6 เดือน 14 ประเทศ กับบทบาท“เซลส์แมนประเทศ” คนไทยได้อะไร

15 มี.ค. 2567 | 22:23 น.

6 เดือน 14 ประเทศ กับบทบาท“เซลส์แมนประเทศ” คนไทยได้อะไร บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3975

ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กับการเดินสายทัวร์ต่างประเทศ ของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ผู้ประกาศตัวเป็น “เซลส์แมนประเทศไทย” ด้วยการเดินทางเยือนต่างประเทศมาแล้วถึง 14 ประเทศในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566
 
ถือเป็นนายกรัฐมนตรีที่เดินสายเยือนต่างประเทศมากที่สุด โดยประเทศที่เดินทางไปเยือนแล้วคือ สหรัฐอเมริกา (2 ครั้ง), กัมพูชา, ฮ่องกงและจีน, บรูไน, มาเลเซีย, สิงคโปร์, ซาอุดีอาระเบีย, สปป.ลาว, ญี่ปุ่น, สมาพันธรัฐสวิส, ศรีลังกา, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส และล่าสุด เยอรมนี
 

ภายใต้บทบาทการเป็น “เซลส์แมนประเทศไทย” นั้น นายเศรษฐา ได้ชูนโยบายหลักในการขับเคลื่อนคือ  การเดินหน้าผลักดันโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) 10,000 บาท ภายใต้วงเงินรวม 5.6 แสนล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าโครงการนี้เป็นเป็นตัวจุดชนวนให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น มีเม็ดเงินลงระบบและหมุนเวียนในประชาชนระดับฐานราก
 
อีกโครงการที่สำคัญคือ การเดินสายขายโครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) หรือ สะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน มูลค่า 1 ล้านล้านบาท ให้กับนักลงทุนต่างชาติ ด้วยความคาดหวังว่า โครงการนี้จะมีบทบาทสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย สร้างอาชีพ สร้างรายได้ พัฒนาพื้นที่อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
 

ท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัวช้ากว่าประเทศใดๆ ในโลกหลังวิกฤตโควิด-19 หรือ แทบจะเรียกว่าช้าที่สุดในโลกก็ว่าได้ แถมเป็นการฟื้นตัวที่ไม่กระจาย เพราะกระจุกในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เท่านั้น ขณะที่ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ยังอยู่ในภาวะยากลำบาก ท่ามกลางระดับหนี้ครัวเรือนที่ทรงตัวสูง
 
แม้นายกรัฐมนตรีเคยให้สัมภาษณ์ว่า “การเดินทางไปต่างประเทศถือเป็นการแก้วิกฤตอย่างหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเซ็นสัญญา FTA การดึงนักลงทุนไทยไปลงทุนในประเทศที่ในอดีตไม่มี รวมถึงดึงต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนมากขึ้น ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในประเทศ 
 
สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ยังไม่มีผลออกมาเป็นรูปธรรม เพราะตัวเลขที่จะสะท้อนการดึงเม็ดเงินลงทุนของต่างชาติอย่าง เงินลงทุนโดยตรงของต่างชาติ หรือ FDI ก็ยังไม่ออกมา ส่วน FTA แม้จะมีการลงนามในรัฐบาลนี้ แต่ก็เป็นผลจากการเจรจาในอดีต ที่จะเกิดผลจากการเดินสายทัวร์ก็ยังต้องรอ ไม่ว่าจะเป็น FTA ไทยกับ สหรัฐอาหรับเอมิเรต์ (UAE) ไทย-สหภาพยุไรป (EU) ไทย-เอฟต้า 
 
รูปธรรมที่เกิดขึ้น จากการทำงานด้านต่างประเทศของ “รัฐบาลเศรษฐา” คือ การท่องเที่ยว และแขกต่างประเทศที่มาเยือนไทย ที่จะมีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้น