นับถอยหลัง... ภาษีแบรนด์เนม (ใหม่)

02 ธ.ค. 2566 | 07:26 น.

นับถอยหลัง... ภาษีแบรนด์เนม (ใหม่) บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3945

หลังจากที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักการมาตรการส่งเสริมประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ
 
ประเด็นหลักที่สร้างความฮือฮา เห็นจะหนีไม่พ้น การปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิต และภาษีประเภทอื่น รวมทั้งปรับปรุงกฎหมาย และ ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวเพื่อให้สินค้าและบริการบางประเภท มีราคาที่สามารถจูงใจในการบริโภคของนักท่องเที่ยว เมื่อเทียบเคียงกับประเทศอื่นที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยว ตลอดจนสามารถทำให้ค่าใช้จ่ายท่องเที่ยวต่อหัวของนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกับบริบทของประเทศและนโยบายภาครัฐ
 
แนวทางการปรับปรุงโครงสร้างและอัตราภาษีสรรพสามิตฯ ที่น่าจับตามองคือ การลดยกเว้นภาษีดังกล่าวให้แก่ซัพพลายเออร์ (supplier) ที่เป็นผู้นำเข้าสินค้าต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมซื้อ ในระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทย เช่น พวกสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เครื่องสำอาง นํ้าหอม กระเป๋า หรือซัพพลายเออร์ ที่เป็นผู้นำเข้าหรือ ผลิตสินค้าในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิต (อาทิ สุรา ยาสูบ ไพ่) เพื่อให้สามารถลดราคาสินค้าดังกล่าวให้มีราคาถูกลง ซึ่งจะช่วยดึงดูดให้ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซื้อสินค้าต่างๆ ในประเทศไทยมากขึ้น

จะว่าไปแล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่รัฐบาลเพิ่งปิ๊งไอเดีย เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ภาคเอกชนโดยเฉพาะห้างค้าปลีกชั้นนำต่างผลักดัน ให้รัฐปรับลดภาษีสินค้าลักชัวรี หรือ แบรนด์เนม ด้วยมุ่งหวังให้ประเทศไทยเป็น “Shopping Destination” หรือ “Tourist Destination” เทียบชั้นสิงคโปร์ และฮ่องกง
 
แน่นอนว่าราคาแบรนด์เนมทั่วโลกไม่แตกต่างกัน ไม่ว่าคุณจะซื้อที่ ฝรั่งเศส อิตาลี สหรัฐ ฯลฯ แต่ภาษีแต่ละประเทศไม่เท่ากัน ราคาขายย่อมแตกต่างกันไปด้วย
 
แม้วันนี้ราคาขายสินค้าแบรนด์เนมไทยจะสูง แต่พบว่า ในช่วง 1-2 ปี หลังโควิดคลี่คลาย จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับมารวมถึงนักท่องเที่ยวไทยเอง ที่ไม่สามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ ก็หันมาซื้อสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น จนทำให้ร้านสาขาแบรนด์เนมในประเทศไทย โดยเฉพาะที่ตั้งในไอคอนสยาม และ สยามพารากอน ทำยอดขายติดอันดับ Top 10 ของโลก 

นั่นแสดงให้เห็นว่า นอกจากชื่อแบรนด์ การมีคอลเลคชันใหม่ล่าสุด การบริการที่ครบครัน เสน่ห์ของ “ยิ้มสยาม” ยังดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เสมอ
 
หากปรับลดภาษีลงได้ ยอดขายจะระเบิดระเบ้อ แค่ไหน งานนี้อย่ามองว่า ซัพพลายเออร์ผู้นำเข้าจะได้เพียงฝ่ายเดียว เพราะหากซัพพลายเออร์ได้ก็ต้องเสียภาษีเงินได้ ภาษีนิติบุคคลอยู่ดี
 
การจะดึงให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยววัดไหว้พระ ทานอาหารสตรีทฟู้ด พักลองสเตย์ เที่ยวธรรมชาติ คงไม่เพียงพอที่จะดึงเงินในกระเป๋านักท่องเที่ยวเหล่านี้ โดยเฉพาะกลุ่ม FIT การลดภาษีสินค้าลักชัวรี จึงเป็นทางเลือกหนึ่ง เพราะนอกจากจะช่วยดึงให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกมาช้อปปิ้งที่ไทยได้ ยังเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการค้า ให้เห็นถึงความเป็น World-class Shopping Destination เพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศไทยในการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้
 
โดยเฉพาะชั่วโมงนี้ ที่แบรนด์เนมทั่วโลกอยากเข้ามาปักหมุดในไทย เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้ประกอบการไทย และพิสูจน์ให้เห็นแล้วจากผลงานที่ผ่านมา
 
ส่วนอัตราภาษีใหม่จะเป็นอย่างไร เริ่มมีผลเมื่อไร นับถอยหลังรอเลย...