Medical (Aging) Hub เพื่อสังคมสูงอายุคุณภาพ

07 มี.ค. 2566 | 07:56 น.

Healthcare Insight โดย ธานี มณีนุตร์ [email protected]

ปี 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์แล้ว และในปี 2583 เราจะมีผู้สูงวัยจำนวน 20 ล้านคน หรือ 1 ใน 3 ของคนไทยจะเป็นผู้สูงอายุ และจะมีผู้สูงวัยอายุมากกว่า 80 ปีขึ้นไป มากถึง 3,500,000 คน โดยประเทศไทยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายต่างๆ เพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ รวมถึงการสร้างให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub หรือ Medical Tourism เพื่อเอื้อต่อชาวต่างชาติในวัยเกษียณ

เนื่องจากชีวิตหลังเกษียณเป็นช่วงชีวิตที่หลายคนไม่ได้ทำงานและไม่มีรายได้ จึงแสวงหาสถานที่เพื่อใช้ชีวิตหลังเกษียณในประเทศที่มีค่าครองชีพต่ำ จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงติดอันดับ 9 และเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเซียที่น่าใช้ชีวิตหลังเกษียณ จากการสำรวจของ International Living : The World’s Best Places to Retire in 2023 โดยการจัดอันดับดังกล่าว มีหลักเกณฑ์สำคัญๆ ได้แก่ ค่าครองชีพ อาหาร ค่ารักษาพยาบาล ความสะดวกของวีซ่า ภูมิอากาศ ประเพณีและวัฒนธรรม เป็นต้น

Healthcare Insight

ประเทศไทยมีจุดเด่นในด้านค่าครองชีพต่ำ สภาพแวดล้อมที่ดี ภูมิอากาศไม่หนาวหรือร้อนเกินไป อาหารการกินมีความหลากหลายและอร่อยติดอันดับโลก อีกทั้งคนไทยมีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นมิตร นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ตั้งแต่ระดับมาตรฐานไปจนถึงระดับพรีเมียม

มีการบริการด้านการรักษาพยาบาลและทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูงและใช้เทคโนโลยีทันสมัยระดับโลกและในปัจจุบัน ประเทศไทยของเราได้กำหนดมาตรการในการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าไทย โดยขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามในบางกลุ่มประเทศ กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลรวม 90 วัน

Healthcare Insight

รวมถึงขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี โดยมีการนำร่องใน 14 ประเทศก่อน ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น แคนาดา

ดังนั้น เรายังคงมีโอกาสอีกมากโดยเฉพาะด้านบริการการแพทย์และการดูแลฟื้นฟูศักยภาพผู้สูงอายุ เพื่อช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้สามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันอย่างปกติได้ ซึ่งแนวทางในการสร้างสภาพแวดล้อมเมืองแบบ universal design ก็มีบทบาทสำคัญพอๆ กับการจัดการสภาพแวดล้อมด้านการแพทย์และการรักษาพยาบาลให้แก่ผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ การพัฒนาไปสู่ศูนย์กลางทางการแพทย์ หรือ Medical Hub โดยมุ่งเป้าไปที่กลุ่มผู้สูงอายุหรือวัยเกษียณ ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่จะร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยไปพร้อมกันนั้น อุปทานแวดล้อมก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหาร อุปกรณ์ทางการแพทย์ ยาและวัคซีน เครื่องมือและเวชภัณฑ์ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ภาพรวมมูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ มีการคาดการณ์จาก The Insight Partner ว่า

Healthcare Insight

ในปี 2570 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า สัดส่วนของประเทศไทยอยู่ที่ 3.38 พันล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนไม่ถึง 1% ของมูลค่าตลาดโลกที่ 744.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถึงแม้ว่าไทยเราจะเป็นผู้ส่งออกถุงมือยางรายใหญ่ของโลกก็ตาม แต่ด้วยมูลค่าที่น้อย เพราะเป็นสินค้าผันแปรและราคาถูก ทำให้ภาพรวมมูลค่าตลาดเครื่องมือแพทย์ของไทยจึงไม่สูงนัก เป็นต้น

ดังนั้น การสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างเป็นรูปธรรม จะเป็นพลังสำคัญที่จะนำพา Medical Hub ไปสู่การสร้างประโยชน์กับเศรษฐกิจโดยใช้การสาธารณสุขเป็นตัวนำ และผมยังมีความหวังว่า รัฐบาลสมัยหน้าจะสานต่อ Medical Hub ควบคู่ไปกับการส่งเสริมธุรกิจด้านสาธารณสุข เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาวและพร้อมเข้าสู่สังคมสูงอายุคุณภาพอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,866 วันที่ 2 - 4 มีนาคม พ.ศ. 2566