เว้นภาษีประชุม-สัมมนา ล้วงกำลังซื้อจากธุรกิจ

16 ก.ค. 2565 | 00:40 น.

คอลัมน์ทางออกนอกตำรา โดย...บากบั่น บุญเลิศ

ระยะ 3 ปีเศษ นับตั้งแต่ปี 2562 ธุรกิจโรงแรมการท่องเที่ยว และงานสัมมนา ที่เป็นการสร้างกำลังซื้อหลักในประเทศที่มีต้นทุนต่ำที่สุด แต่ก่อให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจที่กระจายตัวออกไปในวงกว้างมากที่สุด นับตั้งแต่แรงงาน ภาคบริการ ธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจประกัน ภาคการขนส่ง ภาคการเกษตร กระจายเม็ดเงินการบริโภคของภาคครัวเรือน หมวดอาหารสด และเครื่องดื่ม ได้หดตัวลงเกือบ 100% 
 

อันเป็นผลพวงจากมาตรการ Lockdown ทั่วประเทศ และกำลังซื้อที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งมีการปิดกิจการและเลิกจ้างงานอย่างต่อเนื่อง
 

แม้รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ ผ่านแคมเปญ “เราเที่ยวด้วยกัน” ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2563 แต่ไม่ได้ทำให้ธุรกิจโรงแรม บริการ การท่องเที่ยวกระเตื้องขึ้นมาอยู่ในระดับเดิมเท่าใด
 

บรรดาสถานประกอบการโรงแรม ที่พัก สัมมนา ในประเทศไทย ต่างตกอยู่ในภาวะชะงักงันมายาวนาน
 

ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมประสบปัญหาซบเซาอย่างหนักตามภาวะการท่องเที่ยวโลก จากการติดตามผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในหมวดที่พักแรมและบริการด้านอาหารที่เคยมีมูลค่า 6.35 แสนล้านบาท ลดลงในปี 2562-2563 ราว 40%  พอถึงปี 2564 ลดลงราว 60-70%
 

นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยมาประเทศไทยหดตัว 83.2% จากปี 2562 อันผลจากมาตรการ Lockdown ทั่วโลก เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้การเดินทางระหว่างประเทศหยุดชะงัก ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยมีจำนวนที่น้อยมาก
 

ขณะที่ตลาดนักท่องเที่ยวคนไทย ที่เคยเดินทางท่องเที่ยวในประเทศลดลงมาอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่ปี 2562 อัตราการเที่ยวที่เคยสูงถึงปีละ 90.5 ล้านทริป กลับลดลงมาเกือบ 100% จากการ Lockdown การปิดกิจการ และการเลิกจ้างงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
 

ความซบเซาจากวิกฤติของโรคร้าย ทำใหธุรกิจที่เกี่ยวพันกับโรงงแรม สัมมนา ประชุม อีเว้นต์สลบกันไปหมด
 

ผมติดตามธุรกิจนตลาดนี้พบว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 จะเกิดขึ้น มูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดจากค่าใช้จ่ายจากการจัดงานไมซ์ในไทยมีมเดเงินอยู่ราว 559,840 ล้านบาท 


เป็นตลาด “งานแสดงสินค้า” มาเป็นอันดับ 1 สัดส่วน 54.95% รองลงมา ตลาดงานสัมมนา 18.41% ตลาดงานประชุม 16.07% และ งานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัลอีก 10.57% เกิดการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม 818,176 อัตรา 
 

ขณะที่ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้จากการจัดงานไมซ์ ประชุม สัมมนามากถึง 39,130 ล้านบาท
 

ธุรกิจนี้มาเริ่มฟื้นตัวเอาในช่วงปี 2564 การจัดงานไมซ์ในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ เริ่มส่งผลให้มีรายได้จากการใช้จ่าย 33,230 ล้านบาท เป็นรายได้จากการจัดงานแสดงสินค้า 31,131 ล้านบาท ตามมาด้วยรายได้จากงานสัมมนา 4.04% งานท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล 1.17% และงานจัดประชุม 1.10%
 

ตลอดทั้งปีสามารถสร้างการจ้างงานขึ้นมาได้ราว 46,718 ตำแหน่ง เพิ่มรายได้ภาษีให้แก่ภาครัฐ 2,089 ล้านบาท
  

“ทน อึด ปรับแผนการทำธุรกิจเท่านั้น” ที่จะรักษาชีวิตเท่านั้นที่ทำให้ธุรกิจนี้อยู่ได้ ขณะที่ “มาตรการโกดังพักหนี้” ก็ไม่ได้ช่วยให้ผู้ประกอบการลืมตาอ้าปากมีผู้เข้าร่วมไม่ถึง 100 ราย หากนับจากโรงแรมและผู้ประกอบการสัมมนาในประเทศที่มีอยู่ร่วม 6,400 ราย 
 

จนถึงปัจจุบันบรรดาแรงงานที่เกี่ยวพันกับโรงแรม สถานบริการ และธุรกิจที่เกี่ยวกันกับการท่องเที่ยวที่มีอยู่ราว 3.5 ล้านคน หวนกลับมาสู่ธุรกิจนี้ได้ไม่ถึง  1 ล้านคน
 

วงจรธุรกิจนี้จึงแต่ “ทน ทน ทน” มิใช่ “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” จากนั้นก็ “รู้จักรัดเข็มขัด รักษาตัว เก็บอาการ กลืนเลือด”
 

12 กรกฎาคม 2565 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 เท่า เพื่อสนับสนุนการจัดสัมมนา นิทรรศการ งานแสดงสินค้า ภายในประเทศ ซึ่งผมเห็นว่าดีมาก เพราะถือเป็นการกู้ชีพ บรรดาผู้ประกอบการในธุรกิจโรงแรม ศูนย์แสดงสินค้าในประเทศ
 

มาตรการนี้มีสาระสำคัญคือ กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจภายในประเทศ และสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานด้านการท่องเที่ยว อีกทั้งสนับสนุนการบริโภคและส่งเสริมการจ้างงาน
 

โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือ บรรดา บริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถหักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เพื่อการอบรมสัมมนาที่จ่ายไป นับตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565
 

สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะได้รับมี 3 ลักษณะ
 

ลักษณะแรกได้รับสิทธิ หักภาษีได้ 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด โดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
 

ลักษณะที่สอง ได้รับสิทธิหักภาษีได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่น 
 

ลักษณะที่สาม ได้รับสิทธิ์ว่า ในกรณีที่การจัดอบรมสัมมนาครั้งหนึ่ง ๆ เกิดขึ้นในท้องที่ตามข้อ 1.1) และข้อ 1.2) ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดตามข้อ 1.1) หรือข้อ 1.2) แล้วแต่กรณี และให้หักรายจ่ายที่ไม่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใดได้ 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
 

ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
 

ผลของมติดังกล่าว ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ จากภาษีเงินได้นิติบุคคลแค่ 334 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจำนวน 1,700 ราย คิดเป็นจำนวนเงินราว 1,670 ล้านบาท
 

มาตรการที่สองที่ ครม.มีมติคือ มาตรการให้สิธประโยชน์ทางภาษี เพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการ งานแสดงสินค้าภายในประเทศเพื่อสนับสนุนการจ้างงาน โดยให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หักรายจ่ายค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงานออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าภายในประเทศ ที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ได้ 2 เท่าของรายจ่ายที่จ่ายจริง 
 

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด แต่ต้องมีหนังสือรับรองจากผู้จัดงานว่าได้เข้าร่วมจัดงานจริง
 

ผลของมติดังกล่าว รัฐบาลจะสูญเสียรายได้ จากภาษีเงินได้นิติบุคคล 121 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 6,050 บูธ คิดเป็นจำนวนเงิน 605 ล้านบาท
 

การศึกไม่หน่ายในเล่ห์กลฉันใด ในยามที่ผู้คนในสังคมอับเฉา สิ้นหวัง รัฐบาลที่ดีมีหน้าที่ในการเข้าไปสอดแก้หน้าเพื่อทำให้ปวงประชาไม่อับเฉาในความหวัง
 

มาตรการโครงการคนละครึ่ง เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายแก่ประชาชน 31 ล้านคน ให้เข้ามาร่วมจ่าย ซื้อของเท่าไหร่ จ่ายจริงแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งรัฐสนับสนุนไม่เกิน 150 บาท/คน/วัน หรือวันละ 300 บาท ก่อให้เกิดกำลังซื้อกระจายออกไปในวงกว้างมากเท่าใด
 

การอัดฉีดเงินโดยตรงของรัฐบาลผ่าน “โครงการเราไม่ทิ้งกัน-เราชนะ-เยียวยากลุ่มเกษตรกร” กว่า 40 ล้านราย ด้วยเม็ดเงินก้อนโตกว่า 660,000 ล้านบาท เพื่อเติมกำลังซื้อใส่มือประชาชน ในยามที่พวกเขาเหล่านั้นขาดรายได้มาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน จำเป็นฉันใด
 

มาตรการลดหย่อนภาษี เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว การล่อใจให้เกิดการกระจายเม็ดเงินออกไปในหลากหลายรูปแบบ ในลักษณะของการสร้างแรงจูงใจในช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องกระทำ และต้องทำให้เป็นรูปธรรม โดยเริ่มจากราชการ รัฐวิสาหกิจก่อน
 

และไม่ควรจำกัดวงแคบในการใช้มาตรการภาษีเพื่อจูงใจให้ผู้ที่มีกำลังซื้อควักเงินออกมาหมุนใช้ไปก่อน แล้วนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีได้ทีหลังเฉพาะการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ต้องกระจายออกไปในทุกรูปแบบ เพื่อดึงเงินในกระเป๋า ประชาชนมาร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยกัน!