การประเมินอายุขัยและการเตรียมตัวตาย สถิติจากการสำรวจในกรุงเทพมหานคร

05 ต.ค. 2565 | 07:47 น.

การประเมินอายุขัยและการเตรียมตัวตาย สถิติจากการสำรวจในกรุงเทพมหานคร : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,824 หน้า 5 วันที่ 6 - 8 ตุลาคม 2565

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า คน (ที่มีเหตุมีผล) สามารถประเมินอายุขัยของตนเองได้ รู้ว่าจะตายเมื่อไหร่ และจะจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ตามการประเมินอายุขัยนั้น ตัวอย่างเช่น หากนาย A รู้ว่าตนเองจะสามารถหาเงินทั้งชีวิตได้ 100,000 บาท และจะมีชีวิตยาวนาน 70 ปี นาย A ก็จะพยายามใช้เงิน 100,000 บาทเพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงที่สุด ด้วยการวางแผนว่าจะใช้เงินไปกับการบริโภคในปีนี้กี่บาท ปีหน้าจนถึงปีที่ 70 อีกกี่บาท จะใช้เงินทั้งหมดหรือไม่ หรือจะเก็บไว้เป็นมรดกบ้าง (ซึ่งหมายความว่านาย A จะมีเงินเพื่อการบริโภคของตนเองน้อยลง)

 

การรับรู้วันตายจึงเป็นเงื่อนไขของการวางแผนชีวิตที่มีประสิทธิภาพ หากการรับรู้ดังกล่าวผิดพลาด การวางแผนชีวิตก็จะผิดพลาด จนอาจสร้างปัญหาตามมาได้ถ้ามีทรัพยากรไม่พอ

 

ลองพิจารณานาย A ในตัวอย่างข้างต้น หากนาย A ประเมินอายุขัยผิดและมีชีวิตอยู่นานกว่า 70 ปี นาย A ก็จะต้องใช้เงินกับการบริโภคมาก กว่าที่คาดไว้ ซึ่งหมายความว่า (1) นาย A อาจมีเงินไม่พอใช้ (หมดเงินก่อนตาย) หรือ (2) มีพอใช้ แต่เหลือให้กับบุตรหลานได้น้อยกว่าที่ตั้งใจไว้ ซึ่งทั้งคู่ไม่น่าใช่ผลลัพธ์ที่นาย A ต้องการ

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์จะระบุว่า มนุษย์สามารถประเมินอายุขัยได้อย่างถูกต้อง แต่งานวิจัยส่วนใหญ่ยังคงเปิดโอกาสให้มีความผิดพลาดได้บ้าง เนื่องด้วยการประเมินอายุขัยไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ และความตายก็อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

 

ในทางปฏิบัติ การประเมินอายุขัยจึงเป็นการ “ประมาณ” ความยาวนานของชีวิต ซึ่งทุกคนน่าจะ “พอเดาได้” ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ ตัวอย่างเช่น เราอาจประมาณอายุที่เราจะตายได้จากการพิจารณาความตายของคนในครอบครัว หรือ จากอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) ของประชากรในประเทศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ราว 77 ปี หรือจากอัตราการเสียชีวิตของคนในประเทศตามที่ระบุไว้ในตารางชีพ (Life Table) ที่นิยมใช้กันในการคิดเบี้ยประกันและการศึกษาด้านสาธารณสุข

 

 

การประเมินอายุขัยและการเตรียมตัวตาย สถิติจากการสำรวจในกรุงเทพมหานคร

 

 

เมื่อปีที่แล้ว ผู้เขียนได้ทำการศึกษา (นพพล วิทย์วรพงศ์, พ.ศ. 2564) เพื่อประเมินว่าคนไทยสามารถประเมินอายุขัยได้อย่างถูกต้องหรือ ไม่ และการประเมินอายุขัยดังกล่าวส่งผลต่อพฤติกรรมการเตรียมตัวตายอย่างไร โดยทำการสำรวจประชากร ในจังหวัดกรุงเทพมหานครที่มีอายุ 25-75 ปีจำนวน 1,756 คน ในช่วงกลางปี พ.ศ. 2564

 

คำถามส่วนหนึ่งเกี่ยวกับการประเมินการตาย โดยกำหนดให้ผู้ตอบแบบสอบถามระบุจำนวนปีที่คาดว่าจะยังมีชีวิตอยู่ ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างประเมินว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีกประมาณ 27 ปี ตัวเลขนี้แปรผันตามช่วงอายุ

 

โดยคนวัยทำงาน (อายุ 25-49 ปี) ประเมินว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีก 38 ปี ในขณะที่ผู้ใกล้สูงอายุ (50-59 ปี) และผู้สูงอายุ (60-75 ปี) ประเมินว่าตนเองจะมีชีวิตอยู่ไปได้อีก 22 ปี และ 13 ปี ตามลำดับ

 

และเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติการเสียชีวิตในระดับประชากร พบว่า การประเมินอายุขัยนี้คลาดเคลื่อนไปประมาณ 7 ปี (กลุ่มตัวอย่างมองว่าตนเองจะเสียชีวิตในอีก 27 ปี ในขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกที่คำนวณเวลาชีวิตคงเหลือระบุว่า คนในกลุ่มตัวอย่างควรมีชีวิตอยู่ได้อีก 34 ปีโดยเฉลี่ย) การคลาดเคลื่อนนี้นับว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่าการศึกษาในประเทศพัฒนาแล้ว

 

นอกจากการประเมินอายุขัย การสำรวจยังมีคำถามเกี่ยวกับการเตรียมตัวตาย ทั้งทางด้านร่างกายและทรัพย์สิน ในด้านร่างกาย กลุ่มตัวอย่างได้รับคำถามว่า มีความประสงค์ที่จะบริจาคอวัยวะ หรือ ร่างกายหลังการเสียชีวิตหรือไม่ และมีการทำพินัยกรรมชีวิตไว้หรือไม่ (พินัยกรรมชีวิต หมายถึง เอกสารทางกฎหมายที่ระบุถึงเจตนาที่จะไม่รับบริการทางการแพทย์เพื่อยื้อชีวิตไว้ ในช่วงที่ใกล้เสียชีวิตแล้ว) ในด้านทรัพย์สิน การสำรวจถามกลุ่มตัวอย่างว่ามีประกันชีวิตหรือไม่ มีพินัยกรรมหรือไม่ และมีการสั่งเสียญาติพี่น้องในด้านการจัดการร่างกายและทรัพย์สินหลังการตายบ้างหรือไม่

 

ผลการสำรวจพบว่ามีเพียง 13% ของกลุ่มตัวอย่าง ที่มีการเตรียมตัวตายในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งข้างต้น โดยการทำประกันชีวิตเป็นรูปแบบการเตรียมตัวตายที่พบบ่อยที่สุด (7%) และการทำพินัยกรรมชีวิตเป็นรูปแบบที่พบน้อยที่สุด (0.1%)

 

ทั้งนี้ กลุ่มอายุที่มีการเตรียมตัวตายมากที่สุด คือ กลุ่มใกล้สูงอายุ (50-59 ปี)  ตามมาด้วยวัยทำงาน และวัยสูงอายุ ตามลำดับ ซึ่งผลการสำรวจนี้ขัดแย้งกับการสำรวจในประเทศอื่นที่มักพบว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีการเตรียมตัวตายมากที่สุด

 

เมื่อวิเคราะห์การสำรวจเพิ่มเติม ก็พบประเด็นที่น่าสนใจอีกหลายประการ ประการแรก คนกรุงเทพฯ ในกลุ่มตัวอย่างคาดประมาณอายุขัยของตนเองสั้นเกินไป ซึ่งในทางทฤษฎี การคาดประมาณที่ไม่ถูกต้องนี้ ควรส่งผลให้เกิดการบริโภคที่มากเกินไป และการเตรียมตัวแก่และเตรียมตัวตายที่น้อยเกินไป แต่การวิเคราะห์ทางสถิติ กลับไม่พบความสัมพันธ์ดังกล่าวอย่างชัดเจนนัก

 

ประการที่สอง การเตรียมตัวตายของกลุ่มตัวอย่างอยู่ในระดับที่ไม่สูงนัก (13%) เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ที่พบว่าประชากรวัยทำงานเกือบครึ่งหนึ่งมีพินัยกรรม

 

ประการสุดท้าย การคาดประมาณอายุขัยและการเตรียมตัวตายของกลุ่มตัวอย่างขึ้นอยู่กับระดับการศึกษา โดยพบว่า ผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรีขึ้นไปสามารถประเมินอายุขัยได้ถูกต้องกว่า และมีการเตรียมตัวตายในระดับที่สูงกว่าผู้ที่มีการศึกษาน้อยกว่าอย่างชัดเจน 

 

การสำรวจข้างต้น แสดงถึงความคาดเคลื่อนของการประเมินอายุขัยและการขาดการเตรียมตัวตายของกลุ่มตัวอย่างในภาพรวม ซึ่งนับเป็นปัญหาเชิงนโยบายที่สำคัญ เพราะการขาดการเตรียมตัวตาย หรือ การเตรียมทรัพยากรอย่างไม่เพียงพอกับชีวิตที่ยังเหลืออยู่นั้น จะทำให้เกิดการพึ่งพา (ครอบครัวหรือรัฐ) ที่มากเกินความจำเป็น

 

นอกจากนี้ การสำรวจนี้ยังตอกยํ้าความสำคัญของการขยายโอกาสและเพิ่มคุณภาพของการศึกษา โดยชี้ให้เห็นว่า คนที่มีการศึกษาสูง จะมีแนวโน้มที่จะประเมินอายุขัยได้อย่างถูกต้องมากกว่า และมีการเตรียมตัวตายในระดับที่สูงกว่า ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการวางแผนการใช้ชีวิตที่ดีขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง:

นพพล วิทย์วรพงศ์ (พ.ศ. 2564). “ความคาดหวังต่อความยืนยาวของชีวิต ความกังวลต่อความตาย และพฤติกรรมของผู้บริโภค: กรณีศึกษาพื้นที่กรุงเทพมหานคร”. เสนอต่อแผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงาน คนไทย 4.0 สนับสนุน