เศรษฐกิจยับ หนี้ทะลัก คนไทยติดหรูจนล้มทั้งยืน

11 มิ.ย. 2568 | 06:54 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2568 | 07:01 น.

เศรษฐกิจยับ หนี้ทะลัก คนไทยติดหรูจนล้มทั้งยืน : คอลัมน์ฐานโซไซตี โดย...กาแฟขม หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4,104

*** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ “ลึก ตรงประเด็น เห็นโอกาส” ฉบับ 4,104 ระหว่างวันที่ 12-14 มิ.ย. 2568 โดย...กาแฟขม

*** หนักแล้วเศรษฐกิจไทย ย่อบแย่บ ยับยุ่ยกันไปหมด ไม่รู้ถึงจุดตํ่าสุดเมื่อไหร่ ทำมาหากินฝืดเคือง หนี้สินล้นพ้นตัวกันแทบทั้งสิ้น ยืนยันข้อมูลล่าสุดมาจาก ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ที่นำมาจากงานวิจัยของ ม.มหิดลอีกที ประมาณว่า คนไทยมีพฤติกรรรมการบริโภคแบบติดหรู นำไปสู่การก่อหนี้เกินตัวได้ง่าย คนไทย 1 ใน 3 นิยมใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าหรู (Luxury) และบริการระดับพรีเมียม อาหารเครื่องดื่ม บัตรคอนเสิร์ต บริการเสริมความงาม ของสะสม เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดี และการยอมรับจากสังคมเสี่ยงก่อหนี้เกินตัว 

*** ผู้ชายไทยมีความต้องการโดดเด่นที่มากกว่าผู้หญิง สินค้าที่นิยมซื้อแบบติดหรู อย่างอุปกรณ์เทคโนโลยี ขณะที่ผู้หญิงนิยมซื้อสินค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กว่าร้อยละ 50 มีเงินออม สำหรับยามฉุกเฉินน้อย 6 เดือน ทำให้มีแนวโน้มเข้าสู่วงจรหนี้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝัน สะท้อนปัญหาการขาดความรู้ และการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสม เรียกง่ายๆว่า ติดหรูและพร้อมเป็นหนี้ว่างั้น 

*** ตัวเลขหนี้ครัวเรือน สรุปไตรมาส 4 ปี 2567 มูลค่ารวม 16.42 ล้านล้านบาท สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ปรับอยู่ที่ร้อยละ 88.4 หนี้ครัวเรือนแยกตามวัตถุประสงค์การก่อหนี้ สินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลง ได้แก่ สินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากร้อยละ 2.5 ในไตรมาสก่อน ตามกำลังซื้อที่ลดลง

เช่นเดียวกับสินเชื่อส่วนบุคคล และคุณภาพสินเชื่อของครัวเรือนลดลง โดยมูลค่าสินเชื่อส่วนบุคคลที่ค้างชำระเกิน 90 วันขึ้นไป (NPLs) มีมูลค่า 1.22 ล้านล้านบาท ขยายตัว ร้อยละ 16.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.94 ของสินเชื่อรวม สินเชื่อค้างชำระระหว่าง 30-90 วัน (SMLs) มีมูลค่า 5.68 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 6.9 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

*** ข้อมูลจาก รักษ์ วรกิจโภคาทร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM ก็ยืนยันเกี่ยวกับหนี้สอดคล้องต้องกัน โดยประเทศไทยจะเผชิญหนี้เสียลูกใหญ่ ปัจจุบันระบบสินเชื่อของไทยมีมูลค่ารวมราว 19 ล้านล้านบาท ซึ่งเทียบเท่าขนาดจีดีพีทั้งประเทศ แต่หนี้ที่เริ่มผิดนัดชำระ หรือมีปัญหานั้น กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หนี้เสี่ยงรวมกว่า 2 ล้านล้านบาท

แบ่งเป็น หนี้เสีย หรือ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จากธนาคารพาณิชย์ 5 แสนล้านบาท หนี้เสียจากสถาบันการเงินของรัฐ 3.2 แสนล้านบาท หนี้เสี่ยง หรือกลุ่ม Special Mention (SM) ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท ทั้งหมดจะไหลมารวมกันช่วงปลายปีนี้ ทำให้มีหนี้ที่ต้องรับมือ 1.2-1.5 ล้านล้านบาท ใช้โมเดลบริษัทบริหารหนี้ (AMC) จะรับไม่ไหว ทั้งระบบมีศักยภาพรองรับเพียงปีละไม่ถึง 20% เท่านั้น เกรงว่าจะกลายเป็นปัญหาสะสมต่อเศรษฐกิจในอนาคต

*** ว่าด้วยเรื่องเศรษฐกิจ มีแต่ข่าวร้าย ไม่ค่อยมีข่าวดี จะมีดีอยู่บ้าง วันก่อน เมื่อ พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกสหรัฐเปิดทางนัดวันกันแล้วให้ไทยไปเจรจาภาษีกับสหรัฐ ที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ประกาศไปก่อนหน้านี้ แต่งดเว้นบังคับใช้ชั่วคราว 90 วัน ช่วงนี้เป็นช่วงที่ไทยต้องทำการบ้านไปเสนอหนักหน่อย 3-4 แผนอย่างที่ว่ามาก่อนหน้านี้ พร้อมปรับเพิ่มอีกเล็กน้อย ก็ขึ้นสู่โต๊ะเจรจากัน ได้ฟัง รองนายกฯพิชัย ดูมั่นอกมั่นใจสร้างความพึงพอใจให้กับสหรัฐได้ และจะเป็นผลดีกับไทย ที่จะไม่สูญเสียตลาดนี้ไป

                             เศรษฐกิจยับ หนี้ทะลัก คนไทยติดหรูจนล้มทั้งยืน

 *** “ปรับ ครม.” ยังเป็นข่าวเกรียวกราว ในช่วงที่นายกฯ และสทร. กำลังทบทวนครุ่นคิด อยู่ในห้วงการทวงกระทรวงมหาดไทยมาไว้กับพรรคเพื่อไทยให้ได้ ปรับเพื่อการเมือง ปรับเพื่อนำไปสู่โหมดการเลือกตั้ง ปรับเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ต้องไม่ลืมว่ากระทรวงมหาดไทยกำกับดูแลสั่งการผู้ว่าราชการจังหวัด และการปกครองท้องถิ่นในทุกระดับ ชัดเจนว่ามีผลต่อการเลือกตั้งมากมายหลายเปอร์เซ็นต์

*** ที่สำคัญกลไก “มหาดไทย” มีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก การนำนโยบายรัฐไปสู่การปฎิบัติที่ให้เกิดผลอย่างจริงจังกับกลุ่มฐานราก ล้วนต้องพึ่งมหาดไทย ยกตัวอย่างพอให้แลเห็น ความจำเป็นพื้นฐานของแต่ละหมู่บ้าน แต่ละครัวเรือน มท.รู้ดี มีการสำรวจ ทำข้อมูลสมํ่าเสมอ อำเภอ ตำบล จะรู้ดีว่าชาวบ้านขาดที่ทำกิน ชาวบ้านมีที่ดินแต่ขาดเมล็ดพันธุ์ ชาวบ้านครัวเรือนไหนขาดพันธุ์ปศุสัตว์ นายอำเภอ ปลัดอำเภอรู้ และมีส่วนเสนอให้ตรงจุดตามความต้องการ ทำนองกลับกัน ถ้านายอำเภอ ปลัดอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่รู้ หรือว่าแค่ทำให้ผ่านๆ ก็จะกลายเป็นชาวบ้านขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ แต่สิ่งที่ได้กลับเป็นผ้าห่มกันหนาวแทน เหมือนกับการป่วนต้องป่าตัดแต่กลับให้ยาพาราเซตตามอล เป็นการจัดงบไม่ตรงกับความต้องการ ทำให้การแก้ปัญหาก็ไม่ถึงไหน เป็นอย่างนี้หลายๆ จังหวัดและนานปีดีดัก ทั้งที่เข้าสู่ยุคไอที เอไอ ข้อมูลข่าวสารที่ แม่น ฉับไว ได้เวลา “มหาดไทย” หัวใจสำคัญเคลื่อนเศรษฐกิจ

หน้า 4 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 45 ฉบับที่ 4,104 วันที่ 12 - 14 มิถุนายน พ.ศ. 2568