svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

ท้องผูก นอนละเมอ เกี่ยวอะไรกับ “โรคพาร์กินสัน”

03 มิถุนายน 2566

ท้องผูก นอนละเมอ เกี่ยวอะไรกับ “โรคพาร์กินสัน” คอลัมน์ Trick for Life

หลายคนรู้จัก “โรคพาร์กินสัน” แต่น้อยคนนักจะรู้ว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน อาจมีปัญหาการขับถ่าย ท้องผูก และนอนละเมอได้อีกด้วย

อาการภายนอกทั่วไป ที่พบเห็นในผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน คือ อาการสั่น เกร็ง และมีความผิดปกติเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว แต่แท้จริงแล้วผู้ป่วยพาร์กินสันอาจมีปัญหาการขับถ่าย ท้องผูก และนอนละเมอได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น หากพบอาการผิดปกติเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา

โรคพาร์กินสัน เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของสมอง ทำให้มีการสร้างสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดปามีนลดลง ซึ่งสารโดปามีนมีหน้าที่หลักในการควบคุมการเคลื่อนไหว เรียบเรียงความนึกคิด และอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ

โดยอาการของโรคพาร์กินสันมีทั้งที่แสดงออกทางการเคลื่อนไหว (Motor symptoms) เช่น อาการสั่น อาการแข็งเกร็ง การเคลื่อนไหวช้า ท่าเดินที่ผิดปกติ การทรงตัวที่ไม่ดี หรือแม้กระทั่งปัญหาการหกล้ม และ อาการแสดงที่ไม่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว (Non-motor symptoms)

ท้องผูก นอนละเมอ เกี่ยวอะไรกับ “โรคพาร์กินสัน”

จนบางครั้งผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าอาการเหล่านี้มีสาเหตุเกิดจากโรคพาร์กินสันเช่นกัน เช่น การนอนละเมอ (บางรายถึงขนาดทำร้ายร่างกายของคนที่นอนร่วมเตียง) และปัญหาการขับถ่ายโดยเฉพาะอาการท้องผูก ซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ เนื่องจากมีความเสื่อมของระบบประสาทอัตโนมัติควบคุมการเคลื่อนไหวของลำไส้ใหญ่ โดยอาการเหล่านี้อาจพบเป็นอาการนำก่อนที่จะเริ่มพบอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหวหรืออาการสั่นมาก่อนหลายปีก็ได้

แพทย์หญิงณัฎลดา ลิโมทัย อายุรแพทย์โรคสมองและระบบประสาท โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายอีกว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันบางส่วน อาจไม่ตระหนักถึงอาการของโรคเพราะคิดว่าเกิดจากอายุที่มากขึ้น ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้เกิดผลเสียต่าง ๆ ตามมา เช่น มีความเสี่ยงหกล้มง่าย เพราะฉะนั้น หากเริ่มมีอาการตามที่กล่าวมาข้างต้นควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง

แนวทางการรักษา “โรคพาร์กินสัน” แพทย์จะแนะนำให้เริ่มต้นด้วยการใช้ยา เพื่อเพิ่มการออกฤทธิ์ของสารโดปามีนในสมอง ซึ่งมีทั้งรูปแบบรับประทาน แผ่นแปะ และยารูปแบบฉีดใต้ผิวหนัง โดยพบว่า ผู้ป่วยโรคพาร์กินสันมีการตอบสนองต่อยาได้ดีมากถึง 70-100% และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้เหมือนปกติก่อนเกิดอาการ

การรับประทานยาที่ถูกต้องคือ รับประทานยาตอนท้องว่าง เพื่อให้ยาออกฤทธิ์ได้ดี เช่น ก่อนอาหารอย่างน้อยครึ่งชั่วโมง หรือหลังอาหาร อย่างน้อย 1 ชั่วโมง หากรับประทานยาใกล้เคียงกับมื้ออาหารโดยเฉพาะกลุ่มโปรตีน เช่น เนื้อสัตว์ และนม จะทำให้การดูดซึมยาน้อยลง หรือยาอาจจะไม่ออกฤทธิ์ นอกจากนี้ ยังควรรับประทานยาให้ตรงเวลาตามจำนวนครั้งและปริมาณที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันอาการตอบสนองต่อยาไม่สม่ำเสมอที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ควร

เมื่อการตอบสนองของยาลดลง ไม่ดีเหมือนช่วงแรกของการรักษา และมีการตอบสนองของยาไม่สม่ำเสมอ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นประสาทส่วนลึก(Deep brain stimulation) โดยใช้กระแสไฟฟ้าควบคุมวงจรการทำงานของสมอง สามารถช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมการเคลื่อนไหวโดยรวมและทำกิจวัตรประจำวันได้ดีขึ้น

นอกเหนือจากการรักษาด้วยยาหรือผ่าตัด การดูแลสุขภาพโดยทั่วไปก็เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับผู้ป่วยพาร์กินสัน โดยแนะนำให้ออกกำลังกาย เช่น การเดิน ปั่นจักรยาน หรือออกกำลังกายในบ้าน การรับประทานอาหารที่มีพลังงานและโปรตีนเพียงพอ เพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และผักผลไม้เพื่อช่วยเรื่องการขับถ่ายให้ดีขึ้น

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,893 วันที่ 4 - 7 มิถุนายน พ.ศ. 2566