เปลี่ยนภาษีเป็นเงินเกษียณ

16 ธ.ค. 2564 | 20:59 น.

คุณเคยคิดหรือไม่ว่ายามเกษียณอยากเห็นภาพตัวเองใช้ชีวิตอย่างไร? เพื่อสามารถมีชีวิตแบบนั้นต้องใช้เงินเท่าไหร่? ณ วันนี้คุณมีเตรียมไว้เพียงพอแล้วหรือยัง? และต้องเตรียมเพิ่มอีกเท่าไหร่เพื่อสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจ

เพื่อที่จะมีเงินใช้ในยามเกษียณให้เพียงพอนั้น ควรเริ่มเก็บเงินตั้งแต่ตอนนี้ เริ่มจากการออมเท่าที่เก็บได้ และเมื่ออนาคตมีรายได้มากขึ้นก็ออมเพิ่มขึ้น โดยการเตรียมเงินก้อนนี้สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในหุ้น กองทุนรวม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ประกันชีวิต ประกันบำนาญ ฯลฯ
 

จะดีหรือไม่ถ้าไหน ๆ จะต้องเก็บเงินเกษียณและต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่แล้ว ทำไมไม่เก็บเงินเกษียณที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีด้วย เพื่อจะได้เปลี่ยนเงินภาษีส่วนหนึ่งเป็นเงินเกษียณ ซึ่งวิธีเก็บเงินเกษียณที่จะทำให้เราได้สิทธิลดหย่อนภาษีมีดังนี้

 

เปลี่ยนภาษีเป็นเงินเกษียณ

 

1.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) การออมภาคสมัครใจที่ถ้าบริษัทไหนมีควรออมอย่างยิ่ง เพราะลูกจ้างสะสมส่วนหนึ่ง และนายจ้างช่วยสมทบให้อีกส่วนหนึ่ง โดยสามารถสะสมและสมทบได้ 2-15% ของเงินเดือน เงินที่ลูกจ้างจ่ายสะสมสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริง ไม่เกินปีละ 500,000 บาท สามารถเลือกนโยบายและสัดส่วนการลงทุนได้หลากหลายขึ้นอยู่กับแต่ละบริษัท  โดยสามารถเลือกได้ทั้งการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม ฯลฯ

 

2.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) สำหรับข้าราชการ 12 ประเภท สะสมได้ 3-15% ของเงินเดือน รัฐสมทบให้ 3% ของเงินเดือน และถ้าเลือกรับบำนาญจะได้ส่วนชดเชยจากรัฐเพิ่มอีก 2% ของเงินเดือน หักลดหย่อนในส่วนเงินสะสมได้ไม่เกินปีละ 500,000 บาท

 


 


3.กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน สำหรับผู้อำนวยการ ครู และบุคลากรทางการศึกษา หักลดหย่อนได้ตามจริง ในส่วนสะสม 3% ของเงินเดือน และไม่เกินเดือนละ 1,200 บาท ถ้าทำงานครบ 10 ปี จะได้เงินเพิ่มในส่วนที่โรงเรียนสมทบ 3% ของเงินเดือน และกระทรวงศึกษาธิการสมทบ 6% ของเงินเดือน

 

4.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) สำหรับคนอายุ 15-60 ปี ที่ไม่มีสวัสดิการบำเหน็จบำนาญอื่นของรัฐ จ่ายสะสมไม่เกินปีละ 13,200 บาท และรัฐจะช่วยสมทบให้ไม่เกินปีละ 1,200 บาท โดยสมทบให้ตามอายุและจำนวนเงินที่เราสะสม สะสมปีไหนก็สามารถลดภาษีปีนั้นได้ หลังอายุ 60 จะได้รับเงินบำนาญ โดยจำนวนที่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนที่สะสม

 

5.กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกินปีละ 500,000 บาท ต้องลงทุนต่อเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (เว้นได้ไม่เกิน 1 ปีติดต่อกัน) ปัจจุบันไม่กำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำในแต่ละปี เงื่อนไขการลงทุนต้องลงทุนอย่างน้อย 5 ปีนับจากวันซื้อ และอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หลังจากนั้นจะลงทุนต่อหรือไม่ก็ได้ หากต้องการขายคืนสามารถทยอยขาย หรือขายทั้งก้อน

 

6.กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกินปีละ 200,000 บาท ลงทุนปีไหนก็สามารถลดภาษีปีนั้นได้ ไม่จำเป็นต้องซื้อทุกปี สามารถใช้สิทธิได้ในปี 2563 - 2567 ต้องถือไม่น้อยกว่า 10 ปีนับจากวันซื้อแต่ละครั้ง

 

7.ประกันบำนาญ สามารถนำมาลดภาษีได้ไม่เกิน 15% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี และไม่เกินปีละ 200,000 บาท ช่วยให้มั่นใจได้ว่าจะมีเงินที่แน่นอนเหมือนเงินเดือนในยามเกษียณ
 

* โดยการเก็บเงินเพื่อการเกษียณที่ลดภาษีได้จากข้อ 1 – 7 สามารถหักเป็นค่าลดหย่อน รวมกันไม่เกินปีละ 500,000 บาท *

 

 

8.ประกันอื่นๆ ที่มีมูลค่าเงินสด เช่น ประกันสะสมทรัพย์ ประกันตลอดชีพ สามารถนำมาลดภาษีได้ตามจริง ไม่เกินปีละ 100,000 บาท และเมื่อถือนานพอจะมีมูลค่าเงินสดส่วนหนึ่งที่ถ้าไม่ต้องการความคุ้มครองแล้ว สามารถเวนคืนกรมธรรม์ เพื่อนำเงินออกมาใช้ยามเกษียณได้ แต่ควรเป็นเงินก้อนสุดท้ายที่ถ้าไม่มีจริง ๆ  แล้วจึงนำออกมาใช้

 

ทั้งนี้จะเลือกวิธีการเก็บเงินเกษียณวิธีไหนก็อยู่ที่สถานการณ์ของแต่ละคน ว่าคน ๆ นั้นรับความเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน ต้องการเงินที่แน่นอน หรือต้องการผลตอบแทนสูง ถ้าโดยทั่วไปควรมีเงินที่แน่นอนก้อนหนึ่งสำหรับค่าใช้จ่ายประจำ และมีการลงทุนอีกส่วนหนึ่งที่สร้างผลตอบแทนชนะเงินเฟ้อ เพื่อมูลค่าของเงินจะได้ไม่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป

 

ตัวอย่าง คนที่มีรายได้ทั้งปี 1 ล้านบาท เปรียบเทียบระหว่างการเก็บเงินที่สามารถลดภาษีได้กับลดภาษีไม่ได้

 

เปลี่ยนภาษีเป็นเงินเกษียณ

 

จากตารางมีรายได้จากงานประจำรวมทั้งปี 1,000,000 บาท สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท หักค่าลดหย่อนส่วนตัวได้ 60,000 บาท หักประกันสังคมในปี 2564 ได้ 5,100 บาท (จากปกติปีละ 9,000 บาท) รวมจะมีเงินได้สุทธิที่ต้องนำไปคำนวณภาษี 834,900 บาท ถ้าไม่เก็บเงินเกษียณที่ลดภาษีได้จะต้องเสียภาษี 81,980 บาท แต่ถ้าเก็บเงินเกษียณที่ลดภาษีได้ 200,000 บาท จะเหลือเสียภาษีเพียง 47,735 บาท ทำให้ประหยัดภาษีไปได้ 34,245 บาท

 

เพียงแค่ย้ายเงินสำหรับยามเกษียณมาเก็บในที่ที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษี จะทำให้เราได้เงินภาษีคืนในวันนี้ ได้เตรียมเงินอีกก้อนไว้ในยามแก่ชรา พร้อมทั้งได้สร้างนิสัยการออม และด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ถ้านำเงินออกมาก่อนอาจต้องคืนภาษี ทำให้เงินส่วนใหญ่ยังอยู่จนถึงวันเกษียณ เพราะมันไม่สำคัญว่าตลอดชีวิตที่ผ่านมาเราจะมีเงินผ่านมือมากมายแค่ไหน แต่ที่สำคัญคือสุดท้ายเรามีเงินเพียงพอใช้ตลอดชีวิต และรักษาศักดิ์ศรีทางการเงินของเราไว้ได้หรือไม่

 

มาเริ่มเก็บเงินเกษียณที่ลดภาษีได้กันตั้งแต่วันนี้ เพื่อชีวิตยามเกษียณที่คุณใฝ่ฝันจะไม่เป็นเพียงฝัน แต่เกิดขึ้นจริงกันนะคะ

 

 

บทความโดย : วริศรา แสงอุไรพร นักวางแผนการเงิน CFP®

                      สมาคมนักวางแผนการเงินไทย