ผลข้างเคียง-ข้อควรรู้ ก่อนกิน ‘กระท่อม’

27 พ.ย. 2565 | 22:02 น.

Tricks for Life

กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง เมื่อสื่อต่างประเทศนำเสนอผู้เสียชีวิตจากการดื่มน้ำกระท่อมสกัดเป็นผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพ เนื่องจากได้รับสารไมตราไจนีนในปริมาณสูงเกินไป

 

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า เนื่องจากพืชกระท่อมมีสารไมตราไจนีน (Mitragynine) ซึ่งเป็นสารจำพวกอัลคาลอยด์ ออกฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง และอาจนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ที่นิยมบริโภคเพื่อเสริมสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ในรูปของเม็ด เกล็ด ผง แคปซูล ของเหลว หรือรูปแบบอื่นๆ

 

โดยใช้รับประทานเสริมจากการรับประทานอาหารหลักตามปกติ เพื่อคาดหวังประโยชน์ต่อสุขภาพสำหรับผู้ที่มีสุขภาพปกติแต่ไม่สามารถรับประทานอาหารหลักได้ครบ ไม่ใช่สำหรับผู้ป่วย จึงไม่มีผลในทางบำบัด บรรเทา หรือรักษาโรค

 

อาการข้างเคียงที่พบคือ จะทำให้เกิดใจสั่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ประสาทหลอน กระสับกระส่าย เป็นต้น ส่วนผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน

Tricks for Life

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการ อย. กล่าวว่า ปัจจุบันสามารถนำกระท่อมมายื่นขออนุญาต อย. เป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นยาแผนโบราณจากสมุนไพร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรืออาหาร ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์การใช้และปริมาณที่ใช้เป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์

              

หากผู้จำหน่ายมีเจตนาเพื่อให้เกิดผลด้านสรรพคุณบรรเทา บำบัด รักษาโรค หรือเพื่อเกิดผลต่อสุขภาพ หรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น เสริมสร้างโครงสร้าง หรือการทำงานของร่างกาย ลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค จะเข้าข่ายเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งหากผู้จำหน่ายมีเจตนาให้บริโภคเพื่อค้ำจุนชีวิต ผลิตภัณฑ์นั้นต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยอาหารใหม่ และได้รับเลขสารบบอาหารอย่างถูกต้องจึงจะจำหน่ายได้

              

อย่างไรก็ดี การบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีส่วนประกอบของกระท่อมอย่างปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่ผ่านการประเมินความปลอดภัย และได้รับอนุญาตถูกต้อง โดยสังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ ต้องแสดงเลขสารบบอาหาร ปฏิบัติตามคำแนะนำในการบริโภค (ไม่บริโภคมากเกินไป) และปฏิบัติตามข้อความคำเตือนบนฉลาก เช่น

              

ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี, สตรีมีครรภ์, สตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน ไม่ควรรับประทานติดต่อกันเกิน 7 วัน รวมทั้ง อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอวดอ้างสรรพคุณ คุณประโยชน์ ต่อสุขภาพในทางบำบัด รักษาเพื่อความมั่นใจก่อนการบริโภค

 

ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบการได้รับอนุญาตได้จากเว็บไซต์ อย. www.fda.moph.go.th หัวข้อ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หากผู้บริโภคมีข้อสงสัยเรื่องความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพ สามารถสอบถามหรือแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected]

 

หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,839 วันที่ 27 - 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565