สัญญาณเตือน วิธีรักษา ป้องกัน ลดเสี่ยงป่วย “โรคไตวายเรื้อรัง”

15 เม.ย. 2568 | 03:25 น.
อัปเดตล่าสุด :15 เม.ย. 2568 | 03:29 น.

สัญญาณเตือน วิธีรักษา ป้องกัน ลดเสี่ยงป่วย “โรคไตวายเรื้อรัง” : Tricks for Life

เป็นเรื่องน่ากังวล  สำหรับสถานการณ์ “โรคไต” ในประเทศไทย เมื่อพบว่า คนไทยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกที่มีอัตราผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสูงที่สุด ขณะนี้มีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังขึ้นทะเบียนถึง 11.6 ล้านคน และเกือบ 9 หมื่นคนต้องฟอกเลือดทุกปี                                                

"ไต" อวัยวะเล็กๆ ที่มักถูกมองข้าม แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งในร่างกาย ทำหน้าที่ขจัดของเสีย ควบคุมสมดุลน้ำ เกลือแร่ และความดันโลหิต หากปล่อยให้ "ไตเสื่อม" โดยไม่รู้ตัว ผลลัพธ์อาจร้ายแรงจนส่งผลต่อชีวิตในระยะยาว

ข้อมูลทางการแพทย์เผยว่า คนไทยกว่า 17.6% กำลังเผชิญกับโรคไตเรื้อรังโดยไม่รู้ตัว และในแต่ละปีมีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โรคไตยังเป็นสาเหตุอันดับ 6 ของการเสียชีวิตทั่วโลกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

สัญญาณเตือน วิธีรักษา ป้องกัน ลดเสี่ยงป่วย “โรคไตวายเรื้อรัง”

พญ.ชโลธร แต้ศิลปสาธิต อายุรแพทย์โรคไตจากโรงพยาบาลพระรามเก้า กล่าวว่า ไตเสื่อม เป็นปัญหาสุขภาพที่หลายคนไม่รู้มาก่อน เนื่องจากในระยะแรกอาจไม่มีอาการใดๆ แต่อาจกลายเป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตในอนาคต ไตมีหน้าที่สำคัญในการกรองของเสียและควบคุมสมดุลต่างๆ เช่น ความดันโลหิตและระดับน้ำในร่างกาย หากไตเสื่อมโดยไม่รู้ตัว อาจนำไปสู่ "โรคไตวายเรื้อรัง" ซึ่งต้องการการฟอกเลือดหรือปลูกถ่ายไต

สาเหตุหลักของโรคไตเรื้อรังในไทย ได้แก่

1. โรคเบาหวานที่ไม่ได้รับการควบคุม

2. โรคความดันโลหิตสูงที่ไม่ได้รับการดูแล

3. การใช้ยาไม่เหมาะสม เช่น ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs, ยาสมุนไพรไทยและจีน, ยาชุด ยาลูกกลอน, ยาปฏิชีวนะที่ใช้ผิดวิธี

4. โรคทางเดินปัสสาวะอุดตัน เช่น นิ่ว เนื้องอก ต่อมลูกหมากโต

5. โรคไตอักเสบจากโรคภูมิคุ้มกัน เช่น SLE

6. ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น โรคซีสต์ที่ไต

สัญญาณเตือน วิธีรักษา ป้องกัน ลดเสี่ยงป่วย “โรคไตวายเรื้อรัง”

พญ.ชโลธร กล่าวเพิ่มเติมว่า สัญญาณของโรคไตเรื้อรังแบ่งเป็น 5 ระยะตามค่า eGFR โดยในระยะ 1-3 มักไม่มีอาการชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยไม่รู้ตัวว่าเป็นโรคไต อาการจะเริ่มชัดเจนในระยะที่ 4-5 เช่น ปัสสาวะออกน้อย ขาบวม หนังตาบวม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน โลหิตจาง เมื่ออายุเกิน 30 ปี อัตราการทำงานของไตจะค่อยๆลดลงทุกปีเป็นปกติ

แต่ถ้ามีโรคประจำตัวบางอย่างที่ส่งผลต่อไต เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง อาจทำให้การทำงานของไตลดลงเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ดังนั้นจึงแนะนำให้ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ โดยอาจเริ่มต้นตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไป

สำหรับวิธีการรักษาโรคไตในปัจจุบันมี 3 วิธีหลักคือ

1. การฟอกเลือด (Hemodialysis) ทำที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ฟอกไต 2-3 ครั้ง/สัปดาห์ ครั้งละ 4 ชั่วโมง

2. การฟอกไตทางหน้าท้อง (Peritoneal Dialysis) ทำที่บ้านได้ แต่ต้องดูแลความสะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

3. การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant) โดยการบริจาคจากญาติหรือผ่านศูนย์บริจาคอวัยวะ มีคุณภาพชีวิตดีกว่าการฟอกไตและอัตราการรอดชีวิตสูงกว่าวิธีอื่น

พญ.ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

การป้องกันโรคไตเริ่มต้นจากการดูแลตัวเองง่ายๆ ดังนี้

1. หลีกเลี่ยงการกินอาหารเค็ม (โซเดียมเกิน 2 กรัมต่อวัน หรือเท่ากับเกลือแกงเกิน 1 ช้อนชาต่อวัน)

2. หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดประเภท NSAIDs, ยาสมุนไพรไทยและจีน, ยาชุดที่มีผลต่อไต

3. หยุดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การกลั้นปัสสาวะบ่อยๆ การสูบบุหรี่ การดื่มน้ำน้อย และการกินอาหารแปรรูป

สำหรับผู้ป่วยโรคไตอยู่แล้ว ควรควบคุมโรคต้นเหตุ เช่น เบาหวาน ความดันสูง กินยาตามแพทย์สั่งและจำกัดอาหารที่มีโซเดียม และฟอสฟอรัส