชีวิต ไม่อยากให้มีอะไรมารบกวนจิตใจของท่าน  

ในขณะที่ลูกสะใภ้ของท่านที่เป็นแพทย์ กลับไม่เห็นด้วยกับกลุ่มลูกๆ คนอื่นๆ เพราะเขาคิดว่า การที่รู้ว่ามีอาการก่อนที่จะเกิดโรคพาร์กินสัน นับว่าเป็นโอกาสดีที่สามารถให้แพทย์แผนปัจจุบันรักษาให้ได้ เพราะวิวัฒนาการทางการแพทย์ปัจจุบันนี้ ได้ก้าวหน้ามากแล้ว อีกทั้งเมื่อมีโอกาสดีกว่าชาวเมียนมาอีกหลายล้านคน ที่ได้เข้ามารักษาตัวในกรุงเทพฯ ก็ควรจะรักษาโรคที่เกิดขึ้นกับคุณพ่อทุกประเภท ไม่ควรมีการเว้นวรรค นี่ก็เป็นอีกความขัดแย้งกลายๆ ในสังคมครอบครัวครับ  

ผมเองเป็นเพื่อนของลูก แม้จะเปรียบเสมือนญาติของเขาคนหนึ่ง ก็ไม่กล้าที่จะออกความเห็นเรื่องภายในครอบครัวเขาหรอกครับ เพราะว่าเราไม่ใช่ญาติจริงๆ ของเขา จะเข้าข้างไหนก็ไม่ได้  ก็ได้แต่ยิ้มๆอย่างเดียวครับ