แก้หนี้คนไทย เรื่องท้าทาย รัฐบาลเศรษฐา

30 พ.ย. 2566 | 05:55 น.

แก้หนี้คนไทย เรื่องท้าทาย รัฐบาลเศรษฐา คอลัมน์ฐานโซไซตี หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,944 ระหว่างวันที่ 30 พ.ย.-2 ธ.ค.2566 โดย...กาแฟขม

นายกฯ เศรษฐา ออกมาเปิดใจกับ 2 บก.ใหญ่เครือเนชั่น บากบั่น บุญเลิศ และ วีระศักดิ์ พงศ์อักษร มีเรื่องให้ถูกพูดถึงในการนั่งตำแหน่งนายกฯ เป็นเวลา 2 เดือนเศษ ซึ่งเขาใช้เวลาในการเดินทางเยือนต่างประเทศไปมาก เพื่อนำประเทศไทยไปแสดงศักยภาพในเวทีโลก ดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน บอกให้โลกรู้ไทยมีดีที่ไหน อย่างไร และมีจุดยืนท่ามกลางความขัดแย้งขั้วอำนาจอย่างไร ตอนนี้สายตาของต่างชาติเป็นมิตรและพร้อมที่จะลงทุน ที่ต้องการที่สุดเป็นการสานสัมพันธ์ด้านการต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหลายประเทศ ที่เป็นประเด็นใหญ่ของโลกเวลานี้ ซึ่งไทยมีจุดยืนมีความเป็นกลาง “การเดินทางไปเราทำตัวพอประมาณ เราเป็นคู่ค้าของเขาๆ ก็สบายใจ โดยที่ไม่มีความรู้สึกว่าเราไปท้าทายตำแหน่งของเขา ทำให้เขาสบายใจที่จะคุยกับเรา และบรรยากาศต่าง ๆ ก็ดูเป็นมิตรอย่างยิ่ง” นั่นคือภารกิจต่างประเทศที่ นายกฯ มองว่าประสบความสำเร็จ

ที่บอกว่าประสบความสำเร็จ แน่นอนมีบริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ตอบรับ นายกฯ เศรษฐา ในการเข้ามาลงทุนไทยทั้ง เทสลา บริษัทยานยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของสหรัฐ พร้อมขนเงินเข้ามาลงทุนในไทยมากกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ผู้บริหารอันดับ 2 ที่ดูแลเรื่องการลงทุนมาดูทำเลที่ตั้งของโรงงาน และพร้อมเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า

รัฐบาลยังมียุทธศาสตร์สำคัญ ตั้งเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรม ยานยนต์ไฟฟ้า ดิจิทัล และ เอไอ ซึ่งถือเป็นอุตสาหกรรมทันสมัย เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์ในอนาคต รัฐบาลปรับสภาพแวดล้อมของประเทศไทย การผลักดัน Ease of Doing Business ต้องง่าย สะดวก รวดเร็ว มีหลักนิติธรรมที่ชัดเจน ทั้งมาตรการทางด้านภาษี ผ่านการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8-15 ปี และพลังงานสะอาดที่เตรียมความพร้อมเอาไว้อย่างเต็มที่ จะเป็นจุดดึงดูดสำคัญให้นักลงทุนเข้ามาในประทศไทย และจุดแข็งที่สำคัญอีกอย่างของประเทศไทยปัจจุบันในสายตาของนักลงทุนทั่วโลก คือ ความมั่นคงทางด้านการเมือง

น่าหนักใจเมื่อ ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขหนี้สินครัวเรือนไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนปรับลดลง โดยหนี้สินครัวเรือน ในไตรมาสสอง ปี 2566 มีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในของประเทศ (GDP) อยู่ที่ 90.7% สินเชื่อเกือบทุกประเภทขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งหนี้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ และหนี้เพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก เป็นหนี้ที่มีสัดส่วนมากเป็นสองอันดับแรกของหนี้สินครัวเรือนทั้งหมด เรียกว่า คนไทยจมกองหนี้กันเลยทีเดียว เมื่อหนี้สูงเช่นนี้ การทำมาหาได้ต้องสูงตามไปด้วย ซึ่งก็เป็นโจทย์ใหญ่ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ไข

ส่วนหนี้นอกระบบที่ยอดพุ่ง 5 ล้านล้านล้านบาทนั้น เป็นเรื่องท้าทายเช่นกัน นายกฯ เศรษฐา รํ่าๆ เงื้อดาบมาแต่ไกล จะฟาดฟันนายทุนหนี้นอกระบบให้บรรลัย ด้วยการให้ลูกหนี้นอกระบบมาขึ้นทะเบียนกับนายอำเภอ มีผู้กำกับ ตร. คอยประคับประคองป้องกันนายทุนซ่าๆ แข็งขืน นัยว่า เจ้าหนี้รายไหนที่ฟันดอกเบี้ยท่วมเงินต้นไปแล้ว ก็ขอให้หยุดเถิด หยุดเก็บดอกเบี้ยเขาต่อเสียที แนวคิดดี หลักการดี แต่วิธีการปฏิบัติต้องดู เพราะต้องเข้าใจว่า นายทุนพวกนี้ส่วนใหญ่ผู้มีอิทธิพลเขาเห็นหน้ากันทุกวัน ตร.และนายอำเภอ ต้องเข้มแข็งในการดูแลรักษาความปลอดภัยให้เขา หวั่นๆ เสียจริงเกิดการทวงหนี้มหาโหดขึ้น และจะมีเสียงปืนลั่นกันทั่วทุ่งประเทศไทยอีกคำรบ ด้วยวิธีการแก้หนี้เช่นนี้ของ นายกฯ เศรษฐา มีหรือที่ นายทุนเงินกู้จะยอม และไปไล่เรียงดูเถิด ส่วนใหญ่พวกนี้อิงแอบการเมือง อำนาจรัฐ ทั้งระดับชาติ และ ท้องถิ่น ทั้งสิ้น

หนี้สูงไม่เป็นไรถ้าเศรษฐกิจดี มีเงินใช้หนี้ได้ แต่ฟัง กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง แล้วก็หนาวๆ ยังไงไม่รู้ เมื่อบอกว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 โตได้ แต่โตตํ่าๆ ถึงตํ่ากว่าศักยภาพต้องกระตุ้นทั้งฝั่งดีมานด์ และ ซัพพลาย หรือ ฝั่งปัจจัยการผลิตด้วยโดยนำเทคโนโลยีมาใช้ พร้อมกับการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ระยะ 20 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเคยโต 5-6% ก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ ปี 40 แต่จากนั้นก็โตไม่มาก 5 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ยได้ไม่ถึง 1% ภาพเศรษฐกิจไทยจึงยังไม่น่าตื่นเต้นมากนัก ปี 67 คาดว่า จะขยายตัวได้มากกว่า 3% ไม่นับรวมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ต้องดูโลกด้วย โดยเฉพาะ “จีน”ไม่ฟื้นตัว ไม่เต็มที่ ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าไปด้วย อันนี้ปัญหาใหญ่ที่ต้องร่วมฝ่าฟันกันทีเดียว เพราะทุกอย่างพันกันไปหมด