การควบรวมสองยักษ์ใหญ่ค่ายมือถือ...ได้ไม่คุ้มเสีย

25 ก.ย. 2565 | 05:38 น.

การควบรวมสองยักษ์ใหญ่ค่ายมือถือ...ได้ไม่คุ้มเสีย : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิด ก็หลักสี่ (.ศูนย์) โดย ผศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,821 หน้า 5 วันที่ 25 - 28 กันยายน 2565

เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2565 ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เป็นข่าวใหญ่ในวงการโทรคมนาคมที่สั่นสะเทือนไปทั่วประเทศ ข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องของการประกาศควบรวมกิจการอย่างเป็นทางการระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีล TRUE-DTAC ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโทรคมนาคมของประเทศไทย

 

แต่ผ่านมาร่วมสองเดือนแล้ว การควบรวมก็ยังค้างเติ่งไม่สำเร็จเสร็จสิ้นเสียที เพราะเหตุด้วยหน่วยงานกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยังกล้าๆ กลัวๆ ไม่ฟันธงว่าจะแค่ รับทราบรายงานหรือจะอนุญาตให้ควบรวมดี หรือพูดง่ายๆ ว่า กสทช. ยังคงไม่แน่ใจว่า ตนเองมีอำนาจแค่ไหนในการกำกับดูแลธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศไทย ก็เลยต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาลให้ช่วยตีความอำนาจ กสทช. ว่า ตนเองทำได้แค่ไหน

 

 

 

แต่ในฐานะคนนอกวงการที่เป็นราษฎรเต็มขั้น คงไม่สามารถใส่แว่นเดียวกันกับหน่วยงานกำกับดูแลเช่นเดียวกับ กสทช. ได้ แต่ก็พอจะให้แง่มุมต่างๆ ในทางเศรษฐศาสตร์และพาณิชยศาสตร์ว่า ดีลระดับสิงห์รวมกับเสือแล้ว หญ้าแพรกอย่างประชาชนหรือผู้บริโภคจะเป็นอย่างไร ก็พอฉายให้เห็นภาพกว้างๆ ได้

 

แต่ก่อนที่จะเลยเถิดไปถึงการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสียของการควบรวม เราคงต้องกลับมามองสถานการณ์ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก่อนว่า ภูมิทัศน์ของตลาดและการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างไร

 

 

 

 

ข้อมูลที่รู้กันโดยทั่วไปแบบไม่ต้องพิสูจน์ให้มากเรื่องมากความก็เห็นจะเป็นเรื่องที่ว่า อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตเคลื่อนที่ในประเทศไทยมีผู้ให้บริการหรือ Operator ขนาดใหญ่อยู่ทั้งสิ้น 4 ราย ซึ่งประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ AIS TRUE DTAC และ NT

 

แต่ความน่าสนใจของตลาดนี้ คือ ลักษณะการแข่งขันเป็นแบบตลาดผู้ขายน้อยรายหรือ Oligopoly Market และ 3 รายใหญ่ อันได้แก่ AIS TRUE และ DTAC ครอบครองส่วนแบ่งการตลาดไปไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ถ้าพูดกันแบบภาษาชาวบ้านก็คือว่า 3 เจ้าเหมาตลาดเกือบหมดแล้ว

 

 

การควบรวมสองยักษ์ใหญ่ค่ายมือถือ...ได้ไม่คุ้มเสีย

 

 

แล้วการดำรงอยู่แบบสามคนในตลาดเดียวกัน มันมีข้อดีอย่างไร ดังที่ทราบกันโดยไม่ต้องป่าวประกาศ การแข่งขันระหว่างผู้เล่นสามเจ้าทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างมาก เพราะผู้เล่นแต่ละรายต่างไม่มีใครยอมใคร หรือ ต่างคนต่างออกอาวุธเพื่อแย่งชิงลูกค้าของคนอื่น ให้มาเป็นของตนเองให้ได้มากที่สุด

 

ปรากฏการณ์ดังกล่าว สะท้อนอยู่ในรูปแบบของการพยายามรั้งลูกค้าไม่ให้ไหลไปค่ายอื่น และการพยายามแย่งลูกค้าของค่ายอื่นมาเป็นของตน รูปแบบของความพยายามก็ออกมาเป็นส่วนลดหรือโปรโมชั่นต่างๆ เท่าที่แต่ละค่ายจะลดแลกแจกแถมในแต่ละช่วงเวลา

 

เพราะฉะนั้น โครงสร้างการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมของไทยกำลังส่งประโยชน์ให้ตกแก่ผู้บริโภคเป็นหลัก เพราะยักษ์ใหญ่ต่างมีขนาดใกล้เคียงกัน ทำให้การรบราฆ่าฟันในเกมธุรกิจเป็นไปอย่างดุเดือดเลือดพล่าน

 

ดังนั้น ก็ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมค่ายมือถือต่างก็ไม่พิสมัยโครงสร้างการแข่งขันแบบนี้ ก็เหตุเพราะตนมีแต่จะเจ็บตัว ยิ่งรบก็ยิ่งเจ็บ แต่คนดูได้ประโยชน์ ความคิดแบบพ่อค้า หรือ นายทุน ก็บังเกิดขึ้นว่า หากไม่ต้องการแข่งขันแบบนี้ เราจะทำกันอย่างไร และแน่นอน คำตอบก็คือ ก็ต้องรวมกันสิ

 

หากฉายภาพว่า การควบรวมกันระหว่าง TRUE-DTAC ประสบความสำเร็จ ตลาดโทรคมนาคมก็จะเหลือเพียง 2 รายใหญ่ ซึ่งหนีไม่พ้น AIS และ TRUE-DTAC เป็นแน่แท้

 

คำถามถัดมา ได้แก่ ถ้าเหลือเพียงสองเจ้าแล้ว จะเกิดอะไรขึ้น คำตอบที่ยืนยันเป็นข้อเท็จจริง คือ โครงสร้างการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมจะเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตโดยสิ้นเชิง กรณีที่โชคร้ายก็คงเป็นสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดการไม่แข่งขัน หรือ การผูกขาดโดยผู้ประกอบการโทรคมนาคม

 

เพราะเพียงแค่สองรายก็มีส่วนแบ่งการตลาดไปมากกว่าร้อยละ 95 แล้ว แรงจูงใจจากการครอบครองส่วนแบ่งการตลาดเกือบทั้งหมด จะนำไปสู่สถานการณ์ที่เรียกว่า การร่วมมือเพื่อฮั้วกัน หรือ Collusive-Side Contract และลดทอนสภาพการแข่งขันที่เป็นธรรม (Fair Competition) ของตลาดโทรคมนาคม โดยป้องกันการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่

 

ประเด็นที่น่ากังวลเกี่ยวกับการแข่งขัน ได้แก่ การมีอำนาจเหนือตลาดของทั้งสองบริษัท คำว่า “อำนาจเหนือตลาด” มีนิยามในทางทฤษฎีว่า ความสามารถของผู้ประกอบธุรกิจที่จะกำหนดราคาให้สูงกว่าต้นทุนส่วนเพิ่มหรือ Marginal Cost หรือ สูงกว่าราคาอันเกิดขึ้นจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมหรือ Competitive Price โดยไม่กระทบต่อส่วนแบ่งการตลาดของตน หากแปลเป็นคำง่ายๆ ก็จะมีความหมายว่า ผู้ประกอบการจะกำหนดราคาเท่าใดก็ได้ที่ไม่กระเทือนต่อสถานะทางธุรกิจของตน

 

หากพิจารณาบริบทของประเทศไทย หน่วยงานที่เรียกว่า “คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า” ได้กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่มีอำนาจเหนือตลาดไว้ว่า ผู้ประกอบการที่มีส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าร้อยละ 50 และมียอดขายเกินกว่า 1,000 ล้านบาท หรือผู้ประกอบการสามรายแรก ในอุตสาหกรรมที่มีส่วนแบ่งการตลาดรวมกันมากกว่าร้อยละ 75

 

หากนำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาปรับใช้กับตลาดโทรคมนาคมก็คงเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้จะไม่ได้ควบรวมยังเข้านิยามของคำว่า “ผู้มีอำนาจเหนือตลาด” เลย แล้วถ้าหากควบรวมกันสำเร็จ มันจะไม่ยิ่งแย่ไปกว่านี้หรือ

 

ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยเป็นระบบที่สนับสนุนการทำงานของกลไกตลาด หรือ ระบบที่ส่งเสริมการแข่งขัน เพราะจะนำมาซึ่งประสิทธิภาพการผลิต และการปรับตัวเข้าสู่ดุลยภาพของตลาดโดยรัฐไม่ต้องแทรกแซงแต่อย่างใด

 

หากรัฐ หรือ หน่วยงานกำกับดูแลอย่าง กสทช. เห็นว่า การควบรวมกิจการระหว่าง TRUE และ DTAC จะเป็นการสนับสนุนการแข่งขันของผู้ประกอบการในระบบเศรษฐกิจแบบตลาด กสทช. ก็คงจะคาดการณ์อย่างเป็นเหตุเป็นผลได้ว่า การลดจำนวนผู้เล่นลงในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศไทย จะส่งประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจ

 

แต่คาดการณ์ดังกล่าวอาจจะขัดแย้งกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการพิสูจน์และประสบการณ์ตรงของต่างประเทศ อันมีประเด็นสำคัญต่อไปนี้

 

ประการแรก กรณีที่การควบรวมสำเร็จ ผู้ประกอบการจะเหลือเพียงสองราย ซึ่งย่อมมีเหตุผลที่จะใช้อำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ (Abuse of Dominance) โดย เฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดราคาค่าบริการที่ไม่เป็นธรรม (Excessive Pricing) ซึ่งจะเป็นการถ่ายโอนประโยชน์ของผู้บริโภคให้กลับกลายมาเป็นกำไรของผู้ประกอบการอย่างตรงไปตรงมา

 

ประการถัดมา หากการควบรวมเกิดขึ้นจริง ผู้ประกอบการรายที่เหลือมีสิทธิที่จะใช้นโยบายดูดซับกำไรจากอุตสาหกรรมต้นนํ้า หรือ ปลายนํ้า หรือที่เรียกว่า Margin Squeeze กล่าวคือ ผู้ประกอบการธุรกิจที่เป็นลูกค้าของ Operator ก็จะถูกบังคับให้ซื้อบริการโทรคมนาคม ในราคาที่สูงเกินจริง ซึ่งเป็นการถ่ายโอนกำไรจากอุตสาหกรรมต้นนํ้า หรือ ปลายนํ้า ไปเป็นกำไรของผู้ประกอบการ หากซํ้าร้าย กว่านั้น ผู้ประกอบกิจการเกี่ยวเนื่อง อาจจะล้มหายตายจากจนไม่เป็นผลดีต่อการแข่งขัน

 

และประการสุดท้าย หากเหลือเพียงสองรายจริงๆ การกำหนดสัญญาการให้บริการแก่ลูกค้า อาจจะกลายเป็นข้อสัญญาที่เอารัดเอาเปรียบ หรือ ไม่เป็นธรรม จนนำไปสู่การถอยหลังของความก้าวหน้าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในที่สุด

 

ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตามที่ กสทช. ได้รับการบอกกล่าวโดยผู้ประกอบการ ที่ประสงค์จะควบรวมกิจการระหว่างกัน ก็ได้แต่หวังว่า กสทช. จะเห็นแก่ชาวบ้านร้านตลาดที่เป็นผู้บริโภคที่หามีอำนาจต่อรองใดๆ สักครั้งหนึ่ง และสั่งหยุดกระบวนการควบรวมดังกล่าว เพื่อให้ตลาดแข่งขันกันอย่างเต็มที่เหมือนเดิม

 

มิฉะนั้นแล้ว กรณีนี้อาจจะเข้ากรณีที่เรียกว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” ของจริง