‘เส้นเลือดขอด’ ร้าย-อันตรายกว่าที่คิด

14 ม.ค. 2567 | 21:37 น.

‘เส้นเลือดขอด’ ร้าย-อันตรายกว่าที่คิด : Tricks for Life

“โรคเส้นเลือดขอด” มักจะเกิดได้กับคนทั่วไป และหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะใครๆ ก็เป็นได้ แต่ในความเป็นจริง “โรคเส้นเลือดขอด” อาจลุกลามและกลายเป็นโรคร้ายแรงได้ หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา เพราะอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น แผลที่ขา โรคผิวหนังอักเสบบริเวณขา โรคหลอดเลือดดำโป่งพองแตก ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ และนำไปสู่การเสียชีวิตได้

เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) คือหลอดเลือดดำบริเวณใกล้ชั้นผิวหนัง ที่ขยายตัวเป็นเส้นเลือดคดเคี้ยวและนูนออกมาคล้ายลักษณะตัวหนอน เนื่องจากมีเลือดมาสะสมมากจนเห็นเป็นเส้นเลือดสีเขียวหรือม่วงเข้ม สามารถเกิดขึ้นได้กับหลายส่วนของร่างกาย เช่น บริเวณหลอดอาหาร มดลูก ช่องคลอด เชิงกราน และช่องทวารหนัก แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นที่ขาหรือเท้า

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดเส้นเลือดขอด คือ เพศ กรรมพันธุ์ อาชีพ กิจวัตรประจำวัน หญิงตั้งครรภ์และโครงสร้างหลอดเลือด ซึ่งอาการที่พบได้ทั่วไปคือ อาการเจ็บหรือรู้สึกหนักขา, เป็นตะคริวช่วงกลางคืน, บวม ตึง แสบร้อน, รู้สึกเจ็บมากขึ้นเมื่อนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน, คันรอบๆ เส้นเลือดเส้นใดเส้นหนึ่งหรือหลายเส้น, อาจมีเลือดออกจากเส้นเลือดที่บิดนูน, อาการปวดในเส้นเลือดบริเวณที่ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีแดง, เส้นเลือดแข็งหรือเปลี่ยนสี มีอาการอักเสบของผิวหนัง หรือบางรายอาจเกิดอาการอักเสบรุนแรงจนเกิดแผลได้

ระดับความรุนแรงมี 6 ระยะ ได้แก่

ระยะที่ 1 เส้นเลือดมีลักษณะคล้ายใยแมงมุม มักมีขนาดน้อยกว่า 3 มล.

ระยะที่ 2 เส้นเลือดเริ่มปูดเป็นตัวหนอน ขนาดใหญ่มากกว่า 3 มิลลิเมตร และมีอาการปวดเมื่อใช้งานเป็นระยะเวลานาน เช่น นั่ง เดิน หรือ ยืน

ระยะที่ 3 เริ่มมีอาการขาบวม และปวดมากขึ้นถึงแม้จะใช้งานในระยะเวลาสั้น ๆ

ระยะที่ 4 สีผิวที่ขาเริ่มเปลี่ยนเป็นสีดำเข้มขึ้น ซึ่งเป็นภาวะอักเสบของผิวหนัง

ระยะที่ 5 แผลหายจากการรักษา แต่ยังมีลักษณะอื่น ๆ ร่วม เช่น ผิวหนังที่เปลี่ยนสีเป็นสีดำ

ระยะที่ 6 เกิดแผลที่เป็นลักษณะเฉพาะของแผลบริเวณหลอดเลือดดำ เช่น ขอบแผลแดง

‘เส้นเลือดขอด’ ร้าย-อันตรายกว่าที่คิด

การรักษาเส้นเลือดขอดขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงที่เกิดขึ้น ได้แก่

  • การรักษาด้วยยาลดการอักเสบของหลอดเลือดดำ หรือการใส่ถุงน่องเส้นเลือดขอดเพื่อให้เลือดภายในหลอดเลือดดำไหลกลับคืนสู่หัวใจได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทั้ง 2 วิธีนี้จะช่วยบรรเทาอาการเท่านั้น ไม่สามารถรักษาให้หายได้
  • การฉีดสารเคมี หรือฉีดโฟม เข้าสู่เส้นเลือดดำ เพื่อให้เส้นเลือดฝ่อและตีบ เหมาะสำหรับการรักษาเส้นเลือดขอดขนาดเล็กๆ 2-3 มิลลิเมตร หรือ เส้นเลือดขอด ที่ยังคงเป็นอยู่หลังจากผ่าตัด
  • การใช้เลเซอร์ความร้อนหรือคลื่นวิทยุความถี่สูง โดยใช้หลักการรักษาด้วยการใส่สายขนาดเล็กใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วอาศัยพลังงานจากเลเซอร์หรือคลื่นวิทยุความถี่สูงที่ทำให้เส้นเลือดขอดฝ่อไป โดยจะต้องมีการประเมินความพร้อมของร่างกาย งดน้ำและอาหาร 6- 8 ชม. ก่อนผ่าตัด ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดเล็กประมาณ 30-45นาที แผลมีขนาดเล็กประมาณ 2 มล. หลังจากนั้นแพทย์จะมีการนัดติดตามอาการภายใน1-2สัปดาห์
  • การใช้กาวประสานเส้นเลือด โดยใช้หลักการรักษาด้วยการใส่สายขนาดเล็กใส่เข้าไปในหลอดเลือดดำแล้วหยอดของเหลวใสที่มีคุณสมบัติเหมือนกาวเข้าไปประสานหลอดเลือดดำทำให้ตีบตันและฝ่อไปเอง โดยเป็นการรักษาที่ทันสมัยที่สุดและสามารถทำการผ่าตัดโดยไม่ต้องดมยาสลบหรือไม่จำเป็นต้องงดน้ำและอาหาร 6-8 ชม. ก่อนผ่าตัด ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการผ่าตัดเล็กประมาณ 30-45นาที แผลมีขนาดเล็กประมาณ 2 มล. (รูเข็ม) หลังจากนั้นแพทย์จะมีการนัดติดตามอาการภายใน1-2สัปดาห์
  • การผ่าตัด ในผู้ป่วยที่มีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ ต้องประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนนัดมาผ่าตัด งดน้ำและอาหาร 6-8 ชม. ก่อนผ่าตัด ใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 1-2 ชม. หลังผ่าตัดจะพันขาด้วย Elastic Bandage จากนั้นแนะนำให้ใส่ถุงน่องชนิดพิเศษต่อ และแพทย์จะนัดติดตามอาการ 1-2 สัปดาห์

สำหรับการป้องกันเส้นเลือดขอด ควรหลีกเลี่ยงการยืนหรือนั่งเป็นเวลานาน ให้เปลี่ยนอิริยาบถบ่อยๆหลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้า กางเกง ถุงเท้า หรือถุงน่องที่รัดมากๆ เพราะจะทำให้เลือดไหลเวียนได้ไม่สะดวกไม่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นเวลานาน, ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำให้กล้ามเนื้อขาแข็งแรง การไหลเวียนของเลือดดีขึ้นและควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

ขอบคุณ : โรงพยาบาลเวชธานี

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,957 วันที่ 14 - 17 มกราคม พ.ศ. 2567