การย้ายถิ่นของแรงงานภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

18 ม.ค. 2567 | 07:18 น.

การย้ายถิ่นของแรงงานภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.สมทิพ วัฒนพงษ์วานิช คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,958 หน้า 5 วันที่ 18 - 20 มกราคม 2567

KEY

POINTS

- การสื่อสาร คมนาคม เทคโนโลยี และ เครือข่ายสังคมออนไลน์ มีส่วนช่วยให้การย้ายถิ่นของแรงงานเป็นไปได้ง่าย

 

-การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่นของแรงงานเป็นอย่างมาก

 

-รัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติได้เต็มที่ เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่จำกัด และอาจไม่เป็นปัจจุบัน

ในภาพรวมแล้ว จำนวนแรงงานในประเทศจะขึ้นอยู่กับสามปัจจัยหลัก ได้แก่ จำนวนประชากรเกิดใหม่ จำนวนประชากรเสียชีวิต และจำนวนประชากรย้ายถิ่น ซึ่งในประเทศไทย ประชากรเกิดใหม่มีแนวโน้มลดลง และประชากรมีอายุเฉลี่ยยืนยาวขึ้น

หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ในระยะยาว ย่อมส่งผลให้จำนวนประชากรวัยแรงงานของประเทศมีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ประชากรวัยสูงอายุ ซึ่งเป็นวัยพึ่งพิงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ จำนวนแรงงานย้ายถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับตลาดแรงงานในอนาคต

 

 

ความก้าวหน้าด้านการสื่อสาร คมนาคม เทคโนโลยี และ เครือข่ายสังคมออนไลน์ มีส่วนช่วยให้การย้ายถิ่นของแรงงานเป็นไปได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก World Migration Report 2022 แสดงให้เห็นว่า ในปี 2563 ผู้ย้ายถิ่นทั่วโลกมีจำนวนทั้งหมด 281 ล้านคน หรือคิดเป็น 3.6% ของจำนวนประชากรโลก เป็นเพศชาย 146 ล้านคน และเป็นเพศหญิง 135 ล้านคน ในจำนวนผู้ย้ายถิ่น มีจำนวนแรงงานข้ามชาติอยู่ประมาณ 169 ล้านคน หรือคิดเป็นเกือบ 5% ของกำลังแรงงานทั่วโลก (World Migration Report, 2022)

 

หากพิจารณาเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ (กัมพูชา ไทย บรูไน เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย) จะพบว่า แรงงานข้ามชาติที่มีถิ่นกำเนิดในอาเซียนคิดเป็น 8% ของแรงงานข้ามชาติทั่วโลก

ประเทศที่เป็นต้นทางหลักในการย้ายถิ่นคือ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และ เมียนมา ในขณะที่จุดหมายปลายทางในการย้ายถิ่นมายังอาเซียนคิดเป็น 4% ของแรงงานข้ามชาติทั่วโลก ซึ่งประเทศที่เป็นปลายทางหลักในการย้ายถิ่นคือ ไทย และ มาเลเซีย

โดยแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่มีการศึกษาน้อย และทำอาชีพที่ใช้ทักษะตํ่ากว่าประชากรในประเทศปลายทางของการย้ายถิ่น (ASEAN Migration Outlook, 2022; World Migration Report, 2022)

 

 

การย้ายถิ่นของแรงงานภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

 

ข้อมูลจาก World Migration Report 2022 แสดงให้เห็นว่าในปี 2563 ผู้ย้ายถิ่นทั้งหมดที่เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมีประมาณ 3.5 ล้านคน ซึ่งสูงติดอันดับที่ 16 ของโลก หรือคิดเป็น 5.1% ของประชากรไทย

ในขณะที่คนไทยที่ย้ายถิ่นไปอาศัยอยู่ในประเทศอื่นมีทั้งหมดประมาณ 1 ล้านคนเท่านั้น และหากพิจารณาทีละคู่ประเทศ ว่าผู้ย้ายถิ่นสัญชาติใดนิยมย้ายถิ่นไปประเทศใดมากที่สุด จะพบว่า ผู้ย้ายถิ่นฐานชาวเมียนมา ย้ายมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยมากที่สุด รวมประมาณ 2 ล้านคน ซึ่งสูงติดอันดับที่ 15 ของโลกในปี 2563 (World Migration Report, 2022)

กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานได้เก็บข้อมูลสถิติแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง สถิติในปี 2557 แสดงให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย มีจำนวนทั้งสิ้น 1,339,834 คน และเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าตัวเป็น 3,005,376 คน ในปี 2562 (ปีก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19)

และลดลงเล็กน้อยในช่วงการแพร่ระบาด เป็น 2,512,328 คน ในปี 2563 และ 2,350,677 คน ในปี 2564 และตัวเลขก็กลับมาสูงขึ้นแตะระดับเดิมที่ประมาณ 3 ล้านคน อีกครั้งในปี 2565

และล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2566 จำนวนแรงงานข้ามชาติที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 2,605,231 คน แม้ว่าตัวเลขเหมือนจะลดลงจากปีที่แล้ว

แต่จำนวนนี้ยังไม่รวมแรงงานข้ามชาติอีกประมาณ 1 ล้านคน ที่อยู่ระหว่างการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 ดังนั้น หากรวมแรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้ด้วย รวมจะมีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยประมาณ 3.6 ล้านคน (สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว, 2566) 

จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในเดือนพฤษภาคม 2566 ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 40 ล้านคน ดังนั้น แรงงานข้ามชาติจำนวน 3.6 ล้านคนนั้นจะคิดเป็นประมาณ 9% ของแรงงานไทยเลยทีเดียว (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2566)

โดยแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติหลักคือ เมียนมา คิดเป็น 66% กัมพูชา คิดเป็น 15% และ ลาว คิดเป็น 9%

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีแรงงานข้ามชาติมาก ที่สุด ได้แก่ ภาคการผลิต การก่อสร้าง เกษตรกรรม และ ภาคบริการ โดย 3 จังหวัดที่มีจำนวนแรงงานข้ามชาติทำงานอยู่สูงสุดคือ กรุงเทพมหานคร กว่า 6 แสนคน จังหวัดสมุทรสาคร 2.3 แสนคน และ ตามมาด้วยสมุทรปราการ 1.9 แสนคน (สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว, 2566)

ตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่ลดลงสะท้อนให้เห็นว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการย้ายถิ่นของแรงงานเป็นอย่างมาก เนื่องจากในช่วงการแพร่ระบาด ประเทศส่วนใหญ่มีมาตรการล็อคดาวน์ และจำกัดการเดินทาง

ผลพวงที่ตามมาคือ เมื่อไม่มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ธุรกิจก็ขาดรายได้ และจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายหรือปิดตัวลง ส่งผลให้แรงงานถูกเลิกจ้าง ซึ่งแรงงานกลุ่มแรกๆ ที่ถูกเลิกจ้างคือแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะแรงงานในภาคการเกษตร การประมง การก่อสร้าง และ ภาคการผลิต ที่พึ่งพาแรงงานเป็นหลัก

แรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีจำนวนไม่น้อย ที่เดินทางข้ามพรมแดนด้วยวิธีไม่ปกติ และไม่มีเอกสารอนุญาตทำงานที่ถูกต้อง

เมื่อถูกเลิกจ้างอย่างกะทันหัน และ ไม่สามารถหางานใหม่ได้ แรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งเลือกที่จะเดินทางกลับบ้านเกิด

อย่างไรก็ดี ด้วยข้อจำกัดด้านการเดินทาง ค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับบ้านก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งแรงงานบางส่วนยังไม่ได้รับค่าจ้างที่ค้างชำระ สูญเสียรายได้ ไม่มีเงินส่งให้ครอบครัว ก่อให้เกิดปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง

และสำหรับแรงงานข้ามชาติที่เลือกจะไม่เดินทางกลับบ้านและอาศัยอยู่ในประเทศไทยต่อ แรงงานกลุ่มนี้ก็กลายเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่มีโอกาสติดเชื้อได้ง่าย เนื่องจากสภาพแวดล้อมในการทำงานและที่อยู่อาศัยที่แออัด ไม่สามารถเว้นระยะห่าง ไม่มีพื้นที่กักตัว ตลอดจนไม่มีทรัพยากรในการป้องกันโรคที่เพียงพอ

ซึ่งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2564 การติดเชื้อในประเทศไทยอย่างน้อย 14% เกิดขึ้นในหมู่แรงงานข้ามชาติจากประเทศกัมพูชา ลาว และ เมียนมา โดย ณ ขณะนั้น อัตราการติดเชื้อของแรงงานข้ามชาติสูงกว่าคนไทยถึงสามเท่า (24 ต่อ 1,000 คน เปรียบเทียบกับ 7 ต่อ 1,000 คน ตามลำดับ)

และการติดเชื้อของแรงงานข้ามชาติในตลาดขายส่งอาหารทะเล ในจังหวัดสมุทรสาคร ก็ทำให้เกิดการติดเชื้อระลอกที่สองครั้งใหญ่ในที่สุด (ASEAN Migration Outlook, 2022)

ข้อมูลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour  Organization: ILO) ชี้ให้เห็นว่า แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ได้รับความช่วยเหลือ (หรือได้รับอย่างจำกัด) จากนโยบายเกี่ยวกับการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด 19

เช่น การได้รับเงินอุดหนุน สวัสดิการการว่างงานบริการทางการแพทย์ หรือมาตรการคุ้มครองทางสังคมต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาด้านการแสวงประโยชน์ในหมู่แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง รวมถึงปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์อีกด้วย (ASEAN Migration Outlook, 2022)

ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติได้เต็มที่ เนื่องจากข้อมูลที่มีอยู่จำกัด และอาจไม่เป็นปัจจุบัน เช่น ข้อมูลที่ใช้ระบุตัวตน สถานที่ทำงานและที่อยู่อาศัย สถานการณ์การจ้างงานและการย้ายถิ่น รวมถึงข้อมูลสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารอนุญาตทำงานที่ถูกต้องและหลีกเลี่ยงการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งยิ่งเป็นอุปสรรคและทำให้การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติเป็นไปได้ยากยิ่งขึ้น 

บทเรียนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาลแต่ละประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องจัดทำแผนรองรับภาวะฉุกเฉินที่คล้ายกันในอนาคต

ตัวอย่างเช่น ในด้านงบประมาณในการดูแลทั้งประชากรในประเทศ และแรงงานข้ามชาติ นโยบายในการเดินทางข้ามพรมแดน ตลอดจนความคุ้มครองและความช่วยเหลือทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสาธารณสุข

ไม่ว่าจะเป็นในกรณีประเทศต้นทาง ที่ต้องส่งตัวแรงงานกลับบ้านเกิด หรือ ประเทศปลายทางที่ต้องรอรับแรงงานที่เดินทางกลับมา เตรียมการประเมินผลกระทบ และมีมาตรการรองรับให้แรงงานสามารถกลับคืนสู่สังคมได้ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศและในระดับภูมิภาคด้วย

นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องสร้างระบบการจัดเก็บข้อมูลแรงงานที่ทันสมัย เพื่อรวบรวม ประมวลผล และแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยทำให้กระบวนการบริหารจัดการแรงงานของรัฐมีประสิทธิภาพ รวดเร็วมากขึ้น และสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของแรงงานได้

 

แหล่งข้อมูล 

 

ASEAN Migration Outlook. (2022). https://asean.org/book/asean-migration- outlook/

 

World Migration Report. (2022). https://publications.iom.int/books/world-migration-report-2022

 

สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2566). http://statbbi.nso.go.th/staticreport/page/sector/th/ 02.aspx

 

สำนักบริหารแรงงานตางด้าว. (2566). https://www.doe.go.th/prd/alien/statistic/param/ site/152/cat/82/sub/0/pull/category/view/list-label