ความท้าทายและโอกาสของตลาดแรงงานไทยในอนาคต

01 ก.พ. 2566 | 06:37 น.

ความท้าทายและโอกาสของตลาดแรงงานไทยในอนาคต : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.วรมาศ ลิมป์ธีระกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,858 หน้า 5 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2566

ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งประเทศ ไทยได้เริ่มมีการผ่อนปรนมาตรการการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนมีมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การจ้างงานของไทยเริ่มฟื้นตัวได้ดีขึ้นในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการค้าและการบริการ

แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมสูงอายุ ตลอดจนความเจริญของเทคโนโลยี ได้ก่อเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานไทยหลายประการ ซึ่งวันนี้อยากจะชวนท่านผู้อ่านมาพิจารณา ถึงความท้าทายและโอกาสของตลาดแรงงานในอนาคตไปด้วยกัน

 

 

 

ความท้าทายของตลาดแรงงานในอนาคต

ความท้าทายประการแรก คือ การเข้าสู่สังคมสูงอายุ ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ถือได้ว่าเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ (Aged Society)

และจากรายงานการคาดการณ์ประชากรในประเทศไทย โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) พบว่า ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงยอด (Super-aged Society หรือ Hyper-aged Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราส่วนเท่ากับ หรือมากกว่าร้อยละ 28 ในอีกไม่ถึง 5 ปีข้างหน้านี้ (พ.ศ. 2568)

 

นอกจากนี้อัตราการเกิดของประชากรในประเทศก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 544,570 คน และอัตราการเจริญพันธุ์ต่อสตรี 1 คน ลดลงเหลือเพียง 1.33 เท่านั้น 

การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งส่งผลต่อโครงสร้างแรงงานไทยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 2 ประการได้แก่

(1) อัตราการขยายตัวของแรงงานลดลง เนื่องจากประชากรสูงอายุเริ่มมีความเสื่อมถอยสุขภาพ กายทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ประกอบกับอัตราการเกิดที่ลดตํ่าลงและอายุขัยของประชากรที่ยืนยาวขึ้น ส่งผลให้สัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมดลดลง

และ (2) ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ลดลง โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่ปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่มีอายุเกิน 50 ปี มีระดับการศึกษาตํ่า และไม่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง  และการปรับตัวเข้าสู่การเกษตรยุคใหม่เป็นไปได้ยาก

ความท้าทายประการถัดมา คือ ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยี ประกอบกับความจำเป็นในช่วงมี่มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ภาคธุรกิจได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และการบริการ

จากรายงานของ World Economic Forum (2020) พบว่า บทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้ประกอบการหันมาใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานมากขึ้น และการสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ มีอัตราช้ากว่าการสูญเสียงานอันเป็นผลมาจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้อายุการใช้งานของทักษะต่างๆ จะเริ่มสั้นลง โดยแรงงานอาจต้องมีการเพิ่มทักษะใหม่ๆ ทุก 6 เดือน แรงงานภาคการผลิตและงานที่ใช้ทักษะพื้นฐานอาจสูญเสียตำแหน่งงานมากถึง 12.14 ล้านตำแหน่ง ในอีก 10 ปีข้างหน้า

โดยกลุ่มงานที่มีแนวโน้มจะถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี ได้แก่ กลุ่มงานในภาคการค้าและบริการ ภาคการเกษตร และประมง เนื่องจากการใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันส่วนมากเอื้อต่อการทำงานจากระยะไกลของแรงงานที่มีทักษะสูง ทำให้แรงงานในกลุ่มนี้ค่อนข้างได้เปรียบแรงงานกลุ่มอื่นๆ ดังนั้น อบรมแรงงานและการสร้างงานตำแน่งใหม่ทดแทน จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในทุกภาคส่วน

 

 

ความท้าทายและโอกาสของตลาดแรงงานไทยในอนาคต

 

 

ความท้าทายประการที่ 3 ของการมีงานทำและการจ้างงานในประเทศไทย คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของหน่วยเศรษฐกิจในตลาด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อแรงงานในหลายภาคส่วน การหันไปใช้บริการ e-commerce ทำให้แรงงานภาคบริการประจำพื้นที่ เช่น พนักงานขาย พนักงานต้อนรับและแคชเชียร์ มีความจำเป็นลดลง รวมทั้งพนักงานประจำสาขาในภาคการเงิน

เนื่องจากลูกค้าหันไปใช้บริการผ่านทางอินเตอร์เน็ตและ Application รวมทั้งการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถดำเนินการต่างๆ เช่น จองตั๋ว ที่พักและร้านอาหารได้ด้วยตนเอง การประชุมตามสถานที่ต่างๆ ก็ได้เปลี่ยนไปเป็น การประชุมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ อีกทั้งสภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก อาจส่งผลให้อุปสงค์การใช้สถานที่ และบริการในธุรกิจโรงแรมและร้านอาหารมีแนวโน้มลดลงได้ในอนาคต

โอกาสของการจ้างงานในประเทศไทย

ถึงแม้ว่าการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อการจ้างงาน และการมีงานทำในประเทศไทย

แต่ปัจจัยดังกล่าวรวมทั้งนโยบายต่างๆ ของรัฐที่ออกมาเพื่อกระตุ้นความเจริญทางเศรษฐกิจก็ยังเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้แก่ตลาดแรงงานไทยหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจและอาชีพใหม่ ที่เกิดขึ้นเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป การเติบโตของเขต เขตเศรษฐกิจและการนำเข้าแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพื่อพัฒนาตลาดแรงงานและผลผลิตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการหันมาใช้บริการ e-service ได้สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับแรงงานไทยหลายประการ กลุ่มธุรกิจ logistic ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ การเข้าสู่สังคมสูงอายุเพิ่มอุปสงค์ในกลุ่มธุรกิจสุขภาพ การดูแลผู้สูงอายุและเด็กที่อยู่ในบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้แรงงานในกลุ่ม STEM(Science, Technology, Engineering and Mathematics) เช่นนักพัฒนาsoftware นักวิเคราะห์ข้อมูล นักวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับสุขภาพ ก็เป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น 

โดยปกติแล้ว เมื่อเผชิญการถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี แรงงานมักใช้วิธีการเปลี่ยนไปทำงานที่ใกล้เคียงกับทักษะเดิม ส่งผลให้แรงงานที่มีทักษะตํ่ากว่าถูกเลิกจ้าง ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญในการช่วยเหลือแรงงานให้พัฒนาทักษะให้สูงขึ้น เพื่อนำไปสู่อาชีพใหม่

โดยแรงงานในปัจจุบันควรมีทักษะการคิดวิเคราะห์ขั้นสูง การใช้ความคิดสร้างสรรค์ การเจรจา และ การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น การเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเป็นทัศนคติที่ควรปลูกฝังให้แก่แรงงานและเยาวชน เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว 

การที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ เช่น Eastern Economic Corridor (EEC)  รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการจ้างงานแรงงานต่างชาติที่มีทักษะระดับกลางและระดับสูง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมและสถานประกอบการ และเพิ่มประสิทธิภาพตลอดจนขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติตามนโยบายThailand 4.0

โดยเน้นไปที่กลุ่ม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่นสาขาการผลิต วิทยาศาสตร์ ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร เป็นโอกาสอันดีที่จะดึงการลงทุนจากต่างชาติ การถ่ายโอนความรู้ รวมทั้งเพิ่มการจ้างงานในประเทศไทยอีกเป็นจำนวนมาก 

อย่างไรก็ดี จากข้อมูล ณ เดือน ธันวาคม 2565 ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่เข้ามาตามข้อกำหนดของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเพียง 49,538 คน (ร้อยละ 1.65 ของแรงงานต่างด้าว) เท่านั้น ซึ่งสัดส่วนการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายอยู่ระหว่างร้อยละ 15-18

ในขณะที่ค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศอยู่ที่ร้อยละ 3-5 เนื่องจาก ร้อยละ 99 ของสถานประกอบการในไทยเป็น MSMEs และ SMEs ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายในการจ้างงานได้มากนัก ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วเช่นประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น มีสัดส่วนในการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูงถึงร้อยละ 30-50

จากนี้ไปในระดับประเทศเราคงต้องมาช่วยกันคิดว่า จะทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มผลผลิตของประเทศ ในขณะที่จำนวนแรงงานลดลง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานการศึกษาควรมีบทบาทในการวางหลักสูตร และแผนการอบรมทักษะแรงงานให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ทั้งนี้เพื่อให้โอกาสแรงงานไทยได้แสดงศักยภาพ และลดการพึ่งพาแรงงานและองค์ความรู้จากต่างประเทศ

สำหรับแรงงานปัจจุบันก็ต้องพัฒนาทักษะความรู้ของตนเองอยู่เสมอ เพื่อให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง สำหรับเยาวชนของชาติก็ต้องศึกษาหาความรู้ ซึ่งไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นเพียงด้านวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีเท่านั้น

แต่สิ่งสำคัญก็คือ ต้องฝึกฝนทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการสื่อสาร และพร้อมที่จะเรียนรู้อยู่เสมอ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นทุนมนุษย์ที่ลํ้าค่าของทุกระบบเศรษฐกิจ