เฮือกสุดท้ายทุเรียนไทยในจีน (1)

15 ก.พ. 2567 | 05:16 น.

เฮือกสุดท้ายทุเรียนไทยในจีน (1) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3966

ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผมมีโอกาสไปพูดแลกเปลี่ยนมุมมองความคิดเห็นในหัวข้อ “เฮือกสุดท้ายทุเรียนไทยในจีน” ในงาน Fruit Innovation Fair 2024 ที่จัดขึ้นอย่างสร้างสรรค์โดยหอการค้าจันทบุรี ณ จังหวัดจันทบุรี วันนี้ผมจึงอยากจะขอชวนคุยเรื่องนี้กัน ... 

ผมขอเริ่มทำความเข้าใจจากภาพใหญ่ก่อน จีนนับว่าเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีผลไม้โลก ในด้านอุปทาน จีนเป็นผู้ผลิตผลไม้สดและแปรรูปรายใหญ่สุดของภูมิภาค จีนยังครองตำแหน่งแชมป์โลกผู้เพาะปลูกผลไม้หลายชนิด อาทิ แอปเปิ้ล และ ส้ม 

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ จีนมีสัดส่วนการค้าผลไม้คิดเป็นราว 10% ของมูลค่าการค้าผลไม้โดยรวมของโลก ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างต่ำเมือเทียบกับปริมาณผลิตผลไม้ และจำนวนประชากรที่มีอยู่ เหตุเป็นเพราะผลไม้ที่ผลิตขึ้นส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการบริโภคภายในประเทศซะเกือบหมด

แต่ถึงกระนั้น จีนก็ยังเป็นผู้ส่งออกผลไม้รายสำคัญของโลก และ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีหลัง โดย แอปเปิ้ล ลูกพลับ มะนาว ส้มโอ เกรพฟรุ๊ต และ พีช เป็นผลไม้ส่งออกหลักของจีน

ในทางกลับกัน จีนก็เป็นตลาดนำเข้าผลไม้รายใหญ่ของโลก การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวจีนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

สิ่งนี้สะท้อนว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคชาวจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลไม้นำเข้าไม่ได้มีราคาแพงในความรู้สึกของคนจีนดังเช่นในอดีต กอปรกับการขยายตัวของชุมชนเมือง และกระแสห่วงใยสุขภาพในยุคหลังโควิด ส่งผลให้ชาวจีนบริโภคผลไม้มากขึ้น ทั้งในเชิงปริมาณ และ คุณภาพ 

การนำเข้าผลไม้ที่มีคุณภาพ รสชาติแตกต่าง ภาพลักษณ์ดี และ มีคุณประโยชน์ต่อสุขภาพเพิ่มขึ้น ผนวกกับความหลากหลายของช่องทางที่เพิ่มความสะดวกในการซื้อหา จึงกลายเป็น “ทางเลือก” ที่ดี และมีขนาดตลาดใหญ่ขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทุเรียน เชอร์รี กล้วย มังคุด และ มะพร้าว

ทุเรียนสามารถครอง “แชมป์” ผลไม้นำเข้าจีนไว้ได้อย่างโดดเด่นในช่วงหลายปีหลัง ยิ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ยอดการส่งออกทุเรียนของไทยสู่ตลาดจีนพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ 

ส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตกับหน่วยงานภาครัฐที่ “ประสาน” ระดับนโยบาย และ “ลงลึก” ระดับปฏิบัติ ทั้งในด้านการผลิต ลอจิสติกส์ และ การตลาด รวมทั้งความร่วมมือจากเกษตรกรและผู้มีส่วนได้เสีย จนทำให้ใบหน้าของชาวสวนทุเรียน และผู้คนในวงการทุเรียนเปื้อนไปด้วยรอยยิ้ม 

แต่ผ่านไปไม่นาน ก็เริ่มมีข่าวการเปิดตลาดทุเรียนของรัฐบาลจีนแก่ประเทศเพื่อนบ้าน จนทำให้สัดส่วนทางการตลาดของทุเรียนไทยในจีนลดฮวบลง อันนำไปสู่คำถามว่า แล้วอนาคตของทุเรียนไทยจะอยู่ตรงไหน? 

ประเด็นแรกที่น่าสนใจก็คือ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทุเรียนไทยครองตลาดทุเรียนจีนมาโดยตลอด แถมเมื่ออุปสงค์ทุเรียนในช่วงวิกฤติโควิดขยายตัวแรง ราคานำเข้าทุเรียนยังมีแนวโน้มขยายตัว

ในปี 2023 จีนนำเข้าทุเรียนโดยรวมทะลุหลัก 1.4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 6,700 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เหนือความคาดหมายของหลายฝ่าย

โดยในจำนวนนี้ ทุเรียนไทยมีสัดส่วนทางการตลาดราว 65% สิ่งนี้ไม่เพียงทำให้จีนเป็นตลาดส่งออกทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดของไทยเท่านั้น แต่ทุเรียนเกือบทั้งหมดที่ไทยส่งออกในปีที่ผ่านมา ถูกส่งไปป้อนตลาดจีนอีกด้วย 

                      เฮือกสุดท้ายทุเรียนไทยในจีน (1)

อย่างไรก็ดี ภายหลังการเข้ามาของคู่แข่งขันรายใหม่อย่างเวียดนาม สัดส่วนทางการตลาดของทุเรียนไทย ก็ลดลงอย่างมากจากที่อยู่ในระดับ 95% ของปีก่อน 

นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวของราคาและปริมาณนำเข้าทุเรียนไทย ในปี 2023 ยังเริ่มปรับสู่ระดับที่ใกล้เคียงกัน ยิ่งเมื่อผสมโรงกับแนวนโยบายการ “เปิดกว้าง” ตลาดทุเรียนของรัฐบาลจีนแก่ประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียน ก็คาดว่าระดับการแข่งขันในตลาดทุเรียนของจีนจะเพิ่มขึ้นในอนาคต 

อย่างไรก็ดี แม้สัดส่วนการตลาดของทุเรียนไทยในจีนจะลดลง แต่ปริมาณการส่งออกทุเรียนของไทยเข้าสู่ตลาดจีน ยังคงเพิ่มขึ้น 18.5% ของปีก่อน นั่นสะท้อนว่า ตลาดทุเรียนจีนเติบโตในอัตราที่สูงมาก เมื่อเทียบกับของปีที่ผ่านมา

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจสะท้อนว่า ราคาทุเรียนไทยได้ขยับใกล้ถึงจุดสูงสุดในวัฏจักรธุรกิจรอบนี้แล้ว นั่นหมายความว่า หากเราไม่ทำอะไรกับทุเรียนไทย ในมิติเชิงคุณภาพได้อย่างเหมาะสม ทุเรียนไทยอาจประสบปัญหามากมายตามมา 

อาทิ การขยายตัวของปริมาณและมูลค่าการส่งออก ที่เติบโตในอัตราที่ลดลง ซึ่งจะนำไปสู่การสูญเสียสัดส่วนทางการตลาดในจีนมากขึ้น หรือ หากอัตราการขยายตัวของการส่งออกในเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นเร็วกว่าในเชิงมูลค่า ไทยยิ่งส่งออกมาก ก็ยิ่งได้ราคาต่อหน่วยที่ต่ำลง 

นั่นเท่ากับว่า ไทยมิอาจสร้างมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมส่งออกทุเรียนต่อเศรษฐกิจไทยได้มากเท่าที่ควร มูลค่าการส่งออกทุเรียนของไทยในตลาดจีน ก็อาจถดถอยลงตามมา ทั้งที่คนจีนมีฐานะและใช้เงินจับจ่ายใช้สอยซื้อหาผลไม้ต่างชาติมากขึ้น

เมื่อเวลาผ่านไป การขยับราคาส่งออกให้กลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง อาจเป็นเรื่องยาก ขณะที่การรักษาสถานะความยั่งยืนเอาไว้ได้ในอนาคต ก็อาจจะกลายเป็นงานยากระดับ “การเข็นครกขึ้นภูเขา” อย่างแท้จริง

คำถามสำคัญ นอกจากความท้าทายจาก “คู่แข่งขัน” ที่กดดันทุเรียนไทยแล้ว ตลาดจีนยังมีปัจจัยเชิงบวกอยู่หรือไม่  
ผมประเมินว่า จีนยังมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพ เศรษฐกิจจีนจะเติบโตราว 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ควบคู่ไปกับการเพิ่มขึ้นจำนวน “คนชั้นกลาง” ในระยะยาว 

คนชั้นกลางของจีนที่ถือเป็นตลาดเป้าหมายหลักของทุเรียนไทย ในปัจจุบัน ก็ยังแยกเป็น 2 ส่วนที่ “ชอบและไม่ชอบ” กลิ่นทุเรียน ซึ่งเป็นโจทยใหญ่สำหรับการขยายฐานลูกค้า 

ขณะเดียวกัน แม้ว่าการค้าออนไลน์ในจีน ได้เติบโตเป็นอย่างมากในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่คนจีนจำนวนมากก็ยังไม่รู้จัก หรือ เคยลิ้มลองทุเรียนเสียด้วยซ้ำ ความต้องการทุเรียนของตลาดจีน จึงยังจำกัดอยู่ในบางกลุ่มเป้าหมายและกระจุกตัวอยู่ในบางภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางตอนใต้ของจีน 

แถมทุเรียนจากประเทศเพื่อนบ้าน ก็เข้าไปแข่งขันและทำการตลาดในจีนมากขึ้นโดยลำดับ

ในด้านหนึ่ง อุปสงค์ทุเรียนมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็สะท้อนว่า ตลาดทุเรียนจีนแฝงไว้ซึ่งศักยภาพที่สามารถเติบโตได้อีกมากในอนาคต

แต่ตลาดดังกล่าวจะเป็นของไทยสักเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการแข่งขันของไทย ในเชิงเปรียบเทียบกับทุเรียนและผลไม้อื่นของจีน และของต่างชาติในอนาคต 
คำถามที่สำคัญมากยิ่งกว่าก็คือ ไทยเราควรทำอะไรบ้างในเฮือกสุดท้าย เราจะไปคุยกันต่อตอนหน้า ...