แรงจูงใจภาษีและการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติในอาเซียน

06 มี.ค. 2566 | 06:41 น.

แรงจูงใจภาษีและการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติในอาเซียน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย รศ.ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,868 หน้า 5 วันที่ 9 - 11 มีนาคม 2566

สิทธิประโยชน์ภาษีเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่รัฐบาลประเทศกำลังพัฒนาใช้ในการดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ อย่างไรก็ตามในห้วงเวลาหลังวิกฤตโควิด-19 นโยบายสิทธิประโยชน์ภาษี เพื่อการลงทุนจะได้รับแรงกดดันเป็น อย่างมาก เนื่องจากสาเหตุอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ 1) การเร่งตัวของภาระการคลัง และ 2) การบังคับใช้ Global minimum tax rate ที่ 15% ตามข้อตกลงภาษีโลก 

 

แรงจูงใจภาษีและการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติในอาเซียน

 

 

แรงกดดันนี้ส่งผลให้รัฐบาลประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยต้องให้ความสำคัญต่อความคุ้มค่าของสิทธิประโยชน์ภาษีเพื่อการลงทุนของตน ในบทความนี้ผมสรุปข้อค้นพบสำคัญจากงานวิจัยซึ่งศึกษาบทบาทของภาษีต่อการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนของบริษัทข้ามชาติ (Multinational Enterprises: MNEs) ผ่านการใช้ข้อมูล MNEs ที่เข้ามาลงทุนใน 5 ประเทศอาเซียน (ASEAN5: อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม) โดยงานวิจัยนี้ได้รับการเผยแพร่ในวารสารวิชาการในช่วงปลายปี 2022

 

 

งานวิจัยพบว่าบริษัทข้ามชาติให้ความสำคัญต่อปัจจัยภาษีอย่างมีนัย สำคัญ โดยผู้วิจัยได้ศึกษาการตัดสินใจเลือกประเทศลงทุนของ MNEs โดยพิจารณาทั้งภาษีและปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนด้วย เช่น ขนาดเศรษฐกิจ คุณภาพโครงสร้างพื้นฐาน และระดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ ซึ่งผู้วิจัยพบว่าภาษีมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของ MNE ทั้งในเชิงสถิติและเชิงเศรษฐศาสตร์ โดยการเพิ่มขึ้นของอัตราภาษี 1% จะส่งผลให้ความน่าจะเป็นของการเลือกประเทศนั้นๆ ลดลง 0.85% โดยเฉลี่ย ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนที่มีการแข่งขันภาษีระหว่างกันค่อนข้างรุนแรงนั้น งานศึกษาพบว่าชี้ว่ารัฐบาลไทยต้องพบกับแรงกดดันที่สำคัญ โดยหากรัฐบาลไทยยกเลิกสิทธิประโยชน์ภาษี Tax holiday เพียงประเทศเดียว ส่วนแบ่งนักลงทุนต่างชาติใน ASEAN5 ที่เลือกประเทศไทยจะลดลงประมาณ 8% (รูปที่ 1)

 

 

แรงจูงใจภาษีและการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติในอาเซียน

 

 

 

อย่างไรก็ตามคำถามสำคัญของเรื่องนี้คือนักลงทุนประเภทต่างๆ ให้ความสำคัญต่อสิทธิประโยชน์ภาษีแตกต่างกันอย่างไร งานวิจัยนี้พบว่าความสำคัญของภาษีต่อการตัดสินใจลงทุนนั้นมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนสำหรับบริษัทข้ามชาติแต่ละประเภท ทั้งในมิติของโครงสร้างกลุ่มบริษัท องค์ประกอบของสินทรัพย์ และกลุ่มธุรกิจ 

 

 

ตัวอย่างของข้อค้นพบหนึ่งที่สำคัญคือในด้านของความเข้มข้นของเทคโนโลยี โดยผู้วิจัยได้แบ่งบริษัทข้ามชาติเป็นกลุ่ม High-tech และ Low-tech ซึ่งกลุ่ม High-tech คิดเป็นสัดส่วน 24% ของบริษัทที่เข้ามาลงทุนทั้งหมดใน ASEAN5 ตัวอย่างเช่น คอมพิวเตอร์อิเล็กทรอนิกส์ บริการพัฒนาซอฟแวร์ เทเลคอมมิวนิเคชั่น 

 

งานศึกษาพบว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นมีความสำคัญไม่มากนักต่อการตัดสินใจลงทุนของบริษัทในกลุ่ม
High tech โดยในกลุ่ม High-tech นี้ ปัจจัยภาษีไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ และยังมีขนาดความสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกประเทศตํ่ามากเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัท Low-tech ซึ่งผู้วิจัยพบว่าบริษัท High-tech ได้ให้ความสำคัญต่อปัจจัยด้านความยากง่ายในการทำธุรกิจ ความต่อเนื่องของนโยบาย และคุณภาพของกฎระเบียบต่างๆ มากกว่าปัจจัยด้านภาษีอย่างชัดเจน

 

 

แรงจูงใจภาษีและการตัดสินใจลงทุนของบริษัทข้ามชาติในอาเซียน

 

 

ห้วงเวลาปัจจุบันถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญของการวางนโยบายสิทธิประโยชน์ภาษีเพื่อการลงทุน รัฐบาลไทยต้องเผชิญแรงกดดันอย่างมากทั้งจากการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะ การพยายามถีบตัวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง รวมไปถึงการกำหนด Global minimum tax rate จากข้อตกลงภาษีระหว่างประเทศ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อค้นพบเชิงประจักษ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการวางนโยบายได้บ้างครับ

 

อ้างอิง

Muthitacharoen, A. (2022). Location choice and tax responsiveness of foreign multinationals: Evidence from ASEAN countries. The Singapore Economic Review, 1-26.