อัปเดตสถานการณ์คอร์รัปชันไทย

22 ก.พ. 2566 | 05:06 น.

อัปเดตสถานการณ์คอร์รัปชันไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,864 หน้า 5 วันที่ 23 - 25 กุมภาพันธ์ 2566

หลังจากที่องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International ได้ประกาศผลคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันหรือ Corruption Perceptions Index (CPI) ไปเมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ที่ระบุว่าประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน เพิ่มขึ้น 1 คะแนนจากปีที่แล้ว และขยับลำดับขึ้นมาจากลำดับที่ 110 ในปีที่แล้วมาเป็นลำดับที่ 101 จาก 180 ประเทศและเขตปกครองทั่วโลก หลายองค์กรที่ทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชันก็ออกมายินดี และแสดงความโล่งอกที่คะแนนดีขึ้น

สวนทางกับสังคมที่ออกมาตั้งคำถามว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะดูจากข่าวต่างๆ ในปีที่ผ่านมาแล้ว ไม่เห็นมีทีท่าว่าสถานการณ์คอร์รัปชันจะดีขึ้นได้เลย บทความในตอนนี้จึงขอมาอัปเดตสถานการณ์คอร์รัปชันไทยแบบมีหลักการกันหน่อยนะครับ

 

 

 

เริ่มจากประเด็นแรกเลยว่า “ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันนี้คืออะไร เชื่อถือได้หรือไม่ และคะแนนที่เพิ่ม มา 1 คะแนนนั้นมันบอกอะไรเราได้บ้าง” ดัชนีนี้จัดทำโดยองค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศเยอรมนีและมีสำนักงานสาขาท้องถิ่นอยู่ทั่วโลก ประเทศไทยเองก็เคยมี แต่ปัจจุบันไม่ได้มีการดำเนินการใดๆ แล้ว ดังนั้นในแง่ของผู้จัดทำดัชนี ก็เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ได้รับความยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกมาพอสมควรเลยครับ

คำถามต่อมาคือ “ตัวเลข 36 คะแนนนี้ เขาเอามาจากไหน” ตอบเร็วๆ คือ เอามาจากหลายๆ ดัชนีที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันมารวมแล้วคำนวณเฉลี่ยกันครับ จน CPI นี้ ได้รับมอบชื่อเล่นจากวงการวิชาการว่า โพลแห่งโพล (Poll of Polls) เลยทีเดียว

 

นั่นคือ TI เขาไม่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสำรวจผลเอง แต่เขาไปเอาคะแนนจากอีก 13 ดัชนีย่อยที่เกี่ยวข้อง เช่น Bertelsmann Foundation Transformation Index (BTI) ที่ไปถามความเห็นจากคนในประเทศนั้นๆ ว่า รัฐมีประสิทธิภาพในการจัดการปัญหาคอร์รัปชันดีแค่ไหน

Global Insight Country Risk Rating (GI) ที่ไปถามนักลงทุนชาติต่างๆ จากการประเมินความเสี่ยงว่าจะต้องจ่ายสินบน เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินงานทางเอกสาร หรือการได้มาซึ่งผลประโยชน์ในไทยมากน้อยแค่ไหน

IMD World Competitiveness Yearbook ที่สอบถามนักธุรกิจจากทั่วโลกว่ายังต้องจ่ายสินบนหรือถูกเรียกร้องผลประโยชน์ เพื่อการลงทุนในประเทศไทยบ้างหรือเปล่า ไปจนถึง Varieties of Democracy Project (V-DEM) ที่สำรวจมุมมองของนักวิชาการ นักธุรกิจ และนักวิเคราะห์จากทั่วโลกต่อสถานการณ์คอร์รัปชันในภาคส่วนต่างๆ ของไทย ทั้งการคอร์รัปชันในภาครัฐ การ คอร์รัปชันของฝ่ายนิติบัญญัติ การคอร์รัปชันของผู้บริหารระดับสูง และการคอร์รัปชันของฝ่ายตุลาการ

 

อัปเดตสถานการณ์คอร์รัปชันไทย

 

 

สำหรับประเทศไทย TI รวบรวมดัชนีย่อยต่างๆ ที่วัดผลประเทศไทยเป็นประจำได้ถึง 9 จาก 13 ดัชนีย่อยทั้งหมดแล้วนำมาคำนวณเฉลี่ยเป็นตัวเลขกลมๆ ตัวเดียวนั่นก็คือ 36 คะแนนในปีล่าสุดนี้ ดังนั้นก็ถือได้ว่าเป็นคะแนนที่มีความครอบคลุมมากพอสมควรเลยทีเดียว ทั้งในแง่กลุ่มประชากรและการตีความหมายคอร์รัปชัน

สรุปได้ว่า ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันนี้ จัดทำโดยองค์กรที่มีความน่าเชื่อถือและตัวเลขคะแนนที่ได้ก็น่าเชื่อถือด้วยเช่นกัน ทีนี้คำถามสำคัญต่อมาก็คือ แล้วการที่ไทยได้รับ 36 คะแนน ซึ่งดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 คะแนนนี่มันบอกอะไรเราได้บ้าง “วันนี้เราควรดีใจแล้วหรือยัง”

คำตอบคือ ยังครับ ประการแรกเลยคือ การที่เราได้คะแนน 36 คะแนนจากคะแนนเต็ม 100 ต่อให้ดีขึ้นจากปีที่แล้วจริง ก็ไม่ควรจะดีใจไปครับ ถ้าเปรียบเทียบกับคะแนนสอบในการเรียนก็น่าจะถือว่าสอบตกอยู่ เพราะถ้าตัดเกรดตามเกณฑ์ก็ยังได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่ง หรือ ถ้าตัดเกรดตามกลุ่ม ก็ยังอยู่ในกลุ่มท้ายๆ ตาราง แถมยังน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยทั่วโลกที่อยู่ที่ 43 คะแนนอีก ดังนั้น 1 คะแนนที่ได้เพิ่มขึ้นมา ซึ่งน้อยมากๆ จึงแทบจะไม่ได้บ่งบอกการพัฒนาระดับคอร์รัปชันของไทยเลยครับ

ประการที่สอง คือ ความเที่ยงตรงของดัชนี ซึ่งมาจากลักษณะของดัชนีนี้เอง เนื่องจากชื่อของดัชนีก็บอกอยู่แล้วว่า เป็นดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ดังนั้น มันบอกได้แค่ภาพรวมกว้างๆ เท่านั้น ซึ่งไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ที่แท้จริงอย่างเที่ยงตรงได้

เปรียบเทียบเหมือนตาชั่งนํ้าหนักสมัยก่อนที่ไม่ละเอียด ไม่เที่ยงตรงเลย ชั่งวันเดียวกันอาจจะนํ้าหนักต่างกันได้หลายกิโลกรัม บอกได้แต่เพียงว่าของสิ่งนี้เบา หนัก หรือไม่เท่ากัน เช่นนี้ ถ้าเราต้องการจะใช้เป็นเกณฑ์ในการควบคุมนํ้าหนักก็คงไม่เหมาะ เพราะบางทีทั้งควบคุมอาหารแล้ว ออกกำลังกายด้วยแล้ว แต่พอชั่งดูนํ้าหนักอาจเพิ่มขึ้นก็ได้ แต่ถ้าใช้วัดในระยะยาวๆ ที่นํ้าหนักเราน่าจะเปลี่ยนไปได้เยอะๆ แล้ว ตาชั่งนี้ก็คงจะมีประโยชน์อยู่บ้าง

ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันก็เหมือนกับตาชั่งโบราณนี้ ที่บอกได้เพียงระดับคร่าวๆ เท่านั้น เพราะบางทีเราไปถามนักลงทุนว่าเขามีมุมมองกับการคอร์รัปชันในประเทศไทยว่าอย่างไร ถ้าเขาไม่ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่จริงๆ เขาก็อาจจะอ้างอิงความรู้สึกตัวเองจากระดับในปีที่ผ่านมา แล้วบอกตัวเลขเดิมก็ได้

ทั้งที่จริงแล้ว อาจจะมีความพยายามจากภาครัฐและประชาชนในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน อย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมาก ซึ่งปัญหานี้เรียกว่า ปรากฏการณ์เสียงสะท้อน หรือ Echo Chamber Effect 

นอกจากนี้ ปัญหาก็มาจากการตีความคำว่า คอร์รัปชัน ของคนที่แตกต่างกันออกไปอีกด้วย บางคนมองว่า คอร์รัปชันคือการจ่ายสินบนเท่านั้น ในขณะที่บางคนมองว่า การช่วยเหลือพวกพ้องก็เป็นการคอร์รัปชันด้วย ทำให้คะแนนจาก 2 คนนี้ ที่มองสถานการณ์เดียวกัน อาจจะต่างกันคนละโลกได้เลย

แต่นี้ก็เป็นจุดอ่อนที่ต้องยอมรับสำหรับดัชนีที่ใช้วัดการคอร์รัปชัน เพราะจะให้ไปถามตรงๆ ว่าเคยจ่ายสินบนไหม จ่ายเท่าไร หรือวัดจากหลักฐานการคอร์รัปชันจริง ก็คงทำได้ยากพอสมควร

ดังนั้น การนำ CPI มาเป็นเกณฑ์ในแต่ละปีว่าเพิ่มหรือลดลงเท่าไร นอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้ว ยังอาจจะทำให้คนที่ทำงานท้อใจหรือตัดสินใจเปลี่ยนทิศทางการแก้ไขปัญหาอย่างไม่จำเป็นด้วย และเมื่อเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาบ่อยๆ เหมือนเปลี่ยนวิธีการคุมนํ้าหนักบ่อย ก็จะทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการปัญหาลดน้อยถอยลง

เมื่อสรุปในภาพรวมแล้ว ดัชนีนี้ที่มีความน่าเชื่อถือพอสมควรนั้น สามารถบอกระดับการคอร์รัปชันของไทยได้จริงอย่างคร่าว ๆ คะแนนที่ขึ้นมา 1 คะแนน ซึ่งแทบจะไม่ได้บ่งบอกอะไรเลย และจึงไม่ควรยินดีกับสิ่งนี้

แต่ควรเก็บไว้พิจารณาในระยะยาวว่ าระดับคอร์รัปชันไทยนั้น ยังอยู่ในระดับที่อันตราย ต้องได้รับการจัดการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ไม่อย่างนั้นก็จะกลายเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในมิติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การสาธารณสุข ปัญหาปากท้องทางเศรษฐกิจและการเมืองด้วย

“แล้วเราจะติดตาม CPI ไปทำไม เมื่อมันแทบจะไม่บอกอะไรเราเลย” จริง ๆ จะกล่าวว่า CPI ไม่บอกอะไรเราเลยก็คงด้อยค่าดัชนีนี้จนเกินไป นอกจากจะใช้มองแนวโน้มในระยะยาวอย่างที่กล่าวข้างต้นไปแล้ว เรายังสามารถดูผลดัชนีย่อยต่าง ๆ ได้ด้วย

โดยสำหรับในปีนี้ 2 ดัชนีย่อยที่ไทยได้คะแนนลดลงคือ The Political and Economic Risk Consultancy (PERC) และ World Justice Project (WJP) ซึ่งตีความได้ว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีปัญหากับเรื่องการทับซ้อนระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม (Conflict of Interests) และยังใช้อำนาจดุลยพินิจอย่างทุจริตอยู่มาก ส่งผลไปถึงกระบวนการยุติธรรมของประเทศด้วย ซึ่งดูแล้วเป็นปัญหาที่ภาครัฐและการเมืองเป็นส่วนใหญ่ 

นี่คงเป็นปลายทางสุดท้ายที่ CPI จะช่วยบ่งบอกอะไรเราได้แล้ว ซึ่งก็คงสร้างความค้างคาใจให้ผู้อ่านอยู่พอสมควรว่า เมื่อรู้แล้วว่าเป้าหมายอยู่ตรงไหนแล้ว ทำไมไม่บอกด้วยว่าต้องทำอย่างไร และนี่ก็เป็นข้อจำกัดของดัชนีนี้จริง ๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า การจะเข้าใจสถานการณ์เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง คงดูจาก CPI อย่างเดียวไม่พอ

จึงเป็นเรื่องดีที่ในความเป็นจริงแล้วดัชนีชี้วัดระดับการคอร์รัปชันนั้นมีอยู่อีกหลากหลายดัชนีมากที่มีวิธีการวัดผล การแสดงผล และแหล่งข้อมูลแตกต่างกันออกไป ดัชนีตัวหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการวิเคราะห์เชิงลึกต่อจาก CPI นั่นคือ Corruption Risk Forecast (CRF) โดยศูนย์องค์กรเอกชนนานาชาติ (Center for International Private Enterprise: CIPE) ซึ่งวิเคราะห์ข้อมูลผลการทำงานต่อต้านการคอร์รัปชันของภาครัฐและภาคประชาสังคมด้วย

ล่าสุดในปีที่ผ่านมา CRF ชี้สถานการณ์คอร์รัปชันประเทศไทยว่า ความเสี่ยงคอร์รัปชันจากภาครัฐยังคงสูง และการเปิดเผยข้อมูลโดยรัฐก็ได้คะแนนตํ่า ซึ่งสอดคล้องกับผลของ CPI

แต่ที่น่าสนใจคือ CRF บอกว่าความพยายามของภาคประชาชนและภาคประชาสังคม เช่น การที่ประชาชนชาวเน็ต (E-citizenship) มีส่วนร่วมร้องเรียนภาครัฐในเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันอย่างต่อเนื่องและไม่ท้อถอยนั้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ฉุดรั้งไม่ให้ระดับการคอร์รัปชันตกตํ่าไปมากกว่านี้ หมายความว่า การแก้ปัญหาคอร์รัปชันในไทยนั้น มีความหวังได้ และความหวังนั้นอยู่ที่ภาคประชาชนและภาคประชาสังคม

ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานรัฐจึงควรสนับสนุนภาคประชาชนและภาคประชาสังคมด้วยกระบวนการต่าง ๆ เช่น การเปิดข้อมูลสาธารณะอย่างทั่วถึง การคุ้มครองป้องกันประชาชนผู้ร้องเรียน การทำให้การร้องเรียนเรื่องคอร์รัปชันเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัย รวมถึงการให้เสรีภาพกับสื่ออย่างเต็มที่ด้วย

สุดท้าย “แล้วเราในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่รังเกียจการคอร์รัปชัน สามารถทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้สถานการณ์นี้มันดีขึ้นอย่างที่องค์กรนานาชาติบอกว่าประชาชนคือความหวัง” ในวันนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ได้มีส่วนร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาสังคมในการพัฒนาเครื่องมือต้านโกงสำหรับประชาชนอย่าง ACT Ai (www.actai.co) ที่รวบรวมข้อมูลสาธารณะต่าง ๆ มาไว้ด้วยกัน เพื่อเปิดให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างง่ายดายและต้นทุนตํ่า

ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างโครงการภาครัฐ ข้อมูลกรรมการบริษัทจำกัดทั่วประเทศ ข้อมูลทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง ข้อมูลงบประมาณองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และข้อมูลที่สำคัญของโรงเรียนทั่วประเทศ

เพื่อให้คนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นก่อนหรือคนรุ่นใหม่ สามารถเข้าถึงข้อมูลสาธารณะได้อย่างสะดวกง่ายดาย สามารถเปิดดูได้ว่า ถนนหน้าบ้านเรา ตึกข้างบ้านเรา หรือสนามกีฬาในโรงเรียนของเรา ใช้งบประมาณเท่าไรในการทำ ใครเป็นคนก่อสร้าง คนอนุมัติคือใคร มีความสัมพันธ์กันไหม ทำให้เห็นความสุ่มเสี่ยงต่อการคอร์รัปชันได้อย่างชัดเจน เพื่อส่งเรื่องร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนผ่าน LINE Chatbot ขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ได้ทันที หรือ ส่งเรื่องต่อไปที่ Social Media Pages ต่าง ๆ เช่น ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน หรือ ต้องแฉ ได้ด้วย 

ทั้งหมดนี้คือ การอัปเดตสถานการณ์คอร์รัปชันไทยล่าสุด ผ่านการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศ และการวิเคราะห์เชิงลึกภายในประเทศอย่างมีหลักการ ที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ปัญหาคอร์รัปชันในไทยยังอันตรายอยู่มาก แต่เราก็เริ่มเห็นความหวังในมือของประชาชนบ้างแล้ว ที่กำลังได้รับการสนับสนุนด้วยเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อให้การต่อต้านคอร์รัปชันสะดวก ง่ายดาย และต้นทุนตํ่า เพื่อทำลายอุปสรรคและเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีความสามารถพัฒนาได้ทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ