นักเลือก-คิดก่อนทำ

06 พ.ย. 2565 | 06:25 น.

"นักเลือก-คิดก่อนทำ" : บทความโดย ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า โลกในมุมมองของ Value Investor

 

การเป็น “นักลงทุนแบบ VI” ที่มุ่งมั่นและทุ่มเทของผมในวัยตั้งแต่ 44 ปีมาจนถึงวันนี้  ชีวิตและความคิดของผมแทบทุกอย่างไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป  ผมยังเป็นคนที่มัธยัสถ์  มีความคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลไม่เชื่อเรื่องเหนือธรรมชาติ  มีความรับผิดชอบและมีวินัยสูง  และเป็นคนที่ “ชอบลงทุน” นั่นคือ เสียสละการบริโภคในวันนี้เพื่อสิ่งที่มากกว่าในวันข้างหน้า  หรือลำบากวันนี้เพื่อที่จะสบายในวันข้างหน้า  

 

แต่สิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างชัดเจนก็คือ  การเปลี่ยนจาก  “นักสู้”  เป็น  “นักเลือก”  หรือถ้าจะพูดให้ถูกต้องกว่าก็คือ  เป็น  “นักเลือก-ก่อนที่จะสู้”  และนั่นนำมาสู่ภาคปฏิบัติที่สำคัญมากก็คือ  ก่อนที่จะทำอะไร  ผมจะ “คิดก่อนทำ”  ไม่ใช่ “คิดก่อนว่าจะทำอย่างไร”  แต่มักจะเป็น  “คิดก่อนว่าจะทำหรือไม่” 

 

เดี๋ยวนี้ผมจะไม่ทำอะไรที่ไม่ได้มีความหมายหรือเป็นประโยชน์อะไรในชีวิตเพียงพอที่จะทำ   หรือทำแล้วก็ไม่รู้สึกว่าทำง่ายหรือสนุกที่จะทำ  ตัวอย่างง่าย ๆ  ก็คือ  ให้ไปสอนคอร์สเกี่ยวกับการทำธุรกิจหรือการลงทุนซึ่งจะต้องเตรียมการสอนออกข้อสอบตรวจข้อสอบและให้คะแนนกับนักศึกษาหรือคนที่เข้าอบรมที่  “จำเป็น”  ต้องเข้ามาเรียนหรืออยากได้วุฒิ  ในกรณีแบบนี้  ในอดีตผมทำมามาก  โดยเฉพาะในช่วงที่ยังเป็น  “นักสู้” ที่นอกจากทำงานเป็นลูกจ้างประจำในบริษัทเอกชนแล้วก็ยังสอนหนังสือเป็นงานเสริม  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  การจบปริญญาเอกทางการเงินมา  ถ้าไม่สอนแล้วจะให้ทำอะไร? แต่เดี๋ยวนี้ผมไม่ทำแล้ว 
 

 

จริง ๆ  แล้ว ช่วงที่เป็น VI ใหม่ ๆ  ผมเองก็ยังต้องทำสิ่งที่ตนเองไม่ชอบทำและทำไปก็ไม่ทำให้ตนเองเก่งขึ้นหรือเป็นประโยชน์ในอนาคต  แต่ต้องทำเพราะมันเป็น “อาชีพ” ที่หาเงินได้ดีและทำให้เรา “มีสถานะในสังคม” และทั้งสองอย่างนั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นในช่วงที่เรายังไม่มี  “อิสรภาพทางการเงิน”  ดังนั้น  การเป็นนักเลือกที่มีอิสระในการเลือกว่าจะทำอะไรก็ได้จริง ๆ นั้น  ขึ้นอยู่กับว่าเรามีความมั่งคั่งเพียงพอแค่ไหนด้วย 

 

ในช่วงหลังจากที่ผมมีอิสรภาพทางการเงินสมบูรณ์และออกจากการทำงานประจำเมื่ออายุประมาณ 50 ปีเศษ  ผมก็เริ่มที่จะเข้มงวดขึ้นในการที่จะรับงานหรือทำงานอะไรที่ตนเองไม่ชอบ  นอกจากนั้น  งานที่มีความสนใจและอาจที่จะอยากทำ  ผมก็จะ “คิดก่อนที่จะทำ”  โดยเฉพาะถ้าเป็นการทำที่ใช้เวลาและเป็นเรื่องต่อเนื่องระยะยาว  ผมจะคิดอย่างถี่ถ้วนว่าผมจะทำได้ดีหรือไม่ และผมจะ “ชนะ” ไหม?  คำว่าชนะของผมไม่ได้หมายความว่าผมจะเข้าไปต่อสู้หรือแข่งขันกับใครจริง ๆ  คำว่า “ชนะ” ของผมนั้นแปลว่า  ถ้าแข่งขันหรือเปรียบเทียบกับคนอื่นส่วนใหญ่หรือในความรู้สึกของผมหรือคนอื่นที่ไม่ลำเอียง  ผมจะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน? 

 

การที่จะทำได้ดีหรือเป็นผู้ชนะนั้น  ผมจะเริ่มคิดจาก “ปัจจัยหรือความสามารถในการแข่งขัน” ของเรื่องนั้นก่อน  ว่างานแบบนั้น  อะไรเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้เข้าแข่งได้เปรียบ และถ้าทำได้ดีก็จะมีโอกาสเป็นผู้ชนะประสบความสำเร็จสูง ตัวอย่างเช่น  ถ้าเป็นนักแสดง  ความสำเร็จก็คงเป็นดารานำในแต่ละกลุ่มหรือบทบาท  เช่น  เป็นพระเอกนางเอก  หรือเป็นตัวตลกหรือตัวประกอบที่โดดเด่น  ก็ต้องดูว่าแต่ละกลุ่มนั้นคนที่จะ “ชนะ” มักจะมีคุณสมบัติพิเศษอะไร  เช่น  หน้าตาดี  รูปร่างดี  นอกเหนือไปจากการแสดงที่จะต้องมีความสามารถในระดับหนึ่ง  เป็นต้น เช่นเดียวกับเรื่องของกีฬา  ที่บางทีถ้าคุณ “ตัวเล็ก” ในหมู่นักกีฬาประเภทนั้น  โอกาสชนะก็อาจจะยากมาก   

 

 

หรืออย่างการทำงานเป็นลูกจ้างอย่างที่ตัวผมเองครั้งหนึ่งเคยทำงานเป็นวาณิชธนกิจของบริษัทหลักทรัพย์แห่งหนึ่ง  ซึ่งผมทำมานานพอสมควรแต่ประสบความสำเร็จน้อยมากหรือเป็น “ผู้แพ้” ทั้ง ๆ ที่ทุ่มเท  “แทบตาย” และก็คิดว่าเราน่าจะมีความรู้มากพอเพราะเรียนจบปริญญาเอกทางการเงิน  หลังจากออกมาจากวงการและคิดย้อนหลังกลับไปถึงได้รู้ว่า  เรา  ซึ่งหมายรวมถึงบริษัทและพนักงานรวมถึงตัวผมเองนั้น  ไม่มีปัจจัยหรือความสามารถในการแข่งขันเพียงพอโดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทหลักทรัพย์ผู้นำทางด้าน IB หลายแห่ง   

 

เช่น  เราไม่มี “ผลงาน” ที่โดดเด่นพอที่จะไปขายให้กับลูกค้า  คนของเรารวมถึงตัวผมเองนั้น  ภาษาอังกฤษแย่มาก  และในวงการนี้  ข้อเสนอหรือรายงานเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษที่อ่อนแอนั้น  ไม่ได้รับการยอมรับจากลูกค้าทั้งด้านผู้ขายหุ้นและนักลงทุน  นี่ยังไม่ต้องพูดถึงฐานลูกค้าที่เรามีน้อยมากเนื่องจากเพิ่งมาทำทีหลังนานมาก  ผลก็คือ  แข่งทีไรก็แพ้แทบทุกที  และคนที่ชนะก็จะมีปัจจัยในการแข่งขันที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ  และทำให้การแข่งขันต่อมาก็ชนะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ  กลายเป็น “วงจรแห่งความรุ่งเรือง” ที่ทำให้ชนะและประสบความสำเร็จซึ่งก็รวมไปถึงคนที่เข้าไปทำงานทีหลังก็จะได้อานิสงค์จากความได้เปรียบของตัวบริษัท 

 

และทั้งหมดนั้น  ผมก็นำมาประยุกต์ใช้กับบริษัทจดทะเบียนทั้งหลายในตลาดหลักทรัพย์ที่เราเข้าไปเลือกซื้อหุ้นแบบ  “VI”  ในแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” ที่บอกว่าเราต้องการเลือกหุ้น “ผู้ชนะ” ในราคาที่ไม่แพง  วิธีการก็คือ  ดูว่าในอุตสาหกรรมหรือธุรกิจของบริษัท  อะไรคือปัจจัยสำคัญในการแข่งขัน  ซึ่งแต่ละอุตสาหกรรมก็จะไม่เหมือนกันแม้ว่าจะมีปัจจัยบางอย่างร่วมกันอยู่   ตัวอย่างเช่นเรื่องของขนาด  ซึ่งบางอุตสาหกรรมขนาดอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่สำคัญมาก  แต่ในธุรกิจค้าปลีกนั้น  ขนาดหรือเครือข่ายที่ใหญ่จะได้เปรียบค่อนข้างมาก  และเมื่อใหญ่ถึงจุดหนึ่ง  การแข่งขันก็มักจะแทบหมดไป  รายใหญ่แทบจะชนะเสมอ 

 

การวิเคราะห์ว่าใครหรืออะไรจะแพ้หรือชนะนั้น  สำหรับผมแล้ว  เป็นเรื่องที่จำเป็นมากสำหรับ  “นักเลือก” โดยเฉพาะการเป็น “นักลงทุนระยะยาว” ที่ความสำเร็จหรือล้มเหลวแทบทั้งหมดขึ้นอยู่กับว่าคุณเลือกหุ้นหรือหลักทรัพย์ถูกตัวไหม  และสิ่งที่จะต้องศึกษาและรู้จริงก็คือ  อะไรที่เป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันหรือในความสำเร็จของผู้เล่น  ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเรียนรู้หรือเข้าใจได้เอง  ส่วนมากแล้วก็จะมาจากการวิเคราะห์วิจัยของ “กูรู” ทางธุรกิจที่ได้เขียนหนังสือหรือแบบเรียนให้นักศึกษาเรียนรู้  การอ่านหนังสือประวัติศาสตร์หรือกรณีศึกษาทางธุรกิจเองก็มีความสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจและนำมาใช้วิเคราะห์ได้เช่นเดียวกัน และนี่ก็คือเหตุผลที่นักลงทุนเอกของโลกทั้งหลายมักจะเป็น  “นักอ่านตัวยง” ทั้งนั้น 

 

การวิเคราะห์ว่าใครจะชนะหรือใครจะแพ้นั้นแน่นอนว่าไม่ใช่ใช้เฉพาะในธุรกิจหรือหุ้นหรือการลงทุน  ที่จริงสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือการวิเคราะห์ตัวเราเองว่าเราจะชนะหรือแพ้ในชีวิตและเราควรจะทำอะไรที่จะทำให้มีโอกาสชนะมากขึ้น 

 

ส่วนตัวผมเองนั้น   จนถึงอายุ 44 ปี  ผมเลือก  หรือที่จริงควรจะพูดว่า “ไม่ได้เลือก” ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะ  “ไม่มีสิทธิเลือก” ให้ต้องทำงานหรือทำสิ่งต่าง ๆ  ที่ตนเองไม่มีปัจจัยในการแข่งขันหรือต่อสู้เพียงพอ  ดังนั้น  แม้ว่าจะต่อสู้เต็มที่แล้วก็ยังแพ้  แต่เมื่อเริ่มรู้จัก  “เลือก” ที่จะเป็นนักลงทุน  “ด้วยความจำเป็น” ในช่วงวิกฤต้มยำกุ้งปี 2540 ผมก็พบว่า  เรามีปัจจัยในการแข่งขันเต็มเปี่ยม  เพราะการลงทุนนั้นแทบจะไม่ได้อาศัยอะไรทางด้านร่างกายหรือสถานะทางครอบครัวหรือสังคม  สิ่งที่ต้องใช้ก็คือ  ความรู้ทางธุรกิจ  การคิดวิเคราะห์ และความเข้าใจในพฤติกรรมของคน  ซึ่งทั้งหมดนั้นผมมีไม่น้อยกว่าใครในตลาดหุ้นไทยในยุควิกฤติและหลังจากนั้น  ไม่ได้เก่งหรือมีความสามารถสูงกว่า  แค่เป็นคนแรก ๆ  ที่คิดเรื่องการลงทุนแบบ VI เท่านั้น 

 

หลังจากประสบความสำเร็จในด้านของการลงทุน  ถึงวันนี้มีคนชวนให้ทำโน่นนี่รวมถึง “เล่นการเมือง” ด้วย  อาจจะคิดว่า “มีปัจจัยในการแข่งขัน” ซึ่งอาจจะหมายถึงการมีเงินพร้อม  แต่ใจผมกลับคิดว่า  อายุขนาดนี้แล้ว  ความสำเร็จที่ผมต้องการจริง ๆ  แทบจะเหลืออยู่เรื่องเดียวแล้ว  นั่นคือ  มีชีวิตที่มีสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจให้ยาวที่สุด  และนั่นก็คือสิ่งที่เราเลือกที่จะทำ