ต้นทุนของการ“หักหลัง”ทางการเมือง

05 ก.ย. 2567 | 04:36 น.
อัพเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2567 | 04:48 น.

ต้นทุนของการ“หักหลัง”ทางการเมือง : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิดก็หลักสี่ (.ศูนย์) โดย..รศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4024

เหตุการณ์ทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปประจำ พ.ศ. 2566 ที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง นับได้ว่าเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย หรือคาดไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา สถานการณ์พลิกซ้ายตะแคงขวาจนยากที่จะทำนายทายทักว่า เรื่องใดจริง เรื่องใดลวง 

ไล่เรียงตั้งแต่การสลับขั้วของพรรคเพื่อไทย ที่หันมาจับคู่กับขั้วตรงข้ามอย่าง พรรคพลังประชารัฐ และ พรรครวมไทยสร้างชาติ จัดตั้งรัฐบาล และอัญเชิญ พรรคก้าวไกล ไปเล่นบทบาทฝ่ายค้าน ซึ่งเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า แม้ว่าจะได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่ง แต่หากขาดซึ่งญาติสนิทมิตรสหายทางการเมืองแล้ว ก็มิอาจตั้งรัฐบาลได้ แต่เหตุการณ์ทิ้งที่หนึ่งไว้กลางทาง ก็มิใช่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก

ปรากฏการณ์สลายข้างรวมขั้ว มีมาตั้งแต่การเดินเกมทางการเมืองของเฒ่าสารพัดพิษ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ที่พรรคกิจสังคมครองเก้าอี้เพียง 18 ที่นั่ง ในสภาผู้แทนราษฎร แต่ก็ได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

หรือ สมัยชวน 2 ที่ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ ออกไปล่างูเห่าถึงพรรคประชากรไทย ให้มาสนับสนุนคุณชวน หลีกภัย นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีสมัยที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2540 การจัดตั้งรัฐบาลผสมภายใต้กลยุทธ์ทรยศเพื่อนของพรรคเพื่อไทย เมื่อปีที่แล้วก็อ้างเหตุผลอันสวยหรูว่า “ประเทศชาติรอไม่ได้” 

 

แต่พลันที่ คุณเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีเผลอหล่นเก้าอี้จากปัญหาจริยธรรม ด้วยการแต่งตั้งคนมีมลทินมาครองตำแหน่งรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยก็สร้างความพิสดารทางการเมืองอีกคำรบ ด้วยการดีดพรรคพลังประชารัฐ ฝั่งของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ออกจากรัฐบาล และข้ามห้วยไปเชิญชวน พรรคประชาธิปัตย์ ที่คุมโดย คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน จนทำเอาพี่น้องพันธุ์แท้ตัวยงของพรรคประชาธิปัตย์ทนกันไม่ได้
 

ไม่ว่าจะเป็น คุณชวน หลีกภัย คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ คุณบัญญัติ บรรทัดฐาน และ คุณจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ที่ออกมาสะท้อนว่า การกระทำดังกล่าวขัดกับอุดมการณ์ของพรรคอย่างร้ายแรง หรือรุ่นเยาว์อย่าง ร้อยตำรวจเอก พงศกร ขวัญเมือง ที่ต้องโบกมือลาพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรับขวัญดีลเพื่อชาติครั้งนี้

การ “หักหลัง” ทางการเมืองในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มีมาอย่างยาวนาน เพราะการหักหลังถือเป็นกลยุทธ์ทางการเมืองแบบหนึ่งที่มุ่งบรรลุเป้าหมาย และผลประโยชน์ของกลุ่มผลประโยชน์ ตราบใดที่ผลประโยชน์ไม่ลงตัวกันแล้ว การหักหลังก็มีอยู่ร่ำไป อันถือเป็นเรื่องธรรมดา

แต่ก็หลายครั้งเช่นเดียวกัน ที่การหักหลังทางการเมือง นำมาซึ่งการสูญเสียทางสังคม หรือ ทางเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  

การทรยศประชาชนด้วยการถ่มน้ำลายรดฟ้าของ พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่ยอมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2535 ด้วยเหตุผล “เสียสัตย์เพื่อชาติ” นำมาซึ่งความเสียหายอันใหญ่หลวงของประเทศไทย ดังหลักฐานของเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่จวบจนวันนี้ผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ยังค้นศพไม่พบ 

หรือ การไฮแจ็ค คุณบรรหาร ศิลปอาชา ของพรรคร่วมรัฐบาล ให้คุณบรรหาร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2539 เพื่อหลีกทางให้ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ รับตำแหน่งแทน จนคุณบรรหารต้องหักหลังกลับอีกดอก ด้วยการประกาศยุบสภา ก็นำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 ในที่สุด หากรัฐบาลมีความต่อเนื่อง ประเทศไทยคงไม่ประสบกับปัญหาที่เลวร้ายอย่างที่ต้องเผชิญในอดีตก็เป็นได้ 

การตัดสินใจครั้งสำคัญของพรรคประชาธิปัตย์ ของ คุณเฉลิมชัย ศรีอ่อน หัวหน้าพรรค และ คุณเดชอิศม์ ขาวทอง เลขาธิการพรรค ที่หันหัวเรือเข้าร่วมรัฐนาวาเดียวกันกับพรรคเพื่อไทย คู่ปรับทางการเมืองกว่า 20 ปี ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพื่อยุติความขัดแย้ง” ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงและรุนแรงว่า พรรคประชาธิปัตย์น่าจะถึงกาลล่มสลายในมือของผู้บริหารพรรคชุดนี้ 

                              ต้นทุนของการ“หักหลัง”ทางการเมือง

เพราะการจับมือกับพรรคเพื่อไทย และ คุณทักษิณ ชินวัตร เป็นเรื่องที่ขัดต่ออุดมการณ์ แนวคิดทางการเมือง และการต่อสู้ทางความคิดของพรรคประชาธิปัตย์ อย่างมิอาจให้อภัยได้ หลักฐานเชิงประจักษ์สำหรับข้อเท็จจริงดังกล่าว ได้แก่ เสียงก่นด่าของผู้ให้การสนับสนุนพรรค จนพรรคต้องปิดช่องทางแสดงความคิดเห็น และเดินหน้าไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างหน้าชื่นตาบาน

แต่กระนั้นก็ตาม การหักหลังประชาชนและเก็บอุดมการณ์ใส่ไว้ในลิ้นชักของพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมต้องแลกมาด้วยการจ่ายชำระค่าหักหลังในราคาแพง 

งานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์หลายฉบับพิสูจน์แล้วว่า การทรยศต่อนโยบายของพรรค ที่เคยประกาศต่อสาธารณชน ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งต้นทุนที่สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ ค.ศ. 1988 คุณจอห์จ เอช ดับเบิ้ลยู บุช (George H. W. Bush) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาสัญญากับประชาชนว่า “Read my lips, no new tax” หรือ “อ่านปากของฉัน ไม่มีภาษีใหม่ ๆ แน่นอน” แต่เมื่อเขาชนะเลือกตั้ง เขาก็ดำเนินนโยบายขึ้นภาษีทันที 

หลังจากนั้น บรรดาสื่อมวลชนและผู้ลงคะแนนต่างก็จำว่า เขาทรยศ และการเลือกตั้งใน ค.ศ.1992 จอห์จ ก็พ่ายแพ้ให้กับ คุณบิล คลินตัน คู่แข่งจากอีกฟากหนึ่ง เป็นต้น

พรรคประชาธิปัตย์อาจจะดูแคลนว่า การเข้าร่วมรัฐบาลไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ผลงานวิชาการต่าง ๆ ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์คิดผิด เนื่องจากความไว้วางใจทางการเมืองถือเป็นทุนที่สำคัญ และจำเป็นสำหรับการทำงานของกลไกต่าง ๆ ในระบอบประชาธิปไตย รวมถึงกระบวนการทางเศรษฐกิจและสังคม 

ความไว้วางใจจะช่วยหรือสนับสนุนให้สถาบันทางการเมืองต่าง ๆ ทำหน้าที่ได้อย่างมี่ประสิทธิผล อำนวยความสะดวกสำหรับการแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและทางสังคม บรรเทาลดทอนต้นทุนธุรกรรมต่าง ๆ ในตลาดการเมืองและตลาดการเงิน และผ่อนคลายมาตรการกำกับดูแลที่ไม่มีความจำเป็น 

แต่เมื่อความไว้วางใจถูกทำลาย ประชาชนก็จำเป็นที่จะต้องสร้างกระบวนการใหม่ขึ้นมาทดแทนความไว้วางใจดังกล่าว เช่น การสรรหาตัวแทนที่ทำหน้าที่ได้ดีกว่า หรือ การลดการใช้จ่ายในการบริโภคเนื่องจากความไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล ที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น

คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะคาดการณ์ขนาดและความรุนแรงของต้นทุนของการหักหลังของพรรคประชาธิปัตย์ ครั้งนี้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจมากนัก หากการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่มีชื่อของผู้บริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบัน ทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกต่อไป