นางพญาตานี กับกรณีเจ้าเเม่ลิ้มกอเหนี่ยว

30 มี.ค. 2567 | 05:39 น.

นางพญาตานี กับกรณีเจ้าเเม่ลิ้มกอเหนี่ยว คอลัมน์ Cat out of the box โดย พีรภัทร์ เกียรติภิญโญ

อีทีนี้ก็จะขอเล่าเลยไปถึงเรื่องเมืองปัตตานี ซึ่งแต่ก่อนกาลนานมาเป็นอาณาจักรโบราณเก่าแก่ มีลักษณะสังคมประสมประเสไปทั้งในทางมุสลิมอยู่ร่วมกับพุทธคริสต์และพราหมณ์ โดยมีความนับถือในผีบรรพชนแทรกอยู่ทุกอณูอากาศ
 
นานมาแล้วเจ้าเมืองหรือเจ้านครมีความเป็นอิสระเอกเทศ ประสงค์จะทำการยุทโธปกรณ์ให้ทันสมัย ก็ให้บังเอิญว่ามีเรือสำเภาจากเมืองจีนล่องมาผู้มีวิทยาคุณในเรือลำนั้นนามกรว่า ลิ้มโต๊ะเคี่ยม เปนชาวจีนแซ่ลิ้ม ท่านเป็นผู้มีความสามารถในด้านงานหล่อโลหะ เจ้าเมืองอาศัยไหว้วานแกมบีบบังคับเชิงวัดความสามารถ ท่านลิ้มโต๊ะเคี่ยมนายช่างวิศวกรโลหะวิทยา ก็สามารถใช้โลหะทองเหลืองและอะไรต่างๆประสมกันหล่อปืนใหญ่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดให้กับสุลต่าน (สุลต่านน่า) เจ้าเมืองปัตตานีได้สำเร็จ


 
 

ลือกันว่าในแผ่นดินแหลมสุวรรณภูมิที่พวกเราอยู่กันนี้ไม่มีปืนใหญ่ปืนไหนจะมีขนาดใหญ่ได้มากไปกว่าปืนใหญ่นางพญาตานีฝีมือลิ้มโต๊ะเคี่ยม งานหล่อปืนใหญ่และเครื่องทองเหลืองโลหะเช่นว่านี้ไม่ใช่งานง่ายเลย หากจะได้ศึกษาในกรณีชาวบ้านบางระจันนั้น ปืนใหญ่ที่หล่อมาใช้เวลาไม่นานก็แตกระเบิดพังเสียหาย ข้างในพม่าเองมีวิทยาการดีกว่าเรา หล่อระฆังได้หล่อปืนใหญ่ได้มีขนาดใหญ่โต ว่ากันว่าเป็นฝีมือชาวอาร์เมเนียนในยุโรป ในยุโรปตะวันออกติดสอยห้อยตามกองทัพพวกโปรตุเกสมา มีฝีมือและวิทยาการทางการหล่อโลหะสูง ทุกวันนี้ในเขตช่องแคบมะละกาฝีมือการหล่อโลหะของชาวอาร์เมเนียนยังปรากฏอยู่ตามซุ้มประตูและรั้วโลหะต่างๆเป็นการทั่วไป
 
ในขณะที่ปืนใหญ่บางระจันหล่อเอง แตกแล้วแตกอีกเนื่องเพราะโลหะมีความล้า ความแห้งแม้ละลายลงแล้วก็ไม่ยอมเชื่อมประสานกัน เสด็จพระองค์ชายใหญ่ ก็ทรงเคยประสพเหตุเหรียญโลหะที่ทรงสร้างถวายท่านอาจารย์นำ  วัดดอนศาลา ทรงประสมโลหะจากศาตรวุธโบราณต่างๆและของมีค่าลงไป โลหะก็ไม่จับตัวกัน พอตอกเปนเหรียญแล้วร้าวราน ต้องเริ่มพิธีประสานเนื้อโลหะใช้เทคโนโลยีเก่าๆกันใหม่ มีคำในวงการพระใช้กันว่าโลหะเก่านั้นหมดยาง เลยหาทางประสานกันมิได้


 

กลับมาที่ปัตตานี สุลต่านปัตตานีเจ้าเมืองตอบแทนความดีความชอบของท่านลิ้มโต๊ะเคี่ยมโดยการยกเจ้าหญิงลูกสาวให้เป็นภรรยา ทำให้ท่านลิ้มโต๊ะเคี่ยมของเราตกอยู่ในสถานะราชบุตรเขย และได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้าวิศวะกรคุมงานก่อสร้างสถาปัตยกรรมต่างๆในเขตเมืองปัตตานีเป็นการทั่วไป หนึ่งในนั้นคือมัสยิดกรือเซะ อันงดงามลือชื่อ
 
อยู่มาวันหนึ่งมารดาของท่านลิ้มโต๊ะเคี่ยมที่เมืองจีนล้มป่วยลง น้องสาวของท่านลิ้มโต๊ะเคี่ยมชื่อลิ้มกอเหนี่ยว เห็นว่าเวลาของมารดาเหลือน้อยแล้ว มอบหมายผู้คนให้เฝ้าพยาบาลคุณแม่ ข้างตัวเองลงเรือสำเภารอนแรมมาเพื่อตามหาพี่ชายซึ่งได้ข่าวครั้งสุดท้ายว่ามาอยู่แถวเมืองปัตตานี ครั้นล่องเรือมาถึงนครปัตตานีแล้วได้พบพี่ชายที่เมืองนี้จริงๆ จึงติดตามถามไถ่บอกข่าวทางบ้าน หวังใจให้พี่ชายซึ่งในทางความเปนคนจีนนั้นถือว่าเปนบุตรสืบสกุล มีสถานะสูงส่งกว่าน้องสาว ได้กลับไปดูใจมารดาแสดงความคารวะกตัญญุตาเปนครั้งสุดท้าย ฝ่ายพี่ชายได้ข่าวก็โศกศัลย์อาลัยหวลไห้ถึงมารดา


 
แต่ถึงเวลาได้สติแล้ว ก็อธิบายแก่น้องสาวว่าบัดนี้ พี่ได้เข้ารีตกับสุลต่านปัตตานีท่านไปเรียบร้อยแล้ว มีภารกิจโดยตรงต่อพระผู้เปนจ้าวในการร่วมกันสร้างมัสยิดให้สำเร็จ ไม่อาจจะพาตัวกลับไปดินแดนบ้านเกิดได้ ลิ้มกอเหนี่ยวน้องสาว มีความสงสัยในอุราแรงกล้า ด้วยเหตุว่าปรัชญาความกตัญญูซึ่งฝ่ายจีนปลูกฝังให้มีต่อบรรพชนนั้นแลดูพี่ชายคลายใจลงไปจากการนี้ หลังมาอยู่ในคาบสมุทรมลายูเสียมาก ได้ทำการอ้อนวอน ขอร้อง กราบกราน หลายครั้งหลายคราวให้พี่ชายเห็นแก่คุณมารดา พี่ชายก็พยายามอธิบายว่าติดเหตุจำเป็นต้องเร่งงานก่อสร้างศาสนสถานให้ลุล่วงโดยเร็ว และไม่ใช่ภารกิจธรรมดาเปนภารกิจโดยตรงต่อท่านเจ้าของศาสนา ที่ตนเองได้ย้ายมาเปนศาสนิกสาวกเสียแล้ว
 
ลิ้มกอเหนี่ยวหมดหนทางจะเกลี้ยกล่อมพี่ชาย ท่านจึงตั้งสัตยาบันเอาชีวิตตนเองเป็นเดิมพัน ขอกระทำสัจจะอธิษฐานขีดเส้นตาย ว่าหากแม้นถึงกำหนดนี้แล้วไซร้พี่ชายไม่เปลี่ยนใจกลับบ้านหาแม่ก็จะยอมผูกคอตายให้ถึงลือ ว่าหนึ่งชีวิตของแม่เปลี่ยนใจไม่ได้ก็ให้เป็นทั้งสองชีวิตของแม่และน้องจะมีน้ำหนักมากพอให้พี่ชายเปลี่ยนใจหรือไม่หรือเปล่า
 
แต่แล้วด้วยเหตุความเชื่อความนับถือที่แตกต่างกันโศกนาฏกรรมก็บังเกิด ถึงกำหนดแล้วลิ้มกอเหนี่ยวผูกคอตายใต้ต้นมะม่วงหิมพานต์หน้ามัสยิดที่พี่ชายราชบุตรเขยเปนวิศวกรหัวหน้างานก่อสร้าง!


 
ในน่าสลดของโศกนาฏกรรมอันนี้ มีบุคคลผู้หูดี ได้ยินว่า ท่านผู้ตายได้เปล่งวาจาทำนองว่าหากแม้นความกตัญญูมีอยู่จริง และการแทนคุณบิดามารดาเปนข้อธรรมะที่มีอยู่จริงแล้ว ภารกิจอันใดที่พี่ชายได้อ้างแล้วเกิดขัดต่อหลักข้อธรรมะถึงความกตัญญูนี้ ก็ขอให้สิ่งถาวรวัตถุ ที่มีภารกิจต้องสร้าง อย่าได้สำเร็จเปนถาวรสภาพต่อไปเลย จงประจักษ์ให้เหลือร้างค้างคา อย่าให้สร้างสำเร็จลงได้ เกิดเปนเสมือนคำกำหนดบทปรับตามกำลังจิตท่านผู้กล่าวมาตลอดหลายร้อยปีจนบัดนี้
 
และแล้วพหุสังคมฝ่ายจีน ก็ดำเนินการสร้างสุสานฮวงซุ้ยให้กับวีรสตรีผู้กล้านามว่าลิ้มกอเหนี่ยวผู้นี้ อยู่ที่บริเวณข้างจุดก่อสร้างของพี่ชาย พร้อมทั้งสถาปนายกฐานะให้ขึ้นเปนเจ้าแม่ ในแบบเดียวที่พหุสังคมฝ่ายพม่ายกสถานะท่านผู้ตายโดยเหตุโศกสลด/กล้าหาญขึ้นเปน ‘นัต’ หรือ นาถะ ที่แปลว่าที่พึ่งอย่างเจ้าแม่เจ้าพ่อ
 
ดวงจิตของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวก็สถิตอยู่ ณ ที่บริเวณนั้น มีความสามารถติดต่อกับบุคคลที่มีตาที่สามในยุคต่างๆเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของผู้คนทุกข์ร้อนในสังคมมาเป็นเวลาร้อยๆปี


 
ที่นี้ก็จะมาถึงมีประเด็นว่า ตกลงแล้วศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวนั้นอยู่ที่ไหนกันแน่?
 
ศาลเจ้ากลางเมืองปัตตานีที่ซึ่งพระหมอ หรือท่านปรมาจารย์แห่งอารามน้ำใสสถิตย์อยู่ตามที่ ท่านเจ้าเมืองปัตตานีในยุครัตนโกสินทร์สร้างให้นามว่าเล่งจูเกียง ที่ถนนอาห์เนาะรู เปนศาลเดียวกันกับเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวหรือเปล่า?
 
เรื่องราวก็ยังมีอีกชุดข้อมูลหนึ่งดังต่อไปนี้ ในยุคสมัยที่การอนามัยและการสาธารณสุขยังไม่แพร่หลายสาธารณูปโภคด้านการรักษาความปลอดภัยด้านสุขภาพให้กับชีวิตมนุษย์มีอยู่จำนวนจำกัด โรงพยาบาลไม่มี ที่มีก็ห่างไกลแพทย์มีจำนวนน้อยและหายากการพึ่งพาตนเองในการรักษาอาการเจ็บป่วยก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้คนแห่งยุคสมัย
 
ครั้งหนึ่งท่านปรมาจารย์แห่งอารามน้ำใสลงทรงเพื่อบอกยารักษาโรค แก่ผู้ป่วยทีละรายๆ จนมาถึงกรณีบุคคลสำคัญผู้หนึ่ง ท่านว่าอาการนี้ร้ายนักมีเร้นอยู่ทั้งอาการฝ่ายกายภาคและจิตภาคลึกลับจักสำเร็จได้ต้องให้ไปอัญเชิญดวงวิญญาณของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนียวที่สุสานต้นมะม่วงหิมพานต์มาลงทรงอธิบาย ช่วยเหลือ
 
ข้างฝ่ายคนมนุษย์ก็ดำเนินการตามข้อแนะนำของท่านพระหมอ แนวทางการแก้ไขผู้ป่วยมีความชัดเจนขึ้นด้วยสองผู้ศักดิ์สิทธิ์ร่วมมือกันแก้ไขแก้ไข้
 
ในเวลาไม่นานจึงขออัญเชิญดวงจิตของเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวมาประดิษฐานที่ศาลเจ้าเล่งจูเกียงอีกองค์หนึ่ง โดยกล่าวกันว่า องค์พระหมอที่อยู่มาแต่เดิมนั้นท่านเปนองค์ประธานศาลเจ้า ส่วนเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวอาจใช้นามของท่านเรียกขานชื่อศาลแทนคำว่าเล่งจูเกียงก็ได้
 
ส่วนสุสานหรือฮวงซุ้ยของท่านที่อยู่ห่างไปผู้คนเชื้อสายจีนทั้งจากปลายด้ามขวานยังนิยมไปเซ่นสรวงกราบไหว้ เผาเครื่องทรงถวายท่านอยู่
 
ส่วนปืนใหญ่สมัยลิ้มโต๊ะเคี่ยม เมื่อขั้วอำนาจเปลี่ยนแปลงไปรัตนโกสินทร์ได้ชัยชนะเหนือรัฐปัตตานีก็ได้นำขึ้นมาไว้ที่กรุงเทพพระมหานคร พร้อมกับปืนใหญ่กระบอกอื่นๆที่ได้มาจากทั่วสารทิศ จะเห็นได้ว่ามีขนาดใหญ่กว่าปืนใหญ่ใดใดทั้งหมดบนลานสนามปืนใหญ่หน้าศาลาว่าการกลาโหม


 
ทั้งหมดนี้ก็เปนตำนานมุขปาฐะที่บอกเล่าขานกันในพหุสังคมปลายด้ามขวาน ซึ่งอาจตรงบ้างไม่ตรงบ้างตามแต่ประวัติศาสตร์จะชำระ จังหวะก็โชคดีได้ไปพบรูปภาพของจิตรกรสำคัญคือท่านอาจารย์เหม เวชกร วาดไว้ซึ่งรูปปืนใหญ่นางพญาตานี มีลายเซ็นกำกับที่มุมล่างขวา เรื่องปืนใหญ่นี้นายตำรา ณ เมืองใต้ท่านได้เขียนอรรถาธิบายเอาไว้อีกกระแสหนึ่งว่า ยุคปี 2200 ปัตตานี มีเจ้าเมือง เปนสตรี (สุลต่านน่า) ได้ลิ้มโต๊ะเคี่ยมทำหล่อปืนใหญ่ได้มากถึงสามกระบอก ปืนใหญ่สำเร็จไป ๒ กระบอก กระบอกที่สามเทไม่ลง จะทำพิธีเซ่นไหว้บวงสรวงอย่างไรก็ไม่ลง คือทองไม่แล่นเต็มทั้งกระบอก ในที่สุด ลิ้มโต๊ะเคี่ยมก็ตั้งสัตย์ปฏิญาณว่า ขอให้เทสำเร็จจะถวายชีวิต พอกล่าวคำอธิษฐานดังนั้น ก็เทได้สำเร็จบริบูรณ์ ถึงเวลาทดลองยิง ยิงกระบอกที่หนึ่งที่สองแล้ว ถึงกระบอกที่สามท่านลิ้มหไปยืนตรงปากกระบอกปืน พอจุดชนวนปีนลั่น ตูมม แรงดินดำก็หอบพาตัวท่านปลิวหายไปจากโลกย์ ปืนทั้งสามกระบอกนั้นกระบอกหนึ่งชื่อ นางพญาตานี สองชื่อ ศรีนัครี สามชื่อ มหาหล่าหลอ
 
ลุเข้ายุครัชกาลพระพุทธยอดฟ้าฯ พม่ายกกองทัพใหญ่มาหลายทาง เพื่อตีหัวเมืองฝ่ายเหนือ ตีกรุงเทพมหานคร และตีหัวเมืองปักษ์ใต้นั้น กองทัพไทยตีพม่าทางเหนือ และทางพระนครแตกไปแล้ว 
 
กรมพระราชวังบวร ฯ ก็ยกกองทัพลงไปทางใต้ พม่าล่าทัพหนีไปหมด ทรงส่งกองทัพไปตีหัวเมืองแขกมลายู ที่เคยเป็นเมืองขึ้นมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ซึ่งมีใบบอกไปแล้วว่าสยามกลับเปนปรกติแล้วให้เข้ามาสวามิภักดิ์ ก็แข็งเมืองอยู่ ครั้น ทรงตีได้เมืองตานี หัวเมืองแขกอื่น ๆ  เช่น ไทรบุรี กลันตัน ตรังกานู ก็มาอ่อนน้อม ทำให้อาณาเขตของไทยทางปักษ์ใต้แผ่กว้างออกไปอีกมาก งานนี้ทรงตัดทางอาวุธยุทโธปกรณ์ ให้ลำเลียงปืนใหญ่ นางพญาตานีขึ้นมา ขนาดกระบอกยาว ๓ วา ๓ ศอกคืบปากลำกล้อง ๑๑ นิ้ว น้ำหนักดินดำที่จะบรรจุ ๑๕ ชั่ง นับเปนปืนใหญ่ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย
 
จากนั้นทรงให้หล่อปืนใหญ่ “นารายณ์สังหาร” กระบอกหนึ่งไว้คู่กับปืนพญาตานี กับหล่ออีก ๖ กระบอก เปนบริวาร ชื่อ มารประลัย ไหวอรรณพ พิรุณแสนห่า พลิกพสุธาหงาย พระอิศวรปราบจักรวาล และพระกาฬผลาญโลก