อื้อหือ!!! หุ้น BH “สาธิต วิทยากร”เฉือนขายหมื่นล้าน

18 ส.ค. 2565 | 21:00 น.

คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ By…เจ๊เมาธ์

*** นอกจากจะเป็นธุรกิจหนึ่งในปัจจัย 4 ที่จำเป็นกับการดำรงชีวิตธุรกิจโรงพยาบาล ยังเป็นหนึ่งในเมกะเทรนด์ทางธุรกิจของโลกตามกระแสการดูแลรักษาสุขภาพอีกด้วย ล่าสุดมีข่าวว่า “สาธิต วิทยากร” ได้ขายหุ้นของ BH (รพ.บำรุงราษฎร์) ซึ่ง “สาธิต” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่  17.64% ได้ขายบิ๊กล็อต แลกกับเงินกว่าหมื่นล้านบาทอีกครั้ง หลังจากเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา “สาธิต”ขายหุ้นล็อตใหญ่แลกกกับเงินหมื่นล้านบาท มาแล้วหนึ่งครั้ง 
 

แน่นอนว่า การขายหุ้นทั้ง 2 รอบ ทำให้เสี่ยสาธิต มีสัดส่วนการถือหุ้นใน BH ลดน้อยลงเหลือไม่ถึง 10% จนอาจจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับที่ 2 หรือ 3 ไปแล้ว แต่อย่าได้ลืมว่า “สาธิต วิทยากร” คนนี้...เป็นคนเดียวกับ “สาธิต” เจ้าของธุรกิจโรงพยาบาลผ่านทาง PRINC (บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล) สัดส่วนการถือหุ้นที่มากกว่า 66% ของหุ้นทั้งหมด ร่วมกับบุตรสาว  “น.ส.สาธิตา วิทยากร” ด้วยเช่นกัน

หากเปรียบเทียบระหว่าง BH กับ PRINC ไม่ว่าจะเป็นขนาดหรือเงินทุน PRINC ดูเล็กกว่าจนไม่สามารถเทียบได้กับ BH แต่ก็มีข่าวว่า เสี่ยสาธิต ต้องการเพิ่มจำนวนโรงพยาบาลของ PRINC จากเดิมที่มีอยู่แล้ว 14 แห่ง เป็น 20 แห่ง หมายความว่า เงินสดที่ได้จากการขายหุ้นของ BH ทั้งหมดที่ว่ามา จะถูกอัดเข้าไปใน PRINC เพื่อซื้อโรงพยาบาลอีก 7 แห่งที่เหลือนั่นเอง 
 

ดังนั้นการที่ “สาธิต” ยอมขายหุ้นของ BH เพื่อนำเงินมาเดิมพันอนาคตกับ PRINC ก็อาจเป็นไปได้ ที่ “เสี่ยสาธิต” คิดรอบคอบแล้วว่า การ “เป็นหัวหมาดีกว่าเป็นหางของราชสีห์” นั่นเอง

*** หลังจากที่ราคาหุ้นของ 7UP ถูกไล่ราคาขึ้นแถวๆ 1.30-1.35 บาท ในช่วงปลายเดือนมีนาคมเพื่อฉลองการที่บอร์ดของ 7UP มีมติแต่งตั้งให้ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ รวมถึงการเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ น.ส.ชมกมล ส่งผลให้กลุ่ม “พุ่มพันธุ์ม่วง” ขยับเข้ามาอยู่ในไลน์บริหารที่สามารถกำหนดทิศทางธุรกิจของ 7UP ในอนาคตอย่างเบ็ดเสร็จ 
 

จากนั้นเป็นต้นมาราคาหุ้นของ 7UP ก็เข้าสู่ทิศทางของการเป็นขาลงอย่างแท้จริง และยิ่งเห็นผลการดำเนินงาน 2/65 ที่ออกมาขาดทุน 45 ล้านบาท ส่งผลให้ครึ่งปีแรงของ 7UP มีกำไรสะสมลดลงเหลือแค่ 50 ล้านบาทเท่านั้น เฮ้อ...ดูทรงแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลการดำเนินงาน หรือ ปัจจัยทางเทคนิค ก็ไม่เห็นแนวโน้มของการฟื้นตัวได้เลยในเร็วๆ นี้ เจ๊เมาธ์บอกเลยว่าตอนนี้บนดอย 7UP หนาวมาก ถ้า คุณสมยศ หรือ ทีมผู้บริหารจะทำอะไรเพื่อช่วยนักลงทุนที่ติดดอยได้ ก็ลงมือทำบ้างนะคะ เพื่อนๆ นักลงทุนฝากบอกมาว่าอยากลงดอยใจจะขาดอยู่แล้วค่ะ
 

*** ผลการดำเนินงานของ JAS ไตรมาส 2/65  ออกมาขาดทุน 229 ล้านบาท จากที่ในไตรมาสที่ 1/65 มีกำไร 132 ล้านบาท เป็นสัญญาณเตือนให้รู้ว่า JAS อาจกำลังเข้าสู่ยุคเสื่อม เพราะการขาย 3BB และหน่วยลงทุนของ JASIF เพื่อแลกกับเงิน 3.24 หมื่นล้านบาท ส่งผลกระทบโดยตรงกับผลงานในอนาคตของ JAS อย่างมีนัยสำคัญ เพราะการขายทั้ง 3BB และหน่วยลงทุนของ JASIF ทำให้ JAS แทบจะกลายเป็นบริษัทกลวงๆ ที่ไม่เหลือแหล่งที่มาของรายได้เลย
 

ขณะเดียวกัน หากจะมองไปที่การนำรายได้ 3.24 หมื่นล้านบาท ที่ว่านี้มาจ่ายปันผลพิเศษในอัตรา 2.25 บาท/หุ้น ตามที่นักวิเคราะห์ว่าเอาไว้ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงเมื่อไหร่กันแน่ ยังไม่รวมไปถึงโอกาสที่ผู้ถือหุ้นใหญ่อย่าง พิชญ์ โพธารามิก อาจจะทิ้ง JAS ไปพร้อมกับเงินปันผลก้อนสุดท้ายก็เป็นไปได้ ก็อย่างที่เจ๊เมาธ์ เคยบอกไปแล้วว่าของแบบนี้มันไม่แน่...ใครจะรู้


*** เจ๊เมาธ์ยังคงแนะนำว่าหุ้นธนาคารอย่าง KBANK BBL SCB KTB และ TTB เป็นหุ้นธนาคารที่ยังน่าเข้าในระดับกลางถึงยาว เพราะถึงแม้จะไม่นับรวมเอาเรื่องผลการดำเนินงาน 2/65 ที่ออกมาค่อนข้างที่จะดีและไม่นับรวมเอาเรื่องการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ที่จะทำให้ทิศทางรายได้ของธนาคารทั้งหลายปรับเพิ่มขึ้น 


ก็ยังมีเรื่องที่ธนาคารเป็นแหล่งเงินทุนที่ทุกภาคส่วน ยังคงต้องวิ่งเข้าหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อตอบรับการลงทุนที่เพิ่มขึ้นหรือเพื่อพยุงตัวไม่ให้ล้มถือว่าแหล่งเงินทุนอย่างธนาคารเป็นสิ่งจำเป็นที่สุด นี่ยังไม่รวมถึงประเด็นที่ว่าถ้าหากเศรษฐกิจจะฟื้นหุ้นธนาคารก็จะฟื้นมาก่อนใคร รวมถึงถ้าหากเศรษฐกิจจะแย่...หุ้นกลุ่มธนาคารก็จะแย่ที่หลังเสมอ ดั้งนั้นเจ๊เมาธ์จึงแนะนำว่าหุ้นธนาคารใหญ่เหล่านี้ควรจะมีเอาไว้บ้างเจ้าค่ะ
 

*** ปิดกันให้แซ่ด บริษัทขุดเหรียญชื่อดัง ZIGA ที่เจ๊เมาธ์ชื่นชอบฝีมือการบริหารเหล็กนวัตกรรมไร้สนิม แต่หันมาขุดเหมืองบิทคอยน์ บิดไป-บิดมา บิดไม่ตรงล็อก ถูกนักลงทุน 7 ราย ฟ้องร้อง เป็นคดีความพิพาท เกี่ยวกับเหรียญที่ออกและขายให้กลุ่มนักลงทุน กระทั่งเสียหายยับ ตามคำฟ้องของศาลแพ่ง หมายเลขคดีดำที่ ผบ.992/2565...ว่ากันไป ตามยุคเสื่อมของบิทคอยน์ การลงทุนมีความเสี่ยง ที่ผู้ลงทุนต้องระวัง 


หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,811 วันที่ 21 - 24 สิงหาคม พ.ศ. 2565