การดูแลผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรกที่บ้าน

21 มิ.ย. 2567 | 22:10 น.
อัพเดตล่าสุด :22 มิ.ย. 2567 | 17:33 น.

การดูแลผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรกที่บ้าน คอลัมน์ชีวิตบั้นปลายของชายชรา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

เมื่อหลายวันก่อน ลูกชายคนที่สองของผมได้เล่าให้ผมฟังว่า เขามีเพื่อนรักคนหนึ่ง คุณพ่อของเพื่อนคนดังกล่าว ประสบปัญหามีอาการเส้นเลือดในสมองแตก(สโตรก)กะทันหัน แต่โชคดีที่สามารถนำส่งโรงพยาบาลได้ทันเวลา ปัจุบันนี้เขาต้องดูแลคุณพ่อของเขาอยู่  ลูกชายผมบอกว่าน่าเห็นใจเพื่อนคนนี้มาก เพราะเขาเป็นคนดีมากเลย ผมจึงถามไปว่า ทำไมไม่บอกให้เพื่อนพาคุณพ่อเขามาให้เราดูแลให้ละ? ลูกชายบอกว่าได้เสนอไปแล้ว แต่เขาไม่ยอมรับการช่วยเหลือ คงจะเป็นเพราะคิดว่าค่าใช้จ่ายสูง และเขาจะรับไม่ไหว 

ผมก็บอกไปว่าให้บอกเพื่อนว่าอย่าคิดมาก เราสามารถดูแลแทนเขาได้ แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ยอมรับอยู่ดี และเขาขอเพียงคำแนะนำจากเราว่า เขาควรจะดูแลคุณพ่อเขาอย่างไรเท่านั้นก็เพียงพอแล้ว วันนี้ผมเลยนำวิธีการดูแลผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรกหรือโรคเส้นเลือดในสมองมาเล่าให้ฟัง เผื่อว่าสามารถจะช่วยเขาได้ไม่มากก็น้อยนะครับ 

อาการสโตรก หรือที่เรียกว่าโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือบางรายอาจจะเป็นมากถึงขั้นเส้นเลือดในสมองแตก เป็นภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อการไหลเวียนของเลือดไปยังสมองถูกขัดขวาง จนทำให้สมองขาดออกซิเจนและสารอาหารที่จำเป็น ส่งผลทำให้เซลล์สมองตาย ผู้สูงวัยเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการสโตรก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่มากขึ้น เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคหัวใจ การดูแลรักษาผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรกที่บ้าน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นอาการนี้ ฟื้นตัวได้ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นครับ
          
วิธีการประเมินอาการของโรค เพื่อจัดการกับอาการสโตรกในเบื้องต้นนั้น การรับรู้เพื่อสนองตอบต่ออาการสโตรกอย่างรวดเร็วเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้ามีอาการบ่งบอกว่าจะเป็นอาการสโตรก ควรหมั่นสังเกตดูสัญญาณเตือนของสโตรก เช่น อาการชาครึ่งซีกของร่างกาย พูดไม่ชัด เห็นภาพซ้อน และอาการเวียนศีรษะ หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบขอความช่วยเหลือทางการแพทย์ทันที ไม่ควรรอช้าให้พลัดตกหกล้มก่อนค่อยรู้ว่าเกิดอาการ หรือถ้าหากถึงขั้นพลัดตกหกล้มแล้ว จะต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลภายในเวลารวดเร็ว อย่าให้เกินกว่าสามชั่วโมง หรืออย่าให้เกินกว่า Golden Time หลังจากที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลและสามารถกลับบ้านได้แล้ว การดูแลผู้สูงวัยที่บ้านเป็นขั้นตอนถัดไปครับ
 

ก่อนอื่นควรมีการปรับสภาพแวดล้อมที่บ้าน ให้เหมาะสมกับการฟื้นตัวของผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรกเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ควรจัดห้องนอนและห้องน้ำให้อยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงได้ง่าย ลดการเดินขึ้นลงบันได ควรติดตั้งราวจับในห้องน้ำและบริเวณทางเดิน ให้เป็นลักษณะของ Universal Design  เพื่อป้องกันการลื่นล้ม จัดวางเฟอร์นิเจอร์ให้เหมาะสม เพื่อให้ผู้สูงวัยที่ป่วยสามารถเคลื่อนไหวได้สะดวก 
        
จากนั้นควรจะมีการดูแลด้วยการทำกายภาพบำบัด ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการฟื้นฟูสมรรถภาพทางร่างกายของผู้ป่วยสโตรก ควรมีนักกายภาพบำบัดมาเยี่ยมที่บ้าน หรือถ้าไม่มีจริงๆ ลูกหลานก็ควรฝึกหัดด้วยตนเอง และเรียนรู้วิธีการทำกายภาพบำบัดเบื้องต้นอย่างง่ายๆ หรือถ้าทำไม่ได้จริงๆ คราวนี้ก็ต้องส่งไปสถานพยาบาลที่มีนักกายภาพเป็นครั้งคราว ตามแต่สภาพของผู้ป่วยละครับ ส่วนจะทำกายภาพอย่างไรละ ในเมื่อลูกหลานบอกว่าไม่มีความรู้เลย ก็ลองเปิดดูใน YouTube ดูก็ได้ แล้วเลือกก็ทำท่าออกกำลังกายที่ไม่ยากและเหมาะสมกับอาการของผู้ป่วย เช่น การยืดกล้ามเนื้อ การฝึกความสมดุล และการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เป็นต้นครับ 
        
เรื่องต่อมาคือการฟื้นฟูทางการพูดและการกลืนอาหาร เพราะผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรก มักจะมีปัญหาเรื่องการพูดและการกลืนอาหาร ควรมีนักกายภาพบำบัดทางการพูดมาเยี่ยมบ้าง เพื่อช่วยในการฝึกพูดและปรับปรุงการกลืนอาหาร ทุกครั้งที่มีนักกายภาพดังกล่าวมา ลูกหลานหรือผู้ดูแล ก็ควรเรียนรู้เทคนิคการฝึกพูดและการกลืนอาหารเบื้องต้นสำหรับผู้สูงวัย เช่น การออกเสียงคำง่าย ๆ และการเคี้ยวอาหารอย่างช้า ๆ เพื่อป้องกันการสำลัก เป็นต้นครับ
         
อีกเรื่องที่สำคัญมากๆ คือ การดูแลด้านโภชนาการสำหรับผู้ป่วยสโตรก ควรขอให้มีนักโภชนาการจริงๆ เป็นผู้มาให้ความรู้เรื่องอาหารการกินของผู้สูงวัยที่ป่วยเป็นสโตรก  เพราะตัวเราเองไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระโดยเด็ดขาด ผู้ป่วยจะหายจากอาการไปได้ อาหารคือปัจจัยสำคัญอันดับต้น ๆ เลยละครับ การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ ธัญพืช เนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน และปลาที่มีไขมันดี หรือควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง และอาหารที่มีโซเดียมมากเกินไป เนื่องจากอาจทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดสโตรกซ้ำ เรื่องเหล่านี้ถ้าเราไม่มีความรู้เลย จะทำให้ผู้สูงวัยหายไปจากโลกนี้ได้ง่าย ๆ เลยครับ 
         
อีกเรื่องหนึ่งที่สถานบ้านพักคนวัยเกษียณ “คัยโกเฮาส์” ของผม ได้พบเจอบ่อย ๆ คือปัญหาทางด้านจิตใจของผู้สูงวัย ส่วนใหญ่ผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรก มักจะประสบปัญหาทางจิตวิทยา เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า การให้การดูแลทางด้านจิตวิทยาและอารมณ์ความรู้สึกของผู้สูงวัย และการพูดคุยด้วยความรักจากใจเป็นสิ่งสำคัญมากๆ  

ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรให้ความรักและกำลังใจ รวมถึงส่งเสริมให้ผู้สูงวัยที่มีอาการสโตรก ทำกิจกรรมที่ช่วยเพิ่มความสุข เช่น การฟังเพลง การอ่านหนังสือ การร้องเพลง หรือการทำงานศิลปะ หากจำเป็นจริงๆ หรือผู้สูงวัยที่ป่วยมีอาการรุนแรงมากๆ  ก็ควรขอคำปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ เพื่อช่วยในการจัดการปัญหาทางจิตวิทยา เป็นครั้งคราวด้วยก็จะดีนะครับ 
      
สิ่งหนึ่งที่จะต้องบอกคือ ผู้สูงวัยทุกคน ไม่มีใครอยากที่จะเป็นโรคเส้นเลือดในสมองหรอกครับ ทุกคนล้วนอยากจะมีสุขภาพที่ดี แต่บางครั้งการใช้ชีวิตในยามวัยรุ่น หรือในยามร่างกายแข็งแรง เขาอาจจะใช้ชีวิตที่สิ้นเปลืองไปหน่อย แต่พอแก่ตัวมา ก็ไม่สามารถย้อนเวลาได้แล้ว เรียกว่าสายเกินแก้นั่นแหละครับ คราวนี้เมื่อแก่ตัวลง พอเริ่มมีอาการดังกล่าว ลูกหลานหรือผู้ดูแลก็ต้องรับภาระกันต่อไปครับ เพราะถึงอย่างไรผู้สูงวัยเหล่านั้น ก็คือพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายของเรา ก็ต้องดูแลกันไปครับ