เจาะแนวคิด Beyond Healthcare มากกว่าการดูแลสุขภาพ

14 พ.ค. 2566 | 22:00 น.

Healthcare Insight ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ครั้งนี้ เราจะมาพูดคุยเกี่ยวกับ แนวคิด Beyond Healthcare ซึ่งมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจภาพอนาคตของธุรกิจสุขภาพและธุรกิจอื่นๆ ที่จะพลิกโฉมการให้บริการ หรืออาจจะเป็นจุดเปลี่ยนทางธุรกิจเลยก็ว่าได้ ดังจะเห็นได้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ที่หลายธุรกิจมีการปรับเปลี่ยนแนวปฏิบัติในการทำงาน เช่น

การตรวจ ATK พนักงานก่อนเข้าทำงาน จัดที่นั่งในออฟฟิศให้มีการรักษาระยะห่างและสลับเวลาทำงานเพื่อลดความหนาแน่น มีจุดบริการแอลกอฮอล์ล้างมือ ฯลฯ แม้จะเป็นมาตรการในช่วงสั้นๆ แต่ทั้งหมดนี้เห็นได้ชัดว่า “สุขภาพที่ดี” นั้นเป็นพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจ และในขณะเดียวกัน ก็ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับอีกหลายธุรกิจข้างเคียงเช่นกัน

ผมขอยกตัวอย่าง Ping An Insurance บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่สัญชาติจีนที่ให้บริการทางการเงินแบบครบวงจร ที่ขยายบริการสู่ธุรกิจเฮลทท์แคร์ และปรับเปลี่ยนโฉมหน้าการให้บริการทางการแพทย์ในประเทศจีนอย่างมีนัยสำคัญ “Ping An” (ผิง อาน) ในภาษาจีน มีความหมายว่า “ความปลอดภัยและเป็นสุข” (Safe and Well)

เจาะแนวคิด Beyond Healthcare มากกว่าการดูแลสุขภาพ

โดยปัจจุบัน Ping An มีผู้ใช้บริการผ่านออนไลน์กว่า 668 ล้านคน โดยเป็นแพลตฟอร์ม (Platform) ทางการเงินที่สร้างการเข้าถึงที่สะดวกและง่าย จนนำมาสู่การเสนอขายสินค้าและบริการแบบไขว้ภายในกลุ่มบริษัท (Cross-Selling) เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวลูกค้า

โดยแพลตฟอร์มให้บริการทางการแพทย์ของ Ping An มีทั้งแบบ Online และ Offline เริ่มตั้งแต่การให้คำปรึกษาโดยแพทย์แบบ Online การสั่งซื้อยาและทำประกันสุขภาพ โดยนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยให้การบริการมีความสะดวก ต่อเนื่อง และรวดเร็ว เช่น การนำ AI มาจับคู่ผู้ป่วยกับแพทย์เฉพาะทาง การวิเคราะห์โรคจากภาพถ่าย เป็นต้น การรวบรวมและเชื่อมต่อผู้มีส่วนได้เสีย

ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้ป่วย ผู้ประกันตน แพทย์ โรงพยาบาล และสถาบันบริการสุขภาพเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้แพลตฟอร์มของ Ping An มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมียอดลงทะเบียนแล้วกว่า 440 ล้านราย และมีการให้คำปรึกษาไปแล้วกว่า 1,300 ล้านครั้ง นับเป็นตัวอย่างของธุรกิจที่อยู่ในวงการประกันภัยที่ขยายบริการผ่านบริษัทในเครือที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพ จนนำมาสู่การสร้างการเข้าถึงทางการแพทย์ด้วยการใช้เทคโนโลยีอันทันสมัย

เจาะแนวคิด Beyond Healthcare มากกว่าการดูแลสุขภาพ

Ping An เป็นเพียงกรณีตัวอย่างของธุรกิจที่เข้ามาขยายบริการด้านเฮลท์แคร์ และสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีจนมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของผู้คน จากธุรกิจประกันภัยสู่การปรับเปลี่ยนเป็น Tech Company ที่มีการวางรูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) ที่ครอบคลุมครบวงจร

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า “เฮลท์แคร์” เป็นทั้งโอกาสทางธุรกิจและสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคน โดยเฉพาะถ้าธุรกิจของคุณนั้น เกี่ยวข้องกับความกินดีอยู่ดี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน สุขภาพ ฟิตเนส สปา การบริการดูแลผู้สูงอายุ การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ฯลฯ

เนื่องจากในปัจจุบันนี้ คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพมากขึ้น ประกอบกับหลายปัจจัยที่สนับสนุนทั้งเรื่องโรคระบาดและโรคอุบัติใหม่ต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีความก้าวหน้า เช่น การให้บริการโทรเวชกรรมทางไกล หรือ Telehealth เป็นต้น

ส่วนธุรกิจเฮลท์แคร์เอง ก็ยังสามารถขยายบริการให้ครอบคลุมจำนวนผู้รับบริการได้มากกว่าเดิม และขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสุขภาพได้อีกด้วย ยิ่งในธุรกิจใดก็ตามที่มีฐานลูกค้าเป็นจำนวนมาก ก็ยิ่งมีโอกาสในการขยายธุรกิจ “เฮลท์แคร์” เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น สอดคล้องกับพฤติกรรมและแนวโน้มของกลุ่มประชากรสูงวัยที่เพิ่มขึ้นและมีกำลังในการใช้จ่ายในสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน

เจาะแนวคิด Beyond Healthcare มากกว่าการดูแลสุขภาพ

แก่นของแนวคิด Beyond Healthcare ยังมีอีกส่วนที่สำคัญ ก็คือ ในธุรกิจด้านสุขภาพหรือเฮลท์แคร์นั้น การดำเนินธุรกิจจะคำนึงถึงกำไรเป็นที่ตั้งอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องเป็นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) บนพื้นฐานของการสร้างผลลัพธ์ทางสังคม ทั้งสองสิ่งนี้ต้องเดินควบคู่ไปพร้อมกัน

โดยจะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน มีบริษัทขนาดใหญ่หลายบริษัท ได้ลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเฮลท์แคร์ เช่น บริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในธุรกิจพลังงาน ลงทุนด้านธุรกิจยา หุ่นยนต์ทางการแพทย์ หรือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ามาในธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาล ฯลฯ ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละบริษัทที่เข้ามาต่างแสวงหาโอกาสจากการลงทุน

ในขณะเดียวกันกับความต้องการสร้างผลลัพธ์ทางสังคมและผลกระทบในเชิงบวกหลายด้านให้กับสังคมที่ยังขาดการเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม อีกทั้งยังเป็นการสร้างวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจที่มีความหยุ่นตัว (Resilience) ต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตที่จะต้องตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีความหลากหลายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ในท่ามกลางคลื่นแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดดนั้น “เฮลท์แคร์” ยังคงเป็นโอกาสในการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทางธุรกิจ และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด คือการสร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนในอนาคต โดยเป็นส่วนผสมที่ลงตัวและสมดุลระหว่างการทำธุรกิจเพื่อกำไรและธุรกิจเพื่อสังคม

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,886 วันที่ 11 - 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566