คาใจ “ซุกหุ้น” นอมินี-เลี่ยงภาษี?

31 ก.ค. 2565 | 06:02 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

แม้ผลของการลงมติจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีรวม 11 คน จะผ่านพ้นไป แต่แรงกระเพื่อมทางการเมืองหลังการลงมติ มีหลากหลายเรื่องที่ทำให้ประชาชนกังขา กับการทำหน้าที่ของ “รัฐมนตรี” 
 

เฉพาะประเด็นของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่พรรคฝ่ายค้านอภิปรายว่า รัฐมนตรีศักดิ์สยามมีพฤติกรรมใช้นอมินี “ซุกหุ้น”

การอภิปรายวันที่ 19 ก.ค. 2565  นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวโจมตีว่า นายศักดิ์สยามปกปิดทรัพย์สินในส่วนที่เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยใช้ลูกจ้างเป็นนอมินี และจงใจปฏิบัติหน้าที่และใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย เพื่อให้ตนเองมีส่วนได้รับผลประโยชน์จากโครงการของรัฐ
 

นายปกรณ์วุฒิ อภิปรายพฤติกรรม  ดังนี้ ปี 2539 มีการก่อตั้ง หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น โดยมีตระกูลชิดชอบถือหุ้น 80% ใช้บ้านของ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ขณะนั้นเป็นที่ตั้งสำนักงาน 


 

ปี 2540 เมื่อมีตำแหน่งการเมือง นายศักดิ์สยาม ได้ออกจากการเป็นผู้ถือหุ้น และย้ายที่ตั้งสำนักงานไปที่อื่น
 

ปี 2558 นายศักดิ์สยาม กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และได้ทำการเพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 120 ล้านบาท จากนั้นก็ย้ายที่ตั้งสำนักงานมาอยู่ที่บ้านหลังใหม่ของตัวเอง
 

ช่วงปี 2558-2560 ห้างหุ้นส่วนจำกัดบุรีเจริญฯ ได้งานยุครัฐบาล คสช. รวม 440 ล้านบาท
 

ช่วงปี 2559-2560 บุรีเจริญฯมีรายได้รวม 576 ล้านบาท
 

กระทั่งปี 2561 เมื่อมีกระแสข่าวว่าจะเลือกตั้ง นายศักดิ์สยาม ได้โอนหุ้นทั้งหมดมูลค่า 119.4 ล้านบาท ไปให้นอมินีที่ชื่อ “นายเอ” และย้ายที่ตั้งสำนักงานออกจากบ้านตัวเอง ก่อนรับตำแหน่งรัฐมนตรี 23 วัน


 

นายปกรณ์วุฒิ ตั้งคำถามว่า นี่เป็นการเปลี่ยนชื่อ “คนถือหุ้น” ให้เป็น “นอมินี” หรือมีการซื้อขายหุ้นจริงกันแน่ เนื่องจากไม่พบหลักฐานว่า มีการชำระเงินค่าหุ้น หากมีการซื้อขายกันจริงไม่ว่าจะต่ำหรือสูงกว่าราคาทุน 120 ล้านบาท นายศักดิ์สยาม หรือผู้ถือหุ้นคนใหม่ ก็จำเป็นต้องยื่นมูลค่าหุ้นส่วนเกินเป็นรายได้เพื่อเสียภาษี 
 

หรือหากซื้อขายเท่าราคาทุน นายศักดิ์สยาม ก็ต้องระบุเงินที่ได้จากการขายหุ้นเป็นทรัพย์สิน แล้วแจ้งต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
 

แต่เมื่อไปตรวจสอบการยื่นรายการแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ นายศักดิ์สยาม ต่อ ป.ป.ช.นั้น พบว่า เมื่อปี 2562 นายศักดิ์สยาม แจ้งว่า มีทรัพย์สิน 115.7 ล้านบาท ไม่มีหนี้สิน มีเงินสดและเงินฝากราว 76.3 ล้านบาท 
 

นายปกรณ์วุฒิเกิดข้อสงสัยว่า “เงิน 119.4 ล้านบาท หายไปไหน เป็นการ “ซุกหุ้น” หรือไม่!!


 

เหนือกว่านั้นเมื่อสืบทรัพย์ไปที่ข้อมูลจากประกันสังคมและกรมสรรพากรในปี 2558-2563 พบว่า นายเอแสดงรายได้ปีละประมาณ 100,000 บาท คิดเป็นเดือนละ 9,000 บาท โดยแจ้งแหล่งรายได้ทางเดียวคือ เงินเดือนจากบริษัท ศิลาชัย บุรีรัมย์ (1991) 
 

อีกทั้ง ข้อมูลงบดุลของบริษัทศิลาชัย ในปี 2561-2563 ระบุว่า นายเอคนนี้ กลายเป็น “เจ้าหนี้” เงินกู้ 221.5 ล้านบาท ของบริษัท ศิลาชัย และล่าสุดในปี 2564 บริษัทศิลาชัย กลายเป็นลูกหนี้นายเอคนนี้ถึง 250.2 ล้านบาท
 

ร้ายกว่านั้น ในปี 2562 บริษัทศิลาชัย บริจาคเงินให้พรรค ภท. 4.7 ล้านบาท หจก.บุรีเจริญฯ บริจาคให้พรรค ภท. 4.8 ล้านบาท
 

และใน 2563-2564 บริษัท ศิลาชัย กู้เงินเพิ่มจากนายเอ 109 ล้านบาท กู้เงินโดยไม่มีการทำสัญญา หรือคิดดอกเบี้ย 
 

นี่เป็นพฤติกรรมใช้นอมินี “ซุกหุ้น”หรือไม่
 

นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2565 โดยได้นำเอกสารที่อ้างว่าเป็นหลักฐานการโอนเงินจากนธนาคารธนชาต สาขาบุรีรัมย์ ที่รับโอนจาก นายศุภวัฒน์ เกษมสุทธิ์ ซึ่งนายศักดิ์สยาม ระบุว่า เป็นเพื่อน 
 

และนำเอกสารจากธนาคารธนชาต สาขาบางบัวทอง 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 วันที่ 2/8/60 จำนวน 35 ล้านบาท ครั้งที่ 2 วันที่5/9/60 จำนวน 35 ล้านบาท ครั้งที่ 3 วันที่ 5/1/61 จำนวน 49.5 ล้านบาท รวม 119.5 ล้านบาท มาแสดง และนายศักดิ์สยามยืนยันว่า “มีการซื้อขายกันจริงครับจากคุณศุภวัฒน์ ซึ่งเป็นเพื่อนของผม”  


 

นายศักดิ์สยาม ยังแสดงหนังสือรับรองของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และกล่าวถึงเหตุที่ทำไมไม่ยืนหลักฐานกรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่า ตามหลักเกณฑ์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรณีที่ต้องยื่นมีเรื่องเดียวคือ กรณีที่มีการเพิ่มเงินลงทุนหรือจดใหม่ ส่วนกรณีการโอนหุ้นไม่ต้องยื่น
 

“นับตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2561 เป็นต้นมา ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจของ หจก.บุรีเจริญ ทั้งสิ้น ส่วนเงินที่ได้รับจากการขายหุ้น ก็เป็นเรื่องส่วนตัวของผม ที่จะนำไปใช้อะไร คงไม่ต้องรายงานกับเพื่อนสมาชิก”
 

ส่วนกรณีที่ไม่มีการรายงานในบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นายศักดิ์สยาม ชี้แจงว่า “กิจกรรมที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นขณะที่เขายังไม่เข้าสู่ตำแหน่ง เรื่องที่เกิดขึ้นก่อน ไม่ได้อยู่ในข้อบังคับที่้ต้องมาชี้แจง”
 

ประเด็นแรก ที่เป็นปมทางการเมือง คือ หากเป็นการขายหุ้นจริง นายศักดิ์สยาม ได้เสียภาษีหรือไม่ ในเงินได้ 119.5 ล้านบาท
ประเด็นที่สอง หากมีการซื้อจริง นายศุุภวัฒน์ มีรายได้มาจากไหนมาซื้อหุ้น และรายได้ทั้งหมดนั้นได้เสียภาษีหรือไม่
 

นี่คือบ่วงกรรมที่ นายศักดิ์สยาม ต้องเผชิญ แม้ภายหลังได้รับการโหวตไว้วางใจท่วมท้นด้วยคะแนนเสียง 262 เสียง ต่อ 205 เสียง งดออกเสียง 5 สียง 


 

เพราะยังมีประเด็นคำถามที่ค้างคาใจในอีกหลายประเด็น
 

1.ทำไมรัฐมนตรีโอนขายหุ้นในราคาพาร์ ทั้งที่ขณะขายนั่นราคาของหุ้นส่วนจำกัด บุรีเจริญฯ มีสินทรัพย์มากกว่าราคาที่ขาย และกิจการนี้ก็ถือเป็นธุรกิจสำคัญของตระกูลชิดชอบที่ร่วมก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2539
 

2.ทำไมรัฐมนตรีขายหุ้นขณะที่รัฐมนตรีเพิ่งจะเพิ่มทุน 119 ล้านบาท และขายออกไปในขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดมีรายได้จำนวนมาก โดยในปี 2559 มีรายได้ 236 ล้านบาท ในปี 2560 มีรายได้ 340 ล้านบาท ในปี 2561 มีรายได้ 446 ล้านบาท รวมรายได้กว่า 1,000 ล้านบาท
 

3.ทำไมหลังจากโอนขายหุ้นแล้ว ยังให้ นายศุภวัฒน์ ใช้ที่อยู่ของห้างหุ้นส่วนในบ้านของตัวเองอยู่อีก 1 ปีกว่า และใช้ที่ตั้งในที่ดินโฉนดเลขที่ 3466 ซึ่งมีข้อพิพาทกับการรถไฟฯ บริเวณเขากระโดง เป็นที่ทำการ
 

4.ทำไมหลักฐานการโอนชำระค่าหุ้นตามที่รัฐมนตรีแสดงต่อสภาต่างกับราคาที่ทำสัญญาต่อกันถึง 1,000 บาท
 

5. ทำไมจึงมีการชำระเงินค่าหุ้นล่วงหน้าก่อนการโอนกว่า 6 เดือน แม้ว่า นายศักดิ์สยาม จะชี้แจงว่า ความจริงแล้วการซื้อขายหุ้นไม่จำเป็นว่าจะต้องชำระเงินและโอนเงินทันที เพราะมีสัญญาอยู่ และขอยืนยันว่า มีการซื้อขายโอนหุ้นจริง ไม่มีนอมินี แต่ไม่น่าจะพอ
 

6.ทำไมหลังจากมีการโอนหุ้นแล้วนายศักดิ์สยาม ยังได้รับเงินค่าที่ปรึกษาห้างหุ้นส่วน 400,000 บาท ในปี 2561 แต่ นายศุภวัฒน์ กลับไม่ได้ค่าตอบแทน ทั้งๆ ที่เป็นเจ้าของและหุ้นส่วนผู้จัดการ
 

7.ทำไมโอนหุ้นให้กันแล้ว ไม่มีการโอนหนี้จำนวน 38 ล้านบาท หรือ 69 ล้านบาท หากโอนหนี้จำนวนดังกล่าวแล้ว ทำไมนายศักดิ์สยามไม่นำไปเสียภาษี /แต่หากยังไม่โอนย่อมถือได้ว่า ปกปิดทรัพย์สินหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช.
 

8. ทำไมในปี 2560-2562 นายศุภวัฒน์ ซื้อหุ้นจำนวน 119 ล้านบาท และมีเงินให้บริษัท ศิลาชัย กู้ยืม 221 ล้านบาท มีเงินบริจาคในนามส่วนตัว 2,700,000 ล้านบาท บริจาคในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด 4,800,000 บาท เอาเงินมาจากไหน!
 

ชี้แจงได้หรือไม่ว่า ได้เบิกเงินจากธนาคารใด ทำอสังหาริมทรัพย์ที่ไหน รายได้เท่าไหร่ รายได้ซื้อขายทอง หุ้นแค่ไหน มีการเสียภาษีเงินได้หรือไม่ สรรพากรต้องลงไปตรวจสอบเรื่องนี้
 

9.ทำไมไม่ปรากฏข้อมูลการเสียภาษีของ นายศุภวัฒน์ และสรรพากรได้ตรวจสอบเรื่องการซื้อหุ้นในราคาพาร์ แต่มูลค่าทรัพย์สินที่ซื้อมีจำนวนมากกว่า หรือไม่อย่างไร
 

เห็นมั้ยละว่า มีคำถามอีกหลายอย่างที่ต้องการคำตอบ
 

เพราะกระบวนการตรวจสอบทรัพย์ของนักการเมืองนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยึดถือปฏิบัติ!