เศรษฐศาสตร์และการแลกเปลี่ยนอวัยวะ

26 ม.ค. 2566 | 10:18 น.

เศรษฐศาสตร์และการแลกเปลี่ยนอวัยวะ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.ปฐมวัตร จันทรศัพท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,856 หน้า 5 วันที่ 26 - 28 มกราคม 2566

เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากรเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด บทความนี้จะนำผู้อ่านให้เห็นถึงการจัดสรรทรัพยากรชนิดหนึ่ง ที่มีความสำคัญมากในสังคมนั่นคือ อวัยวะ

อวัยวะไม่เหมือนทรัพยากรชนิดอื่นที่สามารถใช้ ราคา ในการกำหนดว่าใครจะเป็นผู้ได้ทรัพยากร, ได้ไปในจำนวนเท่าไหร่เพราะถูกจำกัดด้วยประเด็นทางศีลธรรมและกฎหมายการห้ามซื้อขายอวัยวะ ยิ่งไปกว่านั้นการจัดสรรอวัยวะต้องคำนึงถึงความเข้ากันได้ของอวัยวะระหว่างผู้ให้และผู้รับ 

 

 

 

หลายคนมักจะสับสนระหว่างการบริจาคอวัยวะและการบริจาคร่างกาย การบริจาคร่างกายคือการบริจาคทั้งร่างเพื่อใช้ในการศึกษาและวิจัยทางการแพทย์ ในขณะที่การบริจาคอวัยวะคือการบริจาคอวัยวะบางส่วนเช่น ไต, ตับ, หัวใจ แก่ผู้ป่วยเพื่อการรักษาและเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น 

ในการแลกเปลี่ยนอวัยวะ อุปสงค์ของอวัยวะคือ ผู้ป่วยที่รอการผ่าตัดปลูกถ่ายอวัยวะ ในขณะที่อุปทานของอวัยวะมาจากการบริจาค จากรายงานการบริจาคอวัยวะของศูนย์รับบริจาคอวัยวะ สภากาชาดไทยประจำปี พ.ศ. 2564 จำนวนผู้รอรับอวัยวะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 3,515 คน ในปี พ.ศ. 2555 เป็น 5,817 คนในปี พ.ศ. 2564

 

ในขณะที่จำนวนเฉลี่ยของผู้ได้รับการปลูกถ่ายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถึงปี พ.ศ. 2564 ประมาณ 520 คนต่อปีหรือเฉลี่ยแล้วผู้ได้รับการปลูก ถ่ายมีเพียงประมาณร้อยละหนึ่งของ ผู้ต้องการทั้งหมด โดยอวัยวะที่มีผู้ต้องการมากที่สุดคือไต จากสถิติพอจะสรุปได้ว่า เราเผชิญกับสถานการณ์การขาดแคลนอวัยวะและมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะเลวร้ายลง 

 

 

เศรษฐศาสตร์และการแลกเปลี่ยนอวัยวะ

 

 

การบริจาคอวัยวะแบ่งอย่างกว้างได้สองลักษณะ หนึ่งคือ การบริจาคที่ผู้บริจาคยังมีชีวิตอยู่ (living donor) การบริจาคแบบนี้ทำได้กับอวัยวะเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ไต การบริจาคประเภทนี้ในบ้านเรา จำกัดผู้ให้และผู้รับไว้เพียงแค่สมาชิกในครอบครัวเช่น พ่อ-ลูก, พี่-น้อง เท่านั้น เพราะมีความเข้ากันได้ของอวัยวะสูงและไม่เสี่ยงต่อการ ซื้อขายอวัยวะ

ในขณะที่ในประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากสมาชิกในครอบครัวแล้วยังอนุญาตให้เพื่อนบริจาคให้กันได้ ตัวอย่างของผู้รับที่มีชื่อเสียงคือ Selena Gomez นักร้อง นักแสดงที่ได้รับบริจาคไตจากเพื่อนของเธอ

ถ้าไม่นับเรื่องการซื้อขายอวัยวะแล้ว ปัญหาสำคัญของการแลกเปลี่ยนอวัยวะ คือ อวัยวะของผู้ให้ และร่างกายของผู้รับไม่สามารถเข้ากันได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้ให้และผู้รับไม่ได้มาจากครอบครัวเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน Alvin Roth ได้เสนอวิธีการแลกเปลี่ยนอวัยวะ ความพิเศษของวิธีที่เขาเสนอคือ การการันตีว่าผู้รับทุกคนจะได้รับอวัยวะที่เข้ากันได้ไม่ตํ่ากว่าคู่เดิมของตนเช่น A เป็นผู้ต้องการอวัยวะและ B เป็นเพื่อนที่ยินดีบริจาคไตให้

สมมติว่า A และ B มีคะแนนความเข้ากันได้ของอวัยวะเท่ากับ 4 (ในทางการแพทย์ ความเข้ากันได้ของอวัยวะสามารถคิดเป็นตัวเลขได้) วิธีการของ Alvin Roth


การันตีว่าไตที่ A จะได้รับมีคะแนนสูงกว่าหรือเท่ากับ 4 และการันตีด้วยว่าผู้ป่วยที่ได้รับไตของ B ก็จะมีคะแนนความเข้ากันได้ไม่ตํ่ากว่าคู่เดิมของตน เนื่องจากวิธีการนี้การันตีการเข้ากันได้ของอวัยวะ ทำให้มีผู้ให้และผู้รับจำนวนมากสมัครใจเข้าร่วมแลกเปลี่ยน

ทำให้ปัจจุบันวิธีการนี้ถูกนำไปใช้จับคู่ระหว่างผู้ให้และผู้รับในประเทศสหรัฐอเมริกา และแนวคิดนี้เป็นหนึ่งในผลงานสำคัญที่ทำให้ Alvin Roth ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี พ.ศ. 2555

การบริจาคอวัยวะอีกลักษณะหนึ่งคือ การบริจาคเมื่อผู้บริจาคเสียชีวิตแล้ว (deceased donor) การบริจาคลักษณะนี้จะเกิดขึ้นเมื่อผู้บริจาคมีภาวะสมองตาย (brain death) ในทางการแพทย์และกฎหมายของไทย ถือว่าผู้ที่เข้าสู่ภาวะสมองตาย คือ ผู้ที่เสียชีวิตแล้ว แม้จะยังไม่หยุดหายใจก็ตาม

หากญาติยินยอม แพทย์สามารถนำอวัยวะออกจากร่างและส่งต่อให้ผู้อื่นได้ ฉะนั้น การบริจาคแบบนี้จะให้อวัยวะได้มากกว่าแบบแรก ศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทยให้ข้อมูลว่าหนึ่งร่างของผู้บริจาคสามารถต่อชีวิตให้ผู้อื่นได้มากถึงแปดราย

ในหลายประเทศรวมทั้งไทยใช้กติกาการจัดสรรอวัยวะแบบ ใครมาก่อนได้ก่อน กล่าวคือ ถ้าผู้ป่วยสองรายมีคะแนนความเข้ากันได้ของอวัยวะเท่ากัน คนที่รอนานกว่าจะได้รับการจัดสรร

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะความขาดแคลนอวัยวะทำให้บางประเทศ หันมาใช้กติกา การให้สิทธิพิเศษแก่ผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ กล่าวคือ ถ้าบุคคลลงทะเบียนเป็นผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ในยามที่เขาต้องการอวัยวะ เขาจะมีสิทธิได้รับการจัดสรรก่อน แม้ว่าระยะเวลาที่รอจะน้อยกว่าคนอื่นก็ตาม

การให้สิทธิพิเศษในลักษณะนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้มีผู้แสดงเจตจำนงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของจำนวนอวัยวะในที่สุด ตัวอย่างของประเทศที่ใช้กติกาสิทธิพิเศษได้แก่ อิสราเอล, สิงคโปร์, จีน โดยประเทศจีนอนุญาตให้สิทธิพิเศษสามารถส่งต่อเป็นมรดกให้แก่ลูกของผู้แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้อีกด้วย

ย้อนกลับมาที่สถานการณ์การขาดแคลนอวัยวะในประเทศไทย ศูนย์รับบริจาคอวัยวะมีมาตรการสร้างแรงจูงใจ ให้คนลงทะเบียนแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะเช่น การให้เข็มเชิดชูเกียรติ หรือการอำนวยความสะดวกให้ลงทะเบียนแสดงความจำนงผ่านเว็บไซต์ อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ขาดแคลนอวัยวะภายในประเทศเลวร้ายลงอาจจำเป็นต้องพิจารณามาตรการที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น