2 พส. กับ Air War

13 ก.ย. 2564 | 22:05 น.

บทความพิเศษโดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ( Value Investor ) ชั้นแนวหน้า

ปรากฏการณ์พระ 2 รูปคือพระมหาไพรวัลย์กับพระมหาสมปอง ไลฟ์สดในเฟซบุค ที่มีผู้เข้าไปชมสดกว่า 2 แสนคนเมื่อสัปดาห์ที่แล้วและก่อให้เกิด “แรงกระเพื่อม” ไปในแวดวงสังคมและการเมืองเฉพาะอย่างยิ่งก็คือ  การโต้แย้งถึงความเหมาะสมของการ “สนทนาธรรม” ของพระสงฆ์ที่สังคมและการเมืองของฝ่าย  “อนุรักษ์นิยม”  เห็นว่าอาจจะไม่สำรวมพอเพราะเป็นการสนทนาที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะและความสนุกสนานแทนที่จะเป็นเรื่องของการสอนธรรมะที่จะต้องจริงจังและเคร่งเครียด  

ในขณะที่ฝ่ายคนที่เห็นด้วยนั้นมักเป็นคนรุ่นใหม่หรือฝ่าย “เสรีนิยม” ที่มองว่าวิธีการพูดคุยแบบนี้เป็นวิธีที่จะดึงคนในปัจจุบันที่อาจจะไม่สนใจฟังธรรมะแล้วโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่นับวันจะเลิกสนใจในเรื่องของคำสอนทางศาสนามากขึ้นทุกที  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  นี่ไม่ได้เป็นการบังคับ  ใครไม่อยากฟัง “2 พส.” หรือ “พระสงฆ์ 2 รูป” นี้ก็ไม่จำเป็นต้องฟังเพราะมีสื่ออื่น ๆ  ให้รับชมเต็มไปหมดโดยเฉพาะสื่อของทางการที่ถูก “ควบคุม” ให้ต้องปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด  อย่างไรก็ตาม  หลังจากการ “เคลียร์” ประเด็นเรื่องนี้แล้วก็ดูเหมือนว่า 2 พส. จะเป็นฝ่าย “ชนะ” อานิสงค์จากพลังของคนที่เห็นด้วยเป็นแสน ๆ  หรือน่าจะเป็นล้าน ๆ คน

สำหรับผมซึ่งติดตามและศึกษาประวัติศาสตร์สงครามและการต่อสู้ในทุก ๆ  ด้านของมนุษยชาติ  ผมคิดว่าโลกมีการเปลี่ยนแปลงในด้านของกลยุทธ์และยุทโธปกรณ์หรือเครื่องมือในการสงคราม การต่อสู้หรือแข่งขันกันมาตลอดในประวัติศาสตร์  การเปลี่ยนแปลงวิธีการหรือเครื่องมือในการ “รบ” นั้น  ในบางครั้งก็ทำให้ฝ่ายที่เริ่มทำสามารถเอาชนะศัตรูหรือคู่แข่งได้อย่างเด็ดขาดและเป็นเหมือนกับการ “Disrupt” หรือทำลายกลยุทธ์หรือหลักการแบบเดิมโดยสิ้นเชิง  เพราะคนที่ยังติดกับสิ่งเดิมอยู่นั้นจะไม่มีทางต่อสู้กับสิ่งใหม่ได้เลย  และดังนั้นพวกเขาก็จะต้องทำตามเพื่อที่จะสามารถกลับมาต่อสู้หรือแข่งขันได้

เริ่มจากการที่มนุษย์หรือสัตว์พันธุ์โฮโมเซเปี้ยนคือพวกเรานั้น  สิ่งที่ทำให้สามารถเอาชนะสัตว์อื่นที่สำคัญแรกสุดก็คือความสามารถในการใช้ “ไฟ” ในการต่อสู้และล่าสัตว์ทั้งหลายได้  ซึ่งนั่นก็คงเกิดขึ้นหลังจากมนุษย์เกิดขึ้นบนโลกเป็นแสน ๆ  ปีแล้ว  แต่หลังจากนั้น เราก็เริ่มพัฒนา “อาวุธ” ต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะจัดการกับสัตว์ใหญ่ต่าง ๆ ที่อยู่ตามป่าเขาสิ่งนั้นก็คือพวกหอกดาบและธนู  เป็นต้น  ซึ่งนอกจากเอาไว้ล่าสัตว์แล้ว  ก็ยังเอาไว้ต่อสู้กับคนจากครอบครัวและเผ่าอื่นที่ขัดแย้งเป็นศัตรูกันด้วย  และต่อมาเมื่อเมืองและรัฐกำเนิดขึ้น  การพัฒนาของอาวุธยุทโธปกรณ์ใหม่ก็คือการนำสัตว์เลี้ยงเช่นม้าและช้างเข้าช่วยในการรบ  อย่างไรก็ตาม  จำนวนของสัตว์เหล่านั้นก็ยังมีไม่มากพอและมักจะใช้โดยกลุ่มผู้นำเท่านั้น

บางทีอาจจะเป็นพวกโรมันที่เริ่มใช้ “รถม้ารบ” ซึ่งสามารถเดินทางอย่างรวดเร็วพร้อมอุปกรณ์การรบเช่น หอกดาบหรือธนูเข้าต่อสู้กับข้าศึกที่เป็นทหารราบเดินเท้าซึ่งเสียเปรียบมากกว่าได้  และนั่นทำให้โรมัน “ครองโลก” ยาวนาน    แต่ที่น่าจะเห็นได้ชัดมากกว่าก็คือ  การ Disrupt การทำสงครามโดยพวกมองโกลที่ใช้ม้าเป็นหลักในการสงคราม  ทหารเป็นกองทัพที่ขี่ม้าอย่างเชี่ยวชาญเข้าไปห้ำหั่นเอาชนะทหารเดินเท้าที่มีจำนวนมากกว่าและมีทรัพยากรมากกว่าอย่างจีนและประเทศอื่น ๆ  อีกหลาย ๆ ประเทศได้  และม้าก็กลายเป็นยุทโธปกรณ์หลักและหน่วยสนับสนุนสงครามที่สำคัญที่สุดมานานในประเทศที่มีการเลี้ยงม้าจำนวนมากตราบจนถึงสงครามโลกครั้ง 1 และบางส่วนของสงครามโลกครั้งที่ 2

ปืนโดยเฉพาะปืนใหญ่น่าจะเป็นอาวุธที่ Disrupt การทำสงครามในช่วงเวลาหนึ่งที่คนสามารถผลิตดินปืนและหล่อเหล็กได้แล้ว  อย่างไรก็ตาม  ดูเหมือนว่าแทบทุกประเทศก็สามารถผลิตปืนใหญ่ได้ในระดับหนึ่ง  ดังนั้น  เราก็ไม่ได้เห็นว่าจะมีประเทศไหนยิ่งใหญ่เอาชนะชาติอื่นด้วยปืนใหญ่เป็นหลัก  แต่ปืนประจำตัวซึ่งส่วนใหญ่ก็คือปืนยาวนั้น  น่าจะทำให้ประเทศที่มีการพัฒนาทางอุตสาหกรรมสูงสามารถผลิตได้จำนวนมากและติดอาวุธนี้ให้กับทหารทั้งกองทัพและใช้มันในการต่อสู้และเอาชนะประเทศที่ล้าหลังกว่าและผลิตปืนเองไม่ได้  และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ชาติที่ก้าวหน้าใช้ในการล่าอาณานิคมในช่วงหลายร้อยปีก่อน  กองทหารจำนวนไม่มาก  อาจะแค่ไม่กี่ร้อยคนก็สามารถเอาชนะรัฐขนาดใหญ่ที่มีแต่หอกดาบหรือธนูได้

นอกจากอาวุธประจำกายแล้ว  ดูเหมือนว่าเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้นมากก็ก่อให้เกิดการสร้างเรือรบที่ติดปืนใหญ่ก็กลายเป็นอีกการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เอื้อให้เกิดการล่าอาณานิคมกันอย่างแพร่หลายของประเทศตะวันตก  เรือปืนกลายเป็นเครื่องมือในการตัดสินการแพ้ชนะที่สำคัญที่สุดในยุคล่าอาณานิคมและยุคที่ประเทศมหาอำนาจต้องการวัตถุดิบจากทั่วโลกมาพัฒนาประเทศผ่านการค้า  ประเทศอย่างไทย จีนและญี่ปุ่นที่มีความเข้มแข็งและมีขนาดใหญ่ระดับหนึ่งที่ไม่สามารถถูกยึดได้ง่ายก็ถูกบังคับด้วย  “เรือปืน” ที่ต้องเปิดประเทศให้มีการค้าขายกับมหาอำนาจใหม่ของโลกเหล่านั้น

สงครามโลกครั้งที่ 1 นั้นดูเหมือนว่าทุกฝ่ายต่างก็รบกันด้วยทหารที่มีปืนประจำกายเป็น “ปืนเล็กยาว” รบโดยการยิงกันและขุดสนามเพลาะยันกันเป็นปี ๆ  เรือรบยังแทบไม่มีบทบาทอะไรนักเพราะส่วนใหญ่ก็รบกันในพื้นแผ่นดินยุโรป  เครื่องบินที่เริ่มมีการผลิตได้ยังเป็นแบบปีก 2 ชั้น  ก็เริ่มถูกนำเข้ามารบแต่เป็นเรื่องของการสอดแนมหรือตรวจการณ์เสียมากกว่าที่จะใช้ยิงหรือทิ้งระเบิดใส่ข้าศึก  รถถังเองก็เพิ่งมีการใช้แต่ก็ยังน้อยและประสิทธิภาพไม่ดีนักและใช้ในการนำและป้องกันทหารราบที่จะบุกไปข้างหน้า

ปืนกลอัตโนมัติที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นเกิดขึ้นในสงครามโลกครั้งที่ 2 และใช้กันทั้ง 2 ฝ่าย  แต่สิ่งที่ทำให้ฝ่ายเยอรมนี สามารถเอาชนะฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะฝรั่งเศสอย่างรวดเร็วในช่วงแรกนั้น  น่าจะอยู่ที่การ  Disrupt กลยุทธ์สงครามโดยการใช้รถถังแพนเซอร์ที่ทรงประสิทธิภาพเป็น  “กองทัพ” บุกเข้าไปอย่างรวดเร็วจนฝ่ายสัมพันธมิตรตั้งตัวไม่ทัน  พูดง่าย ๆ  แต่เดิมนั้นการบุกด้วยกองทัพขนาดใหญ่นั้น  เขาจะใช้ทหารราบเป็นตัวนำและมีรถถังตามและคอยยิงเปิดทางซึ่งก็จะไปได้ช้ากว่ามากและพลังการยิงก็จะน้อย  การใช้รถถังเป็นหลักในการบุกนั้น  เรียกกันว่า “Blitzkrieg” หรือสงคราม “สายฟ้าแลบ” ที่ทำให้เยอรมันชนะสงคราม “รอบแรก” อย่างรวดเร็ว  อย่างไรก็ตาม  เยอรมันไม่สามารถเอาชนะและยึดอังกฤษได้เนื่องจากไม่สามารถข้ามช่องแคบอังกฤษเพราะไม่สามารถจัดการกับกองทัพเรืออังกฤษได้

เครื่องบินเป็น “อาวุธใหม่” ที่สำคัญมากขึ้นมากอย่างไม่น่าเชื่อ  สงครามทางอากาศน่าจะกำลังกลายเป็น  “Decisive Factor” หรือเป็นปัจจัยชี้ขาดสงคราม  เยอรมันใช้เครื่องบินปูพรมทิ้งระเบิดเพื่อเปิดทางให้กองทัพภาคพื้นดินรุกไปได้อย่างสะดวก  ในสงครามทางทะเลโดยเฉพาะระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่นในแปซิฟิกนั้น  เครื่องบินกลายเป็นตัวชี้เป็นชี้ตาย  ฝูงบินของญี่ปุ่นบินผ่านทะเลหลายพันไมล์ไปทำลายเรือรบที่เพิลร์ฮาร์เบอร์  แต่ที่เป็นสัญญาณชัดเจนว่าสงครามต่อไปในอนาคตนั้น  การรบทางอากาศอาจจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะบอกว่าใครจะชนะก็คือการรบในสงครามเกาะมิดเวย์ที่เรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่นจำนวน 4 ลำถูกเครื่องบินจากเรือบรรทุกเครื่องบินของอเมริกาทิ้งระเบิดจมลง  กองทัพเรือญี่ปุ่นแทบจะล่มสลายในเวลาไม่กี่วันและส่งผลให้ญี่ปุ่นแพ้สงครามในที่สุด  ชัยชนะของอเมริกาในยุทธภูมิมิดเวย์และของสัมพันธมิตรต่อเยอรมันในหลายสมรภูมิยังมีส่วนสำคัญมาจากเครื่องมือหรืออาวุธ “ใหม่” ที่กำลังก่อตัวนั่นก็คือการวิเคราะห์และใช้  “ข้อมูลข่าวสาร” ช่วยทำการรบขึ้น  อานิสงค์จากเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นแรก ๆ ที่ทำให้สามารถถอดระหัด “Enigma” ที่เยอรมันใช้ในการสื่อสารของการกองทัพ 

สงครามใหญ่ครั้งต่อไปที่จะมีขึ้นจะกลายเป็น “สงครามทางอากาศ” ที่จะชี้เป็นชี้ตายว่าใครจะชนะสงคราม  แต่นอกจากการรบโดยเครื่องบินหรือโดรนหรือจรวดแล้ว  “สงครามไซเบอร์” น่าจะกลายเป็นอาวุธหลักอีกอย่างหนึ่งเนื่องจากเครื่องมืออาวุธยุทโธปกรณ์สมัยใหม่ต่างก็อาศัยโปรแกรมดิจิตอลในการควบคุม  ถ้าโปรแกรมถูกทำลายก็ทำงานไม่ได้  การที่เครือข่ายท่อส่งน้ำมันยาวเป็นพัน ๆ กิโลเมตรในอเมริกาโดนแฮ็คและต้องหยุดทำงานไปทั้งระบบหลายวันเมื่อเร็ว ๆ นี้นั้น  เป็นเครื่องเตือนให้รู้ว่าเครื่องมือแห่งการสงครามและการต่อสู้ต่อจากนี้อาจจะเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนและผ่านมา “ทางอากาศ” ได้  ยิ่งไปกว่านั้น  สงครามหรือการต่อสู้หรือการแข่งขันสมัยใหม่อาจจะไม่ใช่แบบเดิมอีกต่อไป

มันอาจจะเป็นสงครามความคิดหรืออุดมการณ์ระหว่างประเทศหรือคนในประเทศเดียวกันที่ต่อสู้กันด้วย “อาวุธ” ที่ไม่มีตัวตนแต่เป็นโปรแกรมเช่น เฟซบุคหรือทวิตเตอร์และโดยคนธรรมดาทั่วทั้งสังคมหรือประเทศโดยที่ “ทหาร” ที่เรารู้จักกันนั้นไร้ความสามารถที่จะต่อสู้หรือต่อต้านและอาจจะพูดได้ว่าถูก  Disrupt ไปแล้ว  พวกเขาก็ยังจำเป็นอยู่แต่ก็อาจจะเป็นแค่ตัวประกอบหรือส่วนสนับสนุนที่จะเข้าจัดระเบียบสิ่งที่มีตัวตนเป็นขั้นสุดท้ายเท่านั้น  ไม่ได้เป็น Decisive Factor อีกต่อไป  และทั้งหมดนี้นำมาใช้ได้กับทุกวงการรวมถึงในธุรกิจและการลงทุน  ดังนั้น  สำหรับนักลงทุนแล้ว  การรู้จักและวิเคราะห์ “Air War” หรืออำนาจของข่าวสารในการต่อสู้แข่งขันในทุกรูปแบบเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง