DELTA หุ้นอันตราย

04 เม.ย. 2566 | 19:30 น.

DELTA หุ้นอันตราย คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ โดย...เจ๊เมาธ์

** การที่ราคาหุ้นของ DELTA “ทิ้งดิ่ง” ร่วงลงไปถึง 15% ภายหลังปิดตลาดฯ ในวันจันทร์ที่ 3 เมษายน มีองค์ประกอบรวมกันหลายสาเหตุ อย่างแรกคือการที่ ดร.นิเวศน์ ระบุถึงหุ้น DELTA ในช่วงวันหยุดว่า มีความเสี่ยง “Corner แตก” เพราะราคาหุ้นสูงเกินคุณภาพ โดยให้ความเห็นว่าด้วยค่า PE ที่สูงถึง 93 เท่า มีค่า PB อยู่ที่ 26 เท่า ทั้งที่เป็นเพียงผู้ผลิตชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรมขั้นกลาง จึงควรจะมีค่า PE ที่เหมาะสม ไม่ควรจะสูงกว่า 20 เท่า ซึ่งเป็นค่า PE เฉลี่ยของตลาด ขณะที่ก่อนหน้าที่ ดร.นิเวศน์ จะพูดถึง DELTA ทางฝั่งของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ได้แจ้งเตือนนักลงทุนในเรื่องของความเสี่ยง และให้พิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบ รวมถึงการจับ DELTA ติดแคชฯ ระดับ 2 อีกด้วย รวมไปถึงตอนนี้หุ้นร้อนอย่าง DELTA ก็ได้ถูกขุดถูกรื้อจนแทบจะไม่มีอะไรให้นักลงทุนได้ลุ้นอีกแล้ว  
     
ว่ากันตามตรงหุ้นอย่าง DELTA ถือว่าเป็น “หุ้นมหัศจรรย์” ที่นานๆ ถึงจะโผล่มาสักตัว เนื่องจากมูลค่าการตลาดที่พุ่งขึ้นไปสูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท สูงกว่ามูลค่าทางการตลาดของ PTT ซึ่งเป็นบริษัทใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของไทยอยู่ถึง 30% ทั้งที่ตัว DELTA มีรายได้ที่น้อย PTT อยู่ถึง 22 เท่า มีกำไรทีน้อยกว่าถึง 9 เท่า จนเป็นเหตุให้ DELTA กลายเป็นหุ้นตัวป่วน ที่ทำให้ตลาดหุ้นบิดเบือนมากที่สุดอีกหนึ่งตำแหน่ง  
     
น่าสนใจว่าในช่วงปีก่อนหน้าหุ้นอย่าง DELTA ก็เคยแผลงฤทธิ์มาแล้ว และครั้งนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปล่อยผ่านแบบที่เคยทำหรือเปล่าน๊าา เจ๊เมาธ์อยากรู้จริงๆ จ้าค่ะ อิอิอิ

*** การที่โอเปคและพันธมิตร มีมติปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบลงอีก 1.1 ล้านบาเรลต่อวัน จะเป็นสาเหตุให้ราคาน้ำมันดิบกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้ง ซึ่งกลุ่มหุ้นที่น่าจะได้รับผลกระทบ ก็น่าจะเจ้าของปั๊มน้ำมันอย่าง OR และ PTG เช่นเดิม  

อย่างไรก็ตาม...ในรอบนี้ผลกระทบที่ทั้ง OR และ PTG อาจจะได้รับอาจจะไม่รุนแรงอย่างที่เคยเป็นมาก่อน คือ ค่าการตลาดที่ปรับคืนกลับสู่ภาวะปกติตามปี 63 ทั้งกลุ่มน้ำมันดีเซล กลุ่มน้ำมันเบนซิน และ น้ำมันแก๊สโซฮอล์ เฉลี่ยอยู่ที่ 2.00 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่ วันที่ 15 ก.พ. 66 มีส่วนทำให้ทั้งกำไรและรายได้ของทั้งสองบริษัทกลับมาแข็งแกร่ง 

ส่วนเรื่องที่สอง คือ การวางโครงสร้างที่สัดส่วนของรายได้ของ Non-oil ที่มากขึ้นมีส่วนทำให้ความกังวลของนักลงทุนมีน้อยลง และสำคัญที่สุดคือ ทั้งสองบริษัทต่างก็มีบทเรียนมาจากการเข้าแทรกแซงราคาน้ำมัน ของทางภาครัฐมาแล้ว ดังนั้น ถึงแม้ว่าทั้ง OR และ PTG อาจจะไม่ใช้หุ้นที่ดีที่สุด...แต่ถ้าจะเอามาทำหลุมหลบภัยในจังหวะแบบนี้ก็น่าจะพอได้เหมือนกัน
     
*** หลังสิ้นสุดความตื่นกลัวจากการระบาดของเชื้อโควิด-19 ก็ถึงเวลาของ AOT ที่จะได้โชว์ความเป็นหุ้นผูกขาดแข็งแกร่งแค่ไหน นี่ยังไม่นับไปถึงเวลาเกือบๆ 2 ปีที่ราคาหุ้นของ AOT วนเวียนอยูในระดับราคาหุ้นแถว 70 บาท ทั้งที่ขาดทุนต่อเนื่องมานาน ซึ่งเจ๊เมาธ์บอกเลยว่า มันเป็นเรื่องของความเชื่อมั่นโดยที่ไม่มีปัจจัยพื้นฐานในเรื่องรายได้ของบริษัทเข้ามารองรับแต่อย่างใด  

ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าตัวเลขของปี 66 ที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่จะเข้ามาในประเทศน่าจะอยู่ที่ราวๆ 28-30 ล้านคน ซึ่งจะสร้างรายได้จนทำให้ AOT หลุดออกมาจากภาวการณ์ขาดทุน เพียงแต่การที่ราคาหุ้นที่วิ่งอยู่ในราคาระดับ 70 บาทแบบนี้ เป็นระดับราคาที่ตอบรับความคาดหวังที่ค่อนข้างจะสูงมากแล้ว 

ดังนั้น โอกาสที่ราคาจะปรับขึ้นเพื่อตอบรับกับรายได้และกำไร ที่กำลังจะดีขึ้นก็จะน้อยลงตามไปด้วย เจ๊เมาธ์มองว่าจากนี้ไป AOT ก็ยังจะไม่ขึ้น หรือ ลงแบบหวือหวา แต่จะนิ่งๆ ไปเรื่อยๆ อีกนานเลยเจ้าค่ะ

*** ถึงแม้เจ๊เมาธ์จะบอกมาตลอดว่า หุ้นธนาคารใหญ่อย่าง KBANK BBL SCB และ KTB จะเป็นหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากดอกเบี้ยขาขึ้นมากที่สุด แต่เจ๊ขอบอกเอาไว้ว่า หุ้นธนาคารยังมีหน้าที่ในการเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มทางเศรษฐกิจอยู่อีกด้วย ซึ่งก็คือถ้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มว่าจะแย่...หุ้นธนาคารก็จะร่วงลงไปก่อนหุ้นตัวอื่น  

ขณะเดียวกัน เมื่อมีสัญญาณว่าเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น หรือ กำลังจะฟื้นตัว หุ้นธนาคารเหล่านี้ ก็จะขยับราคาขึ้นมาก่อนหุ้นตัวอื่นเช่นเดียวกัน ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจที่ว่า ทำไมในเมื่อทุกอย่างดูดีมากแล้ว แต่ราคาหุ้นธนาคารเหล่านี้กลับดูไม่โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น เพราะถึงตอนนี้ถือว่าหุ้นธนาคารทั้งหลายเหล่านี้ ได้ปรับตัวขึ้นมามากและได้ทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์แล้วนั้นเองเจ้าค่ะ

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,876 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2566