ทำไมประกันที่ความคุ้มครองสิบล้านเหมือนกัน แต่จ่ายเบี้ยไม่เท่ากัน

28 ธ.ค. 2564 | 20:09 น.

บทความโดย : ธิติวัฒน์ ธีรไวนุวัฒน์ นักวางแผนการเงิน CFP® สมาคมนักวางแผนการเงินไทย

ปัญหาที่ได้มักได้ยิน เมื่อทำประกันไปสักระยะเวลาหนึ่ง คือ

 

อ้าว ความคุ้มครองหมดไปแล้วเหรอ นึกว่าได้ตลอดชีวิต

 

อ้าว ทำไมเราจ่ายแพงกว่าเพื่อนที่ซื้อความคุ้มครอง 10 ล้านเหมือนกัน

 

อ้าว ทำไมครบกำหนด ไม่เห็นได้เงินอะไรเลย

 

อ้าว ทำไมเพื่อนที่ซื้อยกเลิก แล้วได้เงินคืน ทำไมเราไม่มีเงินคืน

 

อ่านบทความนี้จบแยกได้แน่นอน เพราะประกันเป็นสินค้าที่ควรซื้อให้ถูกต้องตั้งแต่แรก 

 

(เพราะความไม่รู้ มีราคาที่ต้องจ่าย)

 

เรามักจะเห็นบ่อยๆ เลยกับความคุ้มครอง 10 ล้าน หรือ สร้างมรดก 10 ล้าน  ด้วยเบี้ยหลักหมื่น หรือจะอะไรก็ตามแต่

 

ถ้าดูเบี้ยที่ถูกสุด ความคุ้มครองมากสุด แบบนี้ก็ตัดสินใจได้เลย แต่... ช้าก่อน

 

ก่อนที่จะเลือกตัดสินใจ ควรทราบว่า

 

ประกันที่เน้นความคุ้มครองชีวิตในตลาด ปัจจุบันที่เน้นขายมีอยู่ 3 ประเภท

 

  1. ชั่วระยะเวลา หรือ Term
  2. ตลอดชีพ หรือ Whole life
  3. ควบการลงทุน หรือ Unit Linked

 

เวลาจะเลือก ก็เลือกถูกสุดสิ ก็จบเลยดีไหม ง่ายดี มีแบบนี้แล้วจะมีแบบอื่นมาอีกทำไม อืม... มันมีอะไรที่แตกต่างกันแน่นอน

 

ก่อนจะเลือก ให้เทียบพิจารณาจาก 3 ประเด็น

 

  1. เบี้ยที่จ่าย เทียบกับความคุ้มครองที่ได้รับ
  2. ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต แต่ละช่วงอายุ
  3. เงินที่ได้รับคืน กรณียกเลิกกรมธรรม์แต่ละปีกรมธรรม์  หรือเมื่อครบกำหนดสัญญา

 

เรามาดูกันทีละประเด็น

 

สำหรับ ลูกค้าเพศหญิง อายุ 35 ปี ทุนความคุ้มครอง 10 ล้าน

 

ประเด็นแรก : เบี้ยที่จ่าย

 

ทำไมประกันที่ความคุ้มครองสิบล้านเหมือนกัน แต่จ่ายเบี้ยไม่เท่ากัน

 

จากรูปจะแห็นว่า

 

  1. ชั่วระยะเวลา 20/20 ชำระเบี้ย 20 ปี คุ้มครอง 20 ปี จ่ายเบี้ย 41,800 บาทต่อปีรวมระยะเวลา 20 ปี เป็นเงินทั้งหมด 836,000 บาท
  2. ตลอดชีพ 99/20 ชำระเบี้ย 20 ปี คุ้มครองจนถึงอาย 99 ปี จ่ายเบี้ย 153,000 บาทต่อปีรวมระยะเวลา 20 ปี เป็นเงินทั้งหมด 3,060,000 บาท
  3. ควบการลงทุน ชำระเบี้ย 20 ปีจ่ายเบี้ย 50,000 บาทต่อปี รวมระยะเวลา 20 ปี เป็นเงินทั้งหมด 1,000,000 บาท

(หมายเหตุ: ควบการลงทุน สามารถเลือกจำนวนปีที่ชำระเบี้ยว่าจะชำระเบี้ยกี่ปีได้เอง แต่เพื่อการเปรียบเทียบจึงใช้ 20 ปี)

 

ถ้าดูแค่เบี้ย ก็เลือกชั่วระยะเวลาไปเลยดีไหม

 

แต่ใจเย็นครับ เราดูประเด็นถัดไปก่อนครับ ว่าเราต้องการอะไรจริงๆ

 

ประเด็นที่สอง : ความคุ้มครอง กรณีที่เราจากไป ในแต่ละช่วงอายุ

 

ทำไมประกันที่ความคุ้มครองสิบล้านเหมือนกัน แต่จ่ายเบี้ยไม่เท่ากัน

 

  1. ชั่วระยะเวลา 20/20 จะเห็นว่าคุ้มครอง 10 ล้านตั้งแต่วันแรก แต่หลังจาก 20 ปีจะไม่มีความคุ้มครองแล้ว ดังนั้นที่บอกว่าจะทำเพื่อมรดก มันใช่มรดกจริงไหม ถ้าเราอยู่เกิน 20 ปี แบบนี้เหมาะสำหรับทำคุ้มครองในช่วงระยะเวลานึง เช่น เรายังมีบุคคลในอุปการะ ที่ยังพึ่งพาเราอยู่ เช่นบุตรที่ยังเรียนไม่จบ

 

2. ตลอดชีพ 99/20ง่ายๆ คือ คุ้มครอง 10 ล้านตั้งแต่วันแรกที่ทำ จนถึงอายุ 99 ไม่ว่าเราจะจากไปที่อายุเท่าไหร่ เงิน 10 ล้านจะถูกส่งต่อให้ผู้รับผลประโยชน์ที่ระบุไว้ หรือ ทายาท ถ้าอายุ 99 เรายังขยันอยากหายใจอยู่ ณ วันนั้น เราก็รับเงิน 10 ล้าน แบบนี้ไม่ว่าจะจากไปก่อน หรือ อยู่ถึงครบกำหนด ก็ได้รับเงิน 10 ล้าน แน่นอนไม่ทางใดก็ทางนึง แค่ว่าคนรับจะเป็นใคร

 

3. ควบการลงทุน ชำระเบี้ย 20 ปี จะได้ 10 ล้านที่ทำความคุ้มครองไว้ + เงินที่อยู่ในกองทุน ส่งมอบให้ทายาท แต่จะหมดความคุ้มครองเมื่ออายุ 74 ปี เพราะเงินส่วนในกองทุน จะมาชำระเป็นค่าความคุ้มครองชีวิตเรื่อย ๆ จนกระทั่งหมดไป (ไว้จะอธิบายในบทความหน้า เกี่ยวกับประกันควบการลงทุน)

 

(หมายเหตุ: ควบการลงทุน ตั้งสมมติฐานผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 5% ต่อปี อาจขาดทุน หรือได้กำไรมากกว่าที่กำหนด)

 

ประเด็นที่สาม : เงินคืนที่ได้รับที่ปีต่างๆ กรณียกเลิกกรมธรรม์ หรือ ครบกำหนด

 

ทำไมประกันที่ความคุ้มครองสิบล้านเหมือนกัน แต่จ่ายเบี้ยไม่เท่ากัน

 

  1. ชั่วระยะเวลา 20/20ไม่มีเงินคืนที่ปีไหนๆ เลย ไม่ว่าจะยกเลิกก่อน หรือ ครบกำหนดกรมธรรม์ เป็นเบี้ยจ่ายทิ้ง
  2. ตลอดชีพ 99/20 จะมีเงินคืนเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี ตามมูลค่าเวนคืน ที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ (แต่ละบริษัท คืนมาก คืนน้อยไม่เหมือนกัน)

 

จากกราฟตัวอย่าง

  • ถ้ายกเลิกที่อายุ 55 จะได้ 2,610,000 บาท
  • ถ้ายกเลิกที่อายุ 65 จะได้ 4,450,000 บาท
  • ถ้ายกเลิกที่อายุ 75 จะได้ 6,350,000 บาท
  • หรือถือไว้จนครบกำหนด รับเงิน 10 ล้านบาท

 

3. ควบการลงทุน ชำระเบี้ย 20 ปี กรณียกเลิกกรมธรรม์ จะได้รับเงินคืนส่วนที่ลงทุนในกองทุน

จากกราฟ

  • ถ้ายกเลิกที่อายุ 55 จะได้ 1,006,359 บาท
  • ถ้ายกเลิกที่อายุ 65 จะได้ 1,246,068 บาท
  • ถ้ายกเลิกที่อายุ 74 จะไม่ได้รับเงิน เนื่องจากเงินในกองทุนหมด เพราะนำไปจ่ายค่าเบี้ยประกัน

 

(หมายเหตุ: ควบการลงทุน ตั้งสมมติฐานผลตอบแทนจากการลงทุนที่ 5% ต่อปี อาจขาดทุน หรือได้กำไรมากกว่าที่กำหนด)

 

ประกันแต่ละแบบจะมีข้อดีและข้อจำกัดที่แตกต่างกัน อยู่ที่ว่าเราต้องการตอบโจทย์เรื่องใดๆ ในชีวิตบ้าง เช่น แค่ต้องการปกป้องหนี้ที่มีอยู่ระยะเวลานึงเท่านั้น หรือไม่อยากจ่ายทิ้ง อยากให้มีเงินออกใช้บ้างตอนเกษียณ หรือต้องการทิ้งเป็นมรดกไว้ให้ทายาท

 

ไม่มีแบบไหนที่ดีที่สุด จะมีก็แค่ แบบไหนที่ดี และเหมาะกับแผนชีวิตของเรา ตามที่เราต้องการประโยชน์จากประกันแผนนั้นๆ

 

ลองคุยกับนักวางแผนการเงิน เพื่อค้นหาความต้องการ ทำความเข้าใจประโยชน์ และข้อจำกัดของแต่ละแผน จากนั้นจึงเลือกแบบให้เหมาะกับเราที่สุด

 

ที่มา  :  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย